Search This Blog / The Web ค้นหาบล็อค / เว็บ

Tuesday, December 30, 2014

พระอริยสัจธรรม 4 ทางปฏิบัติเพื่อดับความทุกข์ (อ่านแล้วเข้าใจง่าย) รวบรวมเขียนโดย อ. สุชาติ ภูวรัตน์

พระอริยสัจธรรม 4 
ทางปฏิบัติเพื่อดับความทุกข์  
(อ่านแล้วเข้าใจง่าย) 




จัดทำโดย อ.สุชาติ ภูวรัตน์
นธ.เอกบาลีประโยค 1-2
(อดีตพระธรรมทูตต่างประเทศ)
B.S. Engineering Design Tech.
 B.A. ศาสนศาสตร์บัณฑิต
B.S. Computer Information Systems
B.TM.  พทย์แผนไทยบัณฑิต
สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ
บ.ภ.พท.ว.พท.ผ.พท.น.
ครูแพทย์แผนไทย 4 ด้าน
ศูนย์การแพทย์แผนไทยภูเก็ต

ทำเพื่อการศึกษาและประโยชน์แก่ผู้ชม

อริยสัจ 4  มีดังนี้
      1. ความทุกข์ (ทนได้ยาก)     
      2. สมุทัย (สาเหตุที่ทำให้เกิดความทุกข์)
     3. นิโรธ (การดับความทุกข์)
     4.  มรรค 8 (ทางสายกลาง 8 ประการ ที่ไม่ทำให้เกิดความทุกข์)

อริยสัจ 4 คือคำสอนของพระพุทธเจ้าที่พระองค์ได้ตรัสรู้ และรวบรวมไว้เพื่อจะได้นำพระสัจธรรมเผยแพร่สู่มหาชนต่อไป เพื่อจุดประสงค์อันยิ่งใหญ่คือช่วยให้ผู้ที่ได้รับพระสัจธรรมเข้าใจถูกต้องและปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ๆ คือปัญหาอันยิ่งใหญ่ที่ทำให้สัตว์โลกต้องตกระกำลำบากเวียนว่ายตายเกิดนับชาติไม่ถ้วน เพราะหลงติดกับบ่วงมาร มีกิเลส 3 ตัณหา 3 ราคะ 3 เป็นต้น

  1.  ความทุกข์ หรือปัญหาชีวิตความเป็นอยู่ เมื่อกำเนิดขึ้นแล้ว (ตกฟาก) ออกจากครรภ์มารดา ก็ต้องมีสิ่งที่ตามมา เช่น มีร่างกายปกติ มีร่างกายพิการ ตาบอด หูหนวก มือเท้าด้วน บ้างก็เป็นแฝดติดกัน บ้างก็หัวโต ท้องโต ร่างกายไม่สมประกอบ บ้างก็อ้วน ผอม สูง เตี้ย เกินไป เป็นต้น แม้มีร่างกายสมบูรณ์ ก็มีผิวสีต่างกัน บ้างก็มีรูปหล่อ สวยงาม บ้างก็มีรูปไม่หล่อ ไม่สวยงาม มีฐานะ จนบ้าง รวยบ้าง มียศบ้าง ไม่มียศบ้าง ทำอาชีพต่างๆ นานา  เป็นเพราะผลของกรรมที่ทำไว้ในอดีตชาติ เช่น ไม่รักษาศีล 5 ให้ครบเป็นต้น  จึงส่งผลมาเกิดเพื่อรับผลของกรรมที่ได้ทำไว้ในชาติก่อนๆ

เมื่อมีร่างกายและจิตใจ ก็ดำเนินชีวิตไป และทำกรรมใหม่อีก ร่างกายที่เป็นวัตถุธาตุ (อาการ 32) มีส่วนประกอบ เช่นผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า น้ำดี น้ำเสลด น้ำเหลือง น้ำเลือด น้ำเหงื่อ น้ำมันข้น น้ำมันเหลว น้ำตา น้ำลาย น้ำมูก น้ำไขข้อ น้ำมูตร เป็นต้น ก็เจริญเติบโตขึ้น และเสื่อมไปทุกวัน เพราะอายุมากขึ้น หรือแก่ขึ้นทุกวัน ทุกเดือน ทุกปี สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง ไม่คงทนถาวร  เหมือนรถยนต์ เก่าๆ ค่อยๆ เป็นสนิม ผุพังไป ตามกาลเวลา

เมื่อความแก่เข้าครอบงำร่างกายก็มักมีอาการเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ บ้างก็มีโรคกรรมพันธุ์ บ้างก็รับเชื้อโรคใหม่มา บ้างก็เจ็บป่วยตามธรรมชาติ ร่างกายนั้นเป็นรังของโรค มีดังนี้ เช่น โรคในตา โรคในหู โรคในจมูก โรคในลิ้น โรคในร่างกาย โรคในศีรษะ โรคในปากในคอ คอพอก โรคที่ฟัน รำมะนาด ไอ หืด หวัด ไข้พิษ ไข้กาฬ ไข้หัด สุก ใส เริม งูสวัด ไฟลามทุ่ง ไข้เลือดออก ไข้จับสั่นมาลาเรีย ไข้ทับระดูๆทับไข้ โรคเกี่ยวกับมดลูก และระดู ไข้สามฤดู ไข้กำเดา ไข้หวัดต่างๆ  ไข้เชื่อมมัว เป็นต้น โรคในท้องๆมาน ในกระเพาะ แผลในกระเพาะ ในลำไส้ โรคมะเร็งต่างๆ เช่น มะเร็งปอด มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม เป็นต้น เนื้องอก โรคเรื้อน กุฏฐังต่างๆ โรคลมจับ (หน้ามืด สลบ อ่อนหวิว สวิงสวาย) ลมบ้าหมู เป็นต้น โรคปอด โรคหัวใจ โรคม้าม โรคตับ โรคไส้ติ่งอักเสบ โรคปัสสาวะพิการ มี หนองใน เป็นต้น โรคตาน ซาง โรคบิด (ลงท้อง) โรคป่วง โรคลงราก จุกเสียด (ปวดท้อง) แน่นหน้าอก โรคหิดเปื่อย หิดด้าน คุดทะราด คุดทะราดบอน หูด ละลอก  กลากเกลื้อน สะเก็ดเงิน มองคร่อ อาเจียนโลหิต โรคดีพิการ โรคกษัยต่างๆ โรคไต โรคนิ่ว โรคเบาหวาน ความดันโลหิตไม่ปกติ โรคอ้วน โรคไขมันในเส้นเลือด โรคริดสีดวงต่างๆ เช่น ริดสีดวงทวาร ริดสีดวงจมูก ริดสีดวงลำไส้ เป็นต้น โรคแผลพุพอง บวม โรคเอดส์ โรคภูมิแพ้ และโรคอื่นๆ อีกมากมาย เป็นต้น บ้างก็เกิดอุบัติเหตุ บาดเจ็บ พิการ จำนวนมากมายทุกปี

จึงเห็นได้ชัดเจนว่า ร่างกายเป็นรังของโรคสารพัดโรค ที่ทำให้มีความทุกข์ทรมานด้วยโรคาพยาธิ เหล่านั้น เพราะความเกิดๆ มาแล้วก็ต้องแก่ๆ แล้วก็ต้องมีความเจ็บป่วยๆ นานๆ เข้า ก็เป็นโรคเรื้อรังรักษาไม่หายๆ ก็ต้องตายและทิ้งร่างกายไป

เมื่อตายแล้วก็เอาอะไรไปไม่ได้ นอกจากผลของบุญและบาปที่ทำไว้แต่ละชาติ ทรัพย์สมบัติบริวารภรรยาสามีลูกหลาน ลูกจ้าง ยศถาบรรดาศักดิ์ สิ่งที่รักหวงแหน สิ่งบำรุงรักษาด้วยราคาแพงๆ แม้แต่เส้นผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ก็เอาไปไม่ได้ ตายแล้วก็ต้องเน่าเหม็นเปื่อยสลายกลายเป็นดินทับถมทิ้งไว้ให้คนดูเป็นอุทาหรณ์   

  2. สาเหตุให้เกิดความทุกข์ ท่านว่าเพราะความอยากไปเกิดเป็นโน่นเป็นนี่สารพัด เช่น ตั้งแต่กษัตริย์ ทหาร ตำรวจ นักบวช พ่อค้า ดารา นักร้อง นักแสดง นักเขียน นักข่าว ครู แพทย์ พยาบาล หมอนวด สถาปนิก จิตรกร วิศวกร นักวิชาการ ทนายความ ช่างต่างๆ กรรมกร  เกษตรกร ภารโรง โจร ผู้ร้าย และสัตว์ต่างๆ เป็นต้น บ้างก็อยากไปเกิดเป็นเทวดา รูปพรหม อรูปพรหม ตามภพภูมิต่างๆเป็นต้น

ท่านว่าเหตุให้เกิดความทุกข์เพราะความไม่อยาก เพราะเมื่อได้เกิดเป็นโน่นเป็นนี่แล้ว ก็มีความทุกข์อีกนั้นแหละ เพราะเกิดเป็นอะไรก็ตาม มันก็ต้องมีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปเป็นธรรมดา จะเป็น สัตว์ คน มนุษย์ เทวดา พรหม เมื่อหมดบุญก็ต้องกลับไปเกิดใหม่ เพื่อชดใช้กรรมเก่า เมื่อเกิดแล้วก็ต้องกลับมาใช้กรรมอีกก็ทำให้ไม่อยากไปเกิด ก็ทำให้มีความทุกข์ใจอีกนั้นแหละ เพราะยังไม่หมดเวรกรรม

บ้างก็ไปเกิดเป็นสัตว์ สัตว์นรก เปรต อสุรกาย เพราะผลของกรรมที่ทำไว้ แม้ว่าไม่อยากไปเกิดต้องเกิดเพื่อชดใช้ผลกรรมที่ทำไว้

ท่านว่าเหตุให้เกิดความทุกข์เพราะความอยากในกามคุณทั้ง 5 มีรูปสวยๆหล่อๆ   รสอร่อยๆ กลิ่นหอมๆ เสียงไพเราะอ่อนหวานๆ กายสัมผัสนิ่มนวลอบอุ่น ทำให้ลุ่มหลงในโลกีย์สุข  ก็ต้องกลับมาเกิดมีสามีภรรยา สร้างครอบครัวมีลูกมีหลาน

มีภาระรับผิดชอบสร้างสมบัติให้ลูกหลาน กว่าลูกจะโต ส่งลูกเรียนจนจบปริญญาตรี โท เอก สร้างเรือนหอ ซื้อรถเก๋ง หางาน หาสามีภรรยา ให้ลูก พอมีหลานก็เลี้ยงหลานอีก จนเฒ่าแก่ชรา ไม่ได้ศึกษาภาวนาหาทางยุติการเวียนว่ายตายเกิด

3. การดับความทุกข์ ท่านว่า ความทุกข์เกิดที่ใด ก็ต้องดับเหตุที่ทำให้เกิดความทุกข์ที่นั่น สาเหตุที่ทำให้เกิดความทุกข์ มี ตัณหา 3 กิเลส 3 ราคะ 3 อุปาทานขันธ์ 5
เป็นต้น การดับความทุกข์ ต้องใช้ธรรมะ ศีล สมาธิ สติ ปัญญา ละกิเลส ตัณหา ราคะ อุปาทานขันธ์ 5 สังโยชน์ 10 เป็นต้น ดับความทุกข์ ก่อนตายจากโลกนี้
(สำหรับท่านที่ได้สมาธิย่อมได้เปรียบในการเข้านิโรธสมาบัติ ดับความทุกข์ได้)

    4. มรรค
    (ทางสายกลาง 8 ประการ 
ที่ไม่ทำให้เกิดความทุกข์)
แนวทางปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ ของผู้บริสุทธิ์
ที่มีความสงบสันติสุข 8 ประการ มีดังต่อไปนี้

1). สัมมาทิฐิ (Right Understanding)

ความเข้าใจที่ถูกต้อง คือมีปัญญา 
รู้ว่าเกิดมาก็เป็นทุกข์ (ทนได้ยาก) 
แก่ก็เป็นทุกข์ 
เจ็บป่วยก็เป็นทุกข์ 
ตายก็เป็นทุกข์ 
โศกเศร้าเสียใจ ที่ต้องจากโลกนี้ไป 
บางคนยังไม่ถึงวัยอันควร บางคนเกิดอุบัติเหตุ 
อุบัติภัย ยังไม่ถึงเวลาตายก็ต้องตาย 
จิตวิญญาณต้องร่อนเร่พเนจร 
ได้รับทุกข์เวทนามาก 
จะติดต่อขอความช่วยเหลือจากญาติพี่น้อง 
เพื่อนฝูงก็ลำบาก คนที่ตายไปแล้ว 
เขาก็เรียกว่าผี คนที่เคยรักเคยชอบก็กลัว 
น่าเวทนาสงสารมาก 

มีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า 
สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ 
เพราะความอยากไปเกิดในที่ๆ ตนพอใจ 
อยากเป็นในสิ่งที่ตนพอใจ อยากได้อยากมี
ในสิ่งที่ตนพอใจ หรือไม่พอใจในที่ๆตนไปเกิด 
ไม่พอใจในสิ่งที่ตนเป็นอยู่ 
ไม่พอใจในสิ่งที่ตนไม่อยากได้ ไม่อยากเป็น 
ไม่อยากมี และมีความพอใจในกามารมณ์ 
ทีรูป รส กลิ่น เสียง และการสัมผัสทางกาย 
เป็นต้น ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์

มีความเข้าใจถูกต้อง 
เรื่องผลของกรรม (การกระทำ) 
ว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้บาป 
ต้องรับผลของกรรมทั้งชาตินี้ และชาติหน้า 
มีความเข้าใจว่าการชดใช้กรรมบาป
ในโลกนี้มีคุก ตะราง เป็นต้น 
การรับผลของกรรมชั่วในโลกหน้า ในนรก 
เป็นเปรต อสุรกาย เป็นต้น 
การรับผลของกรรมดี มี สวรรค์ 
พรหมโลก เป็นต้น เมื่อหมดบุญแล้ว 
ก็ต้องมาเกิดเพื่อชดใช้กรรมเก่า 
สร้างกรรมใหม่ ตราบใด 
ยังไม่หมดเวร (ผลัดกันทำ) และหมดกรรม 
มีความเชื่อว่าเวรกรรมมีจริง

มีความเข้าใจถูกต้องว่า พระพุทธเจ้าผู้บริสุทธิ์
ไม่กลับมาเกิดแล้วมีจริง 
พระธรรมคือคำสอนของพระพุทธเจ้า
สามารถนำไปปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ทั้งปวง
ได้จริง พระนิพพานมีจริง 
และมีผู้ปฏิบัติตามคำสอนพระพุทธเจ้า
ทั้งในอดีตและปัจจุบันเป็นผู้บริสุทธิ์
ไม่กลับมาเกิดแล้วเป็นจำนวนมากมีจริง 

มีความเข้าใจถูกต้องว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง
ที่เกิดขึ้นแล้วในโลก ย่อมมีความเสื่อม 
ไม่คงทนถาวร และสลายไปในที่สุด
เป็นธรรมดา ร่างกายก็เป็นเช่นนั้น 
ไม่มีใครเป็นเจ้าของตลอดกาล 
แม้แต่ตำสอนของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน 
ก็มีอายุ 5 พันปี พระอาทิตย์ โลก พระจันทร์ 
ก็แตกดับได้เมื่อถึงกาลเวลา

มีความเข้าใจถูกต้องว่า กิเลส ตัณหา ราคะ 
เปรียบเสมือนไฟที่เผาผลาญจิตใจ
ให้เป็นทุกข์อยู่เสมอ การรักษาศีล 
มีความตั้งใจมั่น มีสติปัญญา กำจัด กิเลส 
ตัณหา ราคะ ย่อมถึงความดับทุกข์ได้แน่นอน

มีความเข้าใจถูกต้องว่า การมีตัวตน 
การเป็นเจ้าของ หวงแหน อิจฉา ริษยา 
การเป็นศัตรู การโกง ทำผิดกฎหมาย ศีลธรรม 
ประเพณีอันดี เป็นต้น ย่อมนำความทุกข์มาให้

มีความเข้าใจถูกต้องว่า 
การไม่ทำบาปทั้งปวง 
การทำกุศลให้ถึงพร้อม 
และการทำจิตของตนให้ผ่องใส 
เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย 
เพื่อดำเนินชีวิตอย่างปกติสุข และมีพระนิพพาน 
(มีความสุขอย่างยิ่ง และไม่กลับมาเกิดอีก )
เป็นที่หมายก่อนตายจากโลกนี้ไป 

สำหรับผู้ที่มีตาใน (ตาทิพย์) สามารถมองเห็น
จิตใจของตนเองได้ ว่าผ่องใส หรือมีสีต่างๆ 
เพราะ กิเลส ตัณหา ราคะ เข้ามาสู่จิตใจ
ของตน ย่อมได้เปรียบกว่าผู้ที่ไม่มี 
ทำให้ขจัดสาเหตุแห่งทุกข์ออกไปได้เสมอ
สามารถทำสมาธิเข้านิโรธ 
สู่การดับทุกข์ได้ด้วยตนเอง
 
มีความเข้าใจถูกต้องว่า แนวทางปฏิบัติเพื่อ
ความพ้นทุกข์ 8 ประการ ของพระพุทธเจ้า
ผู้บริสุทธิ์ เมื่อปฏิบัติตามแล้วทำให้มีความสงบ
สันติสุข ย่อมไม่กลับมาเกิดอีก

2). สัมมาสังกัปโป (Right Thought)

ความคิดที่ถูกต้อง
คือความคิดที่ดีและมีปัญญาในการดำเนิน
ชีวิตสู่ความพ้นทุกข์อย่างถาวร เช่น คิดละ
กิเลส ตัณหา ราคะ คิดบวช 
คิดละสังโยชน์ 10 ประการ
คือเครื่องร้อยรัดผูกมัดให้ติดข้องกับโลก 
และเวียนว่ายตายเกิด 
คิดสลัดออกซึ่งกามราคะ
ติดปฏิบัติธรรม สมถะวิปัสสนากรรมฐาน
เป็นอารมณ์เพื่อความพ้นทุกข์ทั้งปวง
            
คิดทำความดีทั้งปวง 
คิดละเว้นการทำบาปทั้งปวง 
และทำจิตของตนให้ผ่องใสอยู่เสมอ เป็นต้น

3). สัมมาวาจา (Right Speech)

การพูดที่ถูกต้อง ได้แก่ 
-ไม่พูดเท็จ ไม่พูดปด โกหก หลอกลวง 
เอาแต่ได้ แต่เป็นโทษเป็นภัยต่อผู้อื่น
และตนเอง เป็นต้น 
-ไม่พูดส่อเสียด คือไม่พูดยุยงให้ทะเลาะกัน 
และให้แตกสามัคคี ใส่ร้ายป้ายสี 
ไม่พูดแหน็บแนม เป็นต้น 
-ไม่พูดเพ้อเจ้อ คือพูดวกวนไปมาไร้สาระ 
งมงาย จับความไม่ได้ แบบน้ำท่วมทุ่ง
ผักบุ้งโหรงเหรง เป็นต้น 
-ไม่พูดหรือด่าด้วยคำหยาบคาย 
เหยียดหยาม ไม่พูดจาก้าวร้าว โอหัง เป็นต้น

4). สัมมากัมมันโต 
(Right Behavior or Action)

การกระทำที่ถูกต้อง ไม่เบียดเบียน ไม่เป็นโทษ 
ไม่เป็นภัยแก่ผู้อื่นและตนเอง ได้แก่
-ไม่ฆ่า ไม่กักขังทรมาน ทำร้ายผู้อื่น ไม่ขับรถฯ 
ด้วยความประมาททำให้ผู้อื่นบาดเจ็บ
และตาย เป็นต้น 

-ไม่ลัก ไม่ขโมย ไม่คดโกง ไม่ปล้น
ไม่แย่งฉกชิงวิ่งราว ยักยอกทรัพย์สมบัติผู้อื่น 
ไม่เรียกหรือรับส่วย ไม่คอรัปชั่น 
ไม่โกงภาษี เป็นต้น

-ไม่ประพฤติผิดประเวณี ผิดลูก เมีย สามีผู้อื่น 
ไม่เป็นนายหน้าค้าประเวณี เป็นต้น
-ไม่ดื่มเหล้า เมาสุรา เบียร์ ไม่สูบบุหรี่ 
ยาเสพติดให้โทษทุกชนิด เป็นต้น
-ไม่เล่นการพนัน ไม่เล่นหวย ไม่รีดไถ 
ไม่มอมเมาผู้อื่น ไม่ข่มขู่
เรียกเก็บดอกเบี้ย เป็นต้น

-ไม่ทำผิดศีลธรรม กฎหมาย ประเพณี 
ไม่ออกกฎหมายเพื่อประโยชน์ตนเอง
และพรรคพวก แต่ทำให้ ผู้อื่นเดือดร้อน 
ผิดหลักมนุษยธรรม  เป็นต้น

5). สัมมาอาชีโว (Right Livelihood )

การเลี้ยงชีวิตถูกต้อง คือประกอบอาชีพที่ถูก
ต้องตามศีลธรรมและกฎหมาย 
ไม่เบียดเบียนผู้อื่นได้แก่

-ไม่ผลิตอาวุธ ไม่ผลิตยาพิษ ไม่ผลิตเหล้าสุรา 
เบียร์ บุหรี่ ไม่ผลิตยาเสพติด
ให้โทษทุกชนิด เป็นต้น

-ไม่เลี้ยงคนเพื่อขายหรือค้าทาส 
ไม่เลี้ยงสัตว์เพื่อขายหรือจับสัตว์ขาย 
ไม่กักขังทรมานสัตว์ เป็นต้น

-ไม่ค้าคน ไม่ค้าประเวณี ไม่ค้าสัตว์ ไม่ค้าอาวุธ 
ไม่ค้ายาพิษ ไม่ขายบุหรี่ ไม่ขายเหล้าสุรา 
ไม่ขายเบียร์ ของมึนเมา  เป็นต้น

ไม่ขายยาเสพติดให้โทษทุกชนิด 
ไม่ออกเงินให้กู้เรียกเก็บดอกเบี้ย 
ไม่เก็บหัวคิวเป็นเสือนอนกิน เป็นต้น

-ไม่เปิดบ่อนเล่นการพนัน ไม่ซื้อขายหวย 
ไม่เปิดซ่องโสเภณี ไม่ซื้อขายของเถื่อน 
ไม่รับซื้อของโจร  เป็นต้น

-พระภิกษุ ภิกษุณี สามเณร สามเณรี แม่ชี 
ผ้าขาว นักบวช บิณฑบาตเลี้ยงชีพได้ 
ไม่เกิน 3 บาตร 

ตามพระพุทธอนุญาตไว้ คือเพื่อเลี้ยง
บิดา 1 บาตร เลี้ยงมารดา 1 บาตร  
เพราะไม่ได้มีอาชีพทำการงานเลี้ยงชีพ
เหมือนบุคคลอื่นๆ เป็นต้น

6). สัมมาวายาโม (Right Effort )

ความพยายามที่ถูกต้อง คือ
-พยายามทำความดีทั้งปวง
-พยายามละเว้นความชั่วทั้งปวง
-พยายามรักษาความดีที่ได้ทำสั่งสมไว้
-พยายามเลิกความชั่วที่เคยทำสั่งสมไว้
-พยายามทำความเพียร
ในสมถะวิปัสสนากรรมฐานเป็นอารมณ์
เพื่อความพ้นทุกข์ทั้งปวง

7). สัมมาสติ (Right Mindfulness)

ความมีสติ (คือความระลึกได้) ที่ถูกต้อง 
คือปฏิบัติตามสติปัฏฐาน ๔ โดยย่อมีดังนี้

(1) พิจารณากาย (รูป ๑ มีธาตุต่างๆ) 
ทั้งภายในและภายนอก ไม่ยินดียินร้าย 
ไม่ยึดติดในโลก

เพราะร่างกายกำเนิดขึ้นมาแล้ว เป็นรังโรค 
มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา 
และสลายไป ในที่สุด

(2) พิจารณาเวทนา (ความรู้สึกสุข ทุกข์ เฉยๆ) 
ทั้งภายในและภายนอก

ไม่ยินดียินร้าย ไม่ยึดติดในโลก เพราะเวทนา
เกิดมีขึ้นแล้ว ก็เสื่อมไป เป็นธรรมดา 
และสลายไป ในที่สุด

(3)
พิจารณาจิต (นาม ๔ มีความรู้สึก ความจำ 
ความคิด ความรู้ในอารมณ์ต่างๆ) 
ทั้งภายในและภายนอก

ไม่ยินดียินร้าย ไม่ยึดติดในโลก 
เพราะจิตเกิดมีขึ้นแล้ว ก็เสื่อมไป เป็นธรรมดา 
และสลายไป ในที่สุด

(4) พิจารณาธรรม 
(คือแนวทางปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์) 
ทั้งภายในและภายนอก ไม่ยินดียินร้าย 

ไม่ยึดติดในโลก เพราะธรรมเกิดมีขึ้นแล้ว 
ก็เสื่อมไป เป็นธรรมดา และสลายไป ในที่สุด

ธรรมะที่ใช้เพื่อปฏิบัติ ได้แก่การละอุปาทาน
ขันธ์ ๕ ละกิเลส ตัณหา ราคะ ละสังโยชน์ 
สติสัมโพชฌงค์  อริยสัจ ๔ เป็นต้น

หมายเหตุ ที่เขียนว่าทั้งภายในและภายนอก 
หมายถึง มนุษย์ มีทั้งกายเนื้อและกายทิพย์
 
เวทนา จิต ธรรม ก็มีทั้งอยู่ในกายภายนอก
และกายอันเป็นทิพย์ภายในซ้อนกันอยู่ 
ผู้ที่มีตาทิพย์ก็เห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา 
จิตในจิต และธรรมในธรรมอันเป็นภายในได้ 

ถ้าไม่มีตาทิพย์ ในส่วนของกาย 
สามารถพิจารณาจากสิ่งหุ้มกายภายนอก
และอวัยวะภายในก็ได้

หรือพิจารณากายเวทนาใจคนอื่น
เป็นตัวอย่างแล้วน้อมเข้ามาที่กาย ทีเวทนา 
ที่ใจตนเอง แล้วแต่ปัญญา

ธรรมะก็เหมือนกัน ดูว่าเขาปฏิบัติธรรมใด
ด้วยวิธีใดทำให้พ้นทุกข์ได้ 
ก็ศึกษาและปฏิบัติตามเขาไป

เป้าหมายคือหนทางปฏิบัติไม่กลับมาเกิดอีก 
หรือเกิดให้น้อยชาติที่สุด เช่น ชาติเดียวก็ทุกข์
เหลือเกิน  ทำอย่างไร ไม่ยึดติดกาย 
สบายติดโลก ก็ต้องทำลายสังโยชน์ กิเลส 
ตัณหา ราคะ ให้ได้ก่อนตาย

(สนใจศึกษา มหาสติปัฏฐาน ๔ จะมีประโยชน์
มาก ทำให้บรรลุถึงทางพ้นทุกข์
ได้อย่างรวดเร็ว )

8). สัมมาสมาธิ (Right Concentration)

ความตั้งใจมั่นที่ถูกต้อง สงบจากกิเลส ตัณหา 
ราคะ สงัดจากกามารมณ์ สงัดจากอกุศล
ธรรมทั้งหลาย
-ฌาน (ความเพ่ง) ที่ 1 สงัดจากกามารมณ์ 
สงัดจากอกุศลธรรม มีวิตก วิจารณ์ ปีติ สุข 
เกิดจากจิตสงบ
-ฌาน (ความเพ่ง) ที่ 2 ไม่มีวิตก ไม่มีวิจารณ์ 
มีแต่ปีติ สุข อันเกิดจากจิตสงบมากขึ้น 
ทำให้จิตผ่องใส
-ฌาน (ความเพ่ง) ที่ 3 ละปีติได้ 
มีแต่สุขทางกาย มีอุเบกขา มีสติ สัมปชัญญะ 
(พระอริยะเจ้าสรรเสริญว่าเป็นผู้มีอุเบกขา 
มีสติอยู่เป็นสุข)
-ฌาน (ความเพ่ง) ที่ 4 มีสติบริสุทธิ์ 
เพราะอุเบกขา ไม่มีสุข ไม่มีทุกข์ 
(เพราะโสมนัส โทมนัสดับไป)





 






-------------------------------------------------------------------------------------


No comments:

Post a Comment