Search This Blog / The Web ค้นหาบล็อค / เว็บ

Thursday, October 17, 2024

ประวัติการทอดกฐิน ตามพระพุทธบัญญัติ

ประวัติการทอดกฐิน ตามพระพุทธบัญญัติ





จัดทำโดย อ. สุชาติ ภูวรัตน์
นธ.เอกบาลีประโยค 1-2
(อดีตพระธรรมทูตต่างประเทศ)
B.S. Engineering Design Tech.
 B.A. ศาสนศาสตร์บัณฑิต
B.S. Computer Information Systems
B.TM.  พทย์แผนไทยบัณฑิต
สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ
บ.ภ.พท.ว.พท.ผ.พท.น.
ครูแพทย์แผนไทย 4 ด้าน
ศูนย์การแพทย์แผนไทยภูเก็ต
ทำเพื่อการศึกษาและประโยชน์แก่ผู้ชม

ประวัติความเป็นมาของผ้ากฐินในสมัยพุทธกาล
ในสมัยที่พระพุทธองค์ได้พักอยู่ที่มหาวิหารเชตวัน กรุงสาวัตถี แคว้นโกศล ได้มีพระภิกษุมาจากเมืองปาฐารัฐ  30 รูป ถือธุดงควัตรเคร่งครัดประสงค์จะเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ จึงพากันเดินทางมาถึงเมืองสาเกตก็เป็นวันเข้าพรรษาพอดี จึงต้องอยู่จำพรรษาที่เมืองสาเกต พอออกพรรษา ปวารณาแล้วก็เดินทางต่อด้วยเท้าจากเมืองสาเกตซึ่งห่างจากกรุงสาวัตถีประมาณ 100 กิโลเมตร เวลานั้นฝนยังตก ทางเดินเต็มไปด้วยน้ำโคลนตม ต้องลุยน้ำโคลนและตากแดดไปตลอดทาง ทำให้สบงจีวรเปียกน้ำฝนเปื่อย บางท่านจีวรขาดทะลุและเปื้อนโคลนตม เมื่อถึงกรุงสาวัตถีก็ได้เข้าเฝ้าพระพุทธองค์
เมื่อพระพุทธองค์ทรงเห็นความลำบากของพระภิกษุเหล่านั้น จึงเรียกประชุมสงฆ์กล่าวถึงพระภิกษุทั้ง 30 รูปเป็นเหตุ จึงทรงมีพุทธานุญาตให้พระภิกษุที่จำพรรษา ครบ 3 เดือนให้รับผ้ากฐินเสียก่อน ทั้งนี้เพราะว่าแม้ออกพรรษาแล้วก็ตามฝนก็ยังตกอยู่ ถ้าไม่จำเป็นก็ให้อยู่รับผ้ากฐินเสียก่อนแล้วจึงเดินทางไปที่อื่น แล้วทรงกำหนดเวลารับผ้ากฐินตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 ประมาณ 1 เดือนหลังออกพรรษา
ความจริงเรื่องผ้ากฐินนั้นเป็นเรื่องของพระภิกษุสงฆ์ทำผ้าจีวร เมื่อพระภิกษุได้ผ้ามาจากที่ต่าง ๆ นำมารวมเย็บให้เป็นผืนเดียวแล้วตกลงกันว่าจะมอบจีวรนี้ให้แก่พระภิกษุรูปใด ในสมัยพุทธกาลนั้นผ้าส่วนใหญ่เป็นผ้าบังสุกุลหรือผ้าที่ได้จากผ้าห่อศพ ผ้าจึงมีจำนวนไม่มาก จะทำเป็นจีวรจึงทำได้เพียงผืนเดียว และจะมอบผ้าที่ทำเป็นจีวรนั้น ให้แก่พระภิกษุที่มีผ้าเก่าที่สุดนำไปใช้นุ่งห่ม
ในพระธรรมบทกล่าวว่าในสมัยพุทธกาลมีการประชุมใหญ่ในการทำผ้าจีวร เมื่อพระอนุรุทธะได้ผ้าบังสุกุลมา จะทำจีวรเปลี่ยนผ้าห่มผืนเก่า พระพุทธองค์ทรงทราบพร้อมด้วยพระภิกษุ 500 รูป เสด็จไปเป็นประธานในวันนั้นมีพระมหาสาวก 80 รูปร่วมประชุมช่วยทำผ้ากฐิน พระมหากัสสปะนั่งอยู่ต้นผ้า พระสารีบุตรนั่งอยู่กลางผ้า พระอานนท์นั่งอยู่ปลายผ้า พระภิกษุสงฆ์ช่วยกันกรอด้ายสำหรับเย็บ พระพุทธองค์ทรงสนเข็ม พระโมคคัลลานะ เป็นผู้ช่วยทำกิจการ ชาวบ้านนำสิ่งของไปถวาย เมื่อผ้าจีวรทำเสร็จแล้ว จึงมีการประชุมสงฆ์ทำสังฆกรรมเกี่ยวกับผ้ากฐิน
ในสมัยพุทธกาล มีผู้ศรัทธานำผ้ากฐินมาถวายแต่ไม่ปรากฏนามผู้ถวายผ้ากฐินเป็นคนแรกที่พระพุทธองค์ทรงมีพระพุทธานุญาต
คำว่า กฐิน หรือ กฐินะ เป็นภาษาบาลี จัดเป็นสังฆกรรมอย่างหนึ่ง โดยมีไม้ใช้เป็นอุปกรณ์สำหรับขึงผ้าเป็นสี่เหลี่ยม เพื่อขึงผ้าให้ตึง สำหรับเย็บทำเป็นจีวร ในสมัยโบราณยังไม่มีเครื่องจักรทอผ้า จึงเรียกไม้นี้ว่า ไม้สะดึง ที่กางออกไปเพื่อขึงเย็บจีวร การกรานกฐิน หมายถึงการกางไม้สะดึงนั้น และคำว่า กฐิน  เป็นชื่อของกรอบไม้สำหรับทำจีวร ซึ่งอาจเรียกว่าไม้สะดึงก็ได้ เนื่องจากในครั้งพุทธกาลการทำจีวรให้มีรูปตามที่กำหนดกระทำได้ยาก จึงต้องทำกรอบไม้สำเร็จรูปไว้ เพื่อเป็นอุปกรณ์สำคัญในการทำเป็นผ้านุ่ง (สบง) หรือผ้าห่ม (จีวร) หรือผ้าห่มซ้อนทับ (สังฆาฏิ) รวมเรียกว่า ไตรจีวร (ผ้า 3 ผืน)
การทำผ้านุ่งห่มโดยอาศัยแบบกรอบไม้สะดึง แล้วตัดเย็บย้อมทำให้เสร็จในวันนั้น ด้วยความสามัคคีของสงฆ์รวมกันทำกิจกรรม เมื่อทำเสร็จ หรือพ้นกำหนดกาลแล้ว แม่แบบกรอบไม้สะดึงหรือกฐินนั้นก็รื้อไม้แบบ (กฐินเดาะ) เก็บไว้ใช้ทำผ้านุ่งห่มในปีต่อไป

ผ้าที่ใช้ทำผ้ากฐินมี 5 ชนิด คือ
1.      ผ้าใหม่
2.      ผ้ากลางใหม่
3.      ผ้าเก่า
4.      ผ้าบังสุกุล
5.      ผ้าตกหล่นจากร้าน

คุณสมบัติของพระภิกษุผู้กรานกฐินมี 8 ประการ คือ
1.      รู้จักบุพพกรณ์ 7 คือ
1)     ซักผ้า   2) กะผ้า    3) ตัดผ้า  4) เนาหรือด้นผ้าที่ตัดแล้ว  5) เย็บเป็นจีวร
         6) ย้อมจีวรที่เย็บแล้ว  7) ทำกัปปะ คือ พินทุ (หรือเครื่องหมายบนผ้า)
2.       รู้จักถอนไตรจีวร  วิธีถอนไตรจีวร (ธรรมเนียมโบราณ) ท่านให้ยกผ้าเก่าทับผ้าใหม่ แล้วกล่าวคำถอนว่า
        “
อิมํ สงฺฆาฏิ ปจฺจุทธรามิ,
         
อิมํ อุตฺตราสงฺคํ ปจฺจุทธรามิ,
         
อิมํ อนฺตรวาสกํ ปจฺจุทธรามิ.
(จะถอนผืนใด พึงกล่าวแต่ผืนนั้นโดยเฉพาะ)

การทำวินัยผ้า การพินทุผ้า
https://www.youtube.com/watch?v=wUEGKFbDaYM

3.รู้จักอธิษฐานไตรจีวร การอธิษฐานผ้าใหม่ (ธรรมเนียมโบราณ) ท่านให้ยกผ้าใหม่ทับผ้าเก่า แล้วกล่าวคำอธิษฐานว่า
        “ อิมํ สงฺฆาฏิ อธิฏฐามิ,
          อิมํ อุตฺตราสงฺคํ อธิฏฐามิ,
          อิมํ อนฺตรวาสกํ อธิฏฐามิ.
(จะอธิษฐานผืนใด พึงกล่าวแต่ผืนนั้นโดยเฉพาะ)
4.      รู้จักการกราน
5.      รู้จักมาติกา คือ รู้จักการเดาะกฐิน มี 8 คือ ไม้สะดึง หรือ แม่แบบหรือกฐินนั้น
     รื้อเก็บไว้ใช้ทำผ้านุ่งห่มในปีต่อไป
1)      เดาะกฐินด้วยการหลีกไปไม่คิดจะกลับมาอีก
2)      เดาะกฐินด้วยทำจีวรเสร็จแล้ว
3)      เดาะกฐินด้วยสันนิษฐานว่าจะไม่ทำผ้าจีวร
4)      เดาะกฐินด้วยผ้าหายหรือเสีย
5)     เดาะกฐินด้วยได้ยินข่าวว่าเลิกอานิสงส์กฐิน
6)        เดาะกฐินด้วยสิ้นหวังจากการได้ผ้า
7)      เดาะกฐินด้วยล่วงพ้นเขตเวลารับกฐืน
8)      เดาะกฐินด้วยพร้อมภิกษุทั้งหลาย
6.      รู้จักปลิโพธกังวล 2 อย่าง
1)      อาวาสปลิโพธ คือ ยังมีความกังวลอาลัยผูกใจจะอยู่ในอาวาสนั้น
2)      จีวรปลิโพธ คือ ยังมีความกังวลอาลัยผูกใจจะทำจีวรนั้น
7.      รู้จักการเดาะกฐิน (ต้องตัดปลิโพธขาดทั้ง 2 อย่าง จึงเดาะกฐิน)
8.      รู้จักอานิสงส์ของพระภิกษุเมื่อได้กรานกฐินแล้วมี 5 คือ
1)      เที่ยวไปไม่ต้องบอกลาตามสิกขาบทที่ 6 แห่งอเจลวรรค ปาจิตติยภัณฑ์
2)      จาริกไปไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับ
3)      ฉันคณะโภชน์ได้ (นั่งล้อมวงฉันได้)
4)      เก็บอติเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา
5)      จีวรเกิดขึ้นในที่นั้น เป็นของได้แก่พวกเธอ (ทั้งยังได้โอกาสขยายเขตจีวรกาลไปอีก 4 เดือน)
การถวายผ้ากฐิน
การถวายผ้ากฐิน ซึ่งหัวใจของกฐิน คือ ผ้า 3 ผืน คือ จีวร สบง สังฆาฏิ ผืนใดผืนหนึ่งในไตรจีวร ถ้ามากกว่านั้นเป็นอดิเรกจีวร หรือผ้าส่วนเกินเท่านั้น การถวายผ้ากฐินเป็นการนำผ้ามาถวายแก่พระสงฆ์ในเขตที่กำหนดไว้เท่านั้นเลยเวลาไปไม่ได้ ส่วนวัดที่จะรับกฐินได้จะต้องมีพระสงฆ์อยู่จำพรรษาจำนวน 5 รูป หรือ 5 รูปขึ้นไปครบองค์สงฆ์ จึงจะเป็นกฐินและจะต้องรับกฐินที่อาวาสของตัวเองเท่านั้นจึงจะถูกต้อง พระรูปเดียวที่จำพรรษาอยู่ในอาวาสหนึ่งอาวาสใด ถ้ารับกฐินก็จะเรียกว่ารับกฐินไม่ได้ เพราะว่าไม่ครบองค์สงฆ์ หรือมีการทอดกฐินกันจำนวนร้อยวัดแต่กลับไปถวายอยู่วัดเดียวโดยให้พระสงฆ์ที่จำพรรษาวัดอื่นมารับที่วัดนั้นอันมิใช่อาวาส ที่จำพรรษาของตัวเองยิ่งผิด ผ้า เป็นนิสัคคีย์ พระสงฆ์ที่ใช้ผ้าเป็นอาบัติปาจิตตีย์ อานิสงส์กฐินจึงไม่ขึ้นเป็นแต่เพียงผ้าป่า และก็ผิดพุทธานุญาต ผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งจะอ้างว่าเป็นประเทศปลายแดนไม่ได้ ก็ควรจะถวายเป็นผ้าป่าไปก็ไม่ได้เสียหายอะไร เพียงแต่ทำให้ถูกต้องตามพุทธประสงค์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงบัญญัติไว้ ก็ถือว่าเป็นบุญบริสุทธิ์
อีกคำหนึ่งที่จะได้ยินในขณะที่มีพิธีการทอดกฐินคือคำว่า อปโลกน์กฐิน หมายถึงการที่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เสนอขึ้นในที่ประชุมสงฆ์ถามความเห็นชอบว่าควรมีการกรานกฐินหรือไม่ เมื่อเห็นชอบร่วมกันแล้วจึงหารือกันต่อไปว่า ผ้าที่ทำสำเร็จแล้วควรถวายแก่ภิกษุรูปใด การปรึกษาหารือ การเสนอความเห็นเช่นนี้เรียกว่า อปโลกน์(อ่านว่า อะ-ปะ-โหลก) หมายถึง การช่วยกันมองดูว่าจะสมควรอย่างไร เพียงเท่านี้ก็ยังใช้ไม่ได้ เมื่ออปโลกน์เสร็จแล้ว ต้องสวดประกาศเป็นการสงฆ์ จึงนับว่าเป็นสังฆกรรมเรื่องกฐิน ดังกล่าวไว้แล้วในตอนต้น