Search This Blog / The Web ค้นหาบล็อค / เว็บ

Sunday, May 11, 2014

ประวัติ-คำสอนของหลวงปู่ขาว อนาลโย พระอริยสงฆ์ไทย ผู้มีอัฐิเป็นพระธาตุ รวบรวมจัดทำโดย อ. สุชาติ ภูวรัตน์


ประวัติ การปฏิบัติธรรม 

คำสอนของหลวงปู่ขาว อนาลโย 

(พระอริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีสิ้นกิเลส 

และมีอัฐิเป็นพระธาตุ)





จัดทำโดย อ.สุชาติ ภูวรัตน์
นธ.เอกบาลีประโยค 1-2
(อดีตพระธรรมทูตต่างประเทศ)
B.S. Engineering Design Tech.
 B.A. ศาสนศาสตร์บัณฑิต
B.S. Computer Information Systems
B.TM.  พทย์แผนไทยบัณฑิต
สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ
บ.ภ.พท.ว.พท.ผ.พท.น.
ครูแพทย์แผนไทย 4 ด้าน
ศูนย์การแพทย์แผนไทยภูเก็ต

ทำเพื่อการศึกษาและประโยชน์แก่ผู้ชม


ประวัติ การปฏิบัติธรรม และคำสอน
ของหลวงปู่ขาว อนาลโย

วันที่ 16 พฤษภาคม เป็นวันคล้ายวันมรณภาพหลวงปู่ขาว อนาลโย  พระอริยเจ้า ท่านเป็นผู้ใหญ่ ศิษย์ท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทัตโต หลวงปู่ขาว ท่านมีนิสัยใจเด็ดเดี่ยว มุ่งมั่นในการปฏิบัติ ทำความเพียร เดินจงกรมก็เก่ง ละหรือถอดถอนกิเลสประเภทต่างๆ ที่เคยฝังจมอยู่ภายในใจ และมีเมตตาธรรมเป็นเลิศ

ท่านมีอดีตชาติเกี่ยวพันกับสัตว์ป่า มีช้างเป็นต้น ไม่ว่าท่านจะไปเที่ยวที่ป่าเขาลึกเพียงไหน ช้างหัวหน้าฝูงมักจะเข้ามาหา ท่านรู้ภาษาสัตว์ และสัตว์ก็รู้ภาษาของท่านอย่างดี ท่านมีสหธรรมิกที่ร่วมภาวนาที่เกื้อกูลกันในทางธรรม คือ หลวงปู่หลุย จันทสาโร ,หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ , หลวงปู่แหวน สุจิณโณ เป็นต้น

หลวงปู่ขาวได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ในช่วงพรรษาที่ 16-17 ที่กลางทุ่งนา บ้านโหล่งขอด อ.พร้าว เชียงใหม่ ท่านเล่าว่า เย็นวันหนึ่ง เมื่อปัดกวาดเสร็จออกที่พักไปสรงน้ำ เห็นข้าวในไร่ชาวเขากำลังสุกเหลืองอร่าม เกิดมีคำถามขึ้นมาว่า ข้าวมันงอกขึ้นมาเพราะมีอะไรเป็นเชื้อทำให้เกิด ประดุจใจที่ทำให้เกิดตายไม่หยุดหย่อน น่าจะมีอะไรเป็นเชื้ออยู่ภายในเมล็ดข้าว เชื้อนั้นถ้าไม่ถูกทำลายเสียให้สิ้นไปก็จะต้องทำให้เกิดตายไม่หยุดแน่แท้ ก็แล้วอะไรเป็นเชื้อของใจเล่า ถ้าไม่ใช่กิเลส อวิชชา ตัณหาอุปาทาน  ท่านคิดทบทวนไปมา โดยยกอวิชชาขึ้นมาเป็นเป้าหมาย


พิจารณาย้อนหน้าถอยหลัง อนุโลมปฏิโลมด้วยความอยากรู้ตัวจริงของอวิชชา นับแต่หัวค่ำจนดึกไม่ลดละการพิจารณาอวิชชากับใจ พอจวนสว่าง จึงตัดสินกันลงได้ด้วยปัญญา อวิชชาขาดกระเด็นออกจากใจไม่มีอะไรเหลือ ยุติที่ข้าวสุก หมดการงอกอีกต่อไป การพิจารณาจิต มายุติที่อวิชชาดับ กลายเป็นจิตสุก เช่นเดียวกับข้าวสุก จิตหมดการก่อกำเนิด เกิดในภพต่างๆ อย่างประจักษ์ใจ สิ่งที่เหลือให้ชมอย่างสมใจคือความบริสุทธิ์แห่งจิตล้วนๆในกระท่อมกลางเขา

หลวงปู่ขาว อนาลโย ได้เข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพาน ณ วัดถ้ำกลองเพล หนองบัวลำภู เมื่อวันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคม 2526 สิริอายุ 94 ปี 4 เดือน 19 วัน 57 พรรษา จึงขอนำประวัติปฏิปทของหลวงปู่ขาว มาเผยแพร่เพื่อเป็นสังฆานุสติ และ มรณานุสติ


ชีวประวัติ และปฏิปทา หลวงปู่ขาว อนาลโย

ท่านเกิดตรงกับวันอาทิตย์ที่ 28 ธันวาคม 2431 ปีชวด ที่บ้านบ่อชะเนง ต.หนองแก้ว อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันขึ้นกับตำบลหนองแก้ว อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ) บิดาชื่อ พั่ว โคระถา มารดาชื่อ รอด โคระถา มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน 7 คน ท่านเป็นคนที่ 4 ทำอาชีพหลักของครอบครัว คือ ทำนาและค้าขาย ต่อมาท่านได้สมรสกับนางมี โคระถา เมื่อ 2452 ขณะอายุได้ 20 ปี มีบุตรด้วยกัน 3 คน ใช้ชีวิตคู่ได้ 11 ปี จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา 


ท่านสามารถระลึกชาติย้อนหลังได้หลายชาติ ในสมัยพุทธกาลท่านเคยเกิดป็นพระภิกษุ 1 ใน 500 รูปที่ติดตามพระเทวทัต เดิมที ท่านเป็นผู้มีมิจฉาทิฐิ แต่หลังจากได้ฟังธรรมจากพระสารีบุตร จึงหันกลับเข้ามาสู่ทางแห่งสัมมาทิฐิ สถานที่ต่างๆ ที่ท่านอยู่จำพรรษา มักเป็นสถานที่เคยเกิดเป็นคนหรือสัตว์ต่างๆ ในอดีตชาติ

การเริ่มออกบวชของหลวงปู่ขาว เป็นข้อคิดและมีสิ่งเตือนใจให้พิจารณาดังนี้คือ ท่านได้พบเห็นสิ่งที่รัก คือเมียคบชู้กับชายอื่น ความทุกข์และความเกลียดแค้น ปักลึกสุดขั้วหัวใจ กลับกลายเป็นมหาภัยสังหารทำลายหัวใจอย่างไม่เคยคาดคิดมาก่อนเลย ท่านเองเกิดความทุเรศและความเคียดแค้นแสนจะอดกลั้นทนทานได้ แต่ก็คงมีบารมีธรรมที่เคยบำเพ็ญมา มาช่วยสะกิดใจไว้ได้ทันท่วงทีในขณะนั้นว่า แม้แต่มดตัวเล็กๆ กัดเรายังรู้สึกเจ็บและปัดออกในทันทีทันใด ก็การฆ่าคนให้ล้มตายนั้น ความทุกข์ของผู้จะถูกฆ่า 


แม้เป็นฝ่ายผิดและรู้ตัวว่าผิด จะมีทุกข์มากขนาดไหน จงยับยั้งใจไว้พิจารณาให้ดี และละเอียดถี่ถ้วนก่อนจะสายเกินแก้ ว่าทำไมเราจึงเป็นผู้ยินดีและพอใจทำในสิ่งเลวร้าย ที่โลกทั้งหลายไม่พึงปรารถนา และปราชญ์ติเตียนอย่างยิ่งเช่นนี้ ถ้าเราฆ่าเขาให้ตายสมใจแล้ว เราจะได้อะไรที่พึงใจเป็นเครื่องตอบแทนบ้าง นอกจากมหันตโทษ มหันตทุกข์ล้วนๆ ไม่มีประมาณเท่านั้น จะสะท้อนย้อนกลับมาเผาผลาญเรา

คำว่าเมียมีชู้ ตัวมีชู้ เมียมีหลายผัว ผัวมีหลายเมียนี้ เพิ่งมาเกิดแก่เราคนเดียวเท่านั้นหรือ ในโลกทั้งหลาย ตลอดวงนักปราชญ์ที่ท่านมาเป็นศาสดา มาเป็นพระสาวก มาเป็นครูอาจารย์สอนเรา ท่านไม่เคยมี เคยเจอสิ่งสกปรกอันเป็นสมบัติของสัตว์นรกเหล่านี้มาละหรือ ในโลกมีเฉพาะเราคนเดียว เจอเฉพาะเราคนเดียวเท่านั้นหรือ รีบคิดและตัดสินใจให้ถูก ถ้าจะไม่ตั้งหน้าทำลายตัวเองให้ฉิบหายจนไม่มีเชื้อแห่งความดีเป็นเครื่องสืบต่อภพต่อชาติในภพต่อไป

คนเราจะรู้ว่าตนโง่หรือตนฉลาด จะล่มจม หรือจะเอาตัวรอดปลอดภัย ถึงแดนแห่งชัยชนะได้ ย่อมถือเหตุการณ์เป็นเครื่องวัดตวงในการปฏิบัติตัวต่อเหตุการณ์นั้นๆ ปราชญ์ทั้งหลายแต่ดึกดำบรรพ์มา ท่านไม่เคยเสียท่าเสียทีเพราะการทุ่มตัวให้กับสิ่งเลวทรามทั้งหลาย นอกจากท่านคิดอุบายพลิกแพลงเปลี่ยนแปลงสิ่งเลวร้าย ให้กลายมาเป็นปุ๋ยหล่อเลี้ยงธรรมให้เจริญภายในใจฝ่ายเดียว แต่ตัวเจ้าเอง ทำไมจะทำตัวเป็นมนุษย์เหลวแหลกแตกกระจายไม่เป็นท่า ด้วยการทำชั่วตามเหตุการณ์ของโลก ที่ไม่มีประมาณแห่งความพอดี ที่ผู้อื่นก่อขึ้นเช่นนี้เล่า

เพียงเท่านี้ไม่อาจยับยั้งได้ เจ้าจะพยุงตัวเพื่อความดีงามไปได้อย่างไร เมียของเจ้าเขาลุอำนาจแห่งราคะตัณหาไปตามประสาของหญิงที่ไม่มีเขตแดน แต่ตัวเจ้าเอง ที่เข้าใจว่าตัวเป็นฝ่ายถูกฝ่ายดีกว่าเขา แต่แล้วเจ้าก็จะลุอำนาจไปตามโทสะ ความอาฆาตมาดร้ายและทำลายเขาให้ตายสมใจนั้น ในคนทั้งสองคือเมียผู้นอกใจ กับตัวเจ้าเอง ผู้ฆ่าเมียและชายชู้ให้ตายพร้อมกันในขณะเดียวสองคนนั้น จะจัดว่าใครเลวร้ายกว่าใคร

ตามสายธรรมของจอมปราชญ์ มีพระศาสดาเป็นพยานแล้ว ตัวเจ้าเองต้องจัดว่าเป็นผู้ทำกรรมชั่วอย่างหนักมาก จนไม่มีมหาเมตตาในธรรมบทใดบาทใดให้อภัยเจ้าได้ เจ้าต้องลงนรกขุมมหันตทุกข์โดยฝ่ายเดียวไม่เป็นอย่างอื่นเลย เจ้าจะเชื่อโทสะกิเลสที่กำลังรุมล้อม พัดผันหัวใจของเจ้า เพื่อให้เป็นไปตามอำนาจของมัน หรือจะเชื่อธรรมของจอมปราชญ์ ที่เคยพยุงสัตว์โลกผู้ได้ทุกข์ ให้เบาบางสร่างซา มานานแสนนาน รีบคิดและตัดสินใจโดยถูกทางเดี๋ยวนี้ อย่าชักช้าล้าหลัง กิเลสตัวโหดร้าย จะแซงธรรมและขยำตัวเจ้า ให้แหลกทั้งเป็น ถ้าไม่รีบจัดการกับมันแต่ขณะนี้

ท่านว่าเป็นที่แปลกประหลาดและอัศจรรย์อย่างไม่เคยคาดเคยฝันมาก่อน พอความอัศจรรย์ผุดขึ้นจากภายใน อันเป็นเชิงบอกเตือนด้วยอุบายต่างๆ ราวกับครูอาจารย์ที่เคารพนับถือมานั่งสั่งสอนเราอยู่เฉพาะหน้าให้สงบลงไป 


ใจที่เป็นเหมือนกองเพลิงใหญ่ซึ่งกำลังส่งเปลวเต็มที่พร้อมจะ


เผาไหม้สิ่งที่กีดขวางอยู่เวลานั้นให้เป็นผุยผงชั่วประเดี๋ยวใจนั้น

 ได้สงบตัวลงอย่างเงียบผิดธรรมดา และเกิดความสลดสังเวช

ในเหตุการณ์เกี่ยวกับเมียนอกใจ พร้อมด้วยความอ่อนโยนที่

เต็มไปด้วยความสงสารและความให้อภัยเต็มดวงใจ พร้อมกับ

ความเห็นโทษแห่งความโหดร้ายหมายชีวิตอย่างถึงใจในขณะ

เดียวกัน ยกมือขึ้นประนมสาธุๆๆ พระธรรมท่านโปรดปรานว่าที่

สัตว์นรกไว้ได้ทันท่วงที

หลังจากมรสุมในหัวใจสงบลงโดยสิ้นเชิงแล้ว ใจกลับว่างเปล่า

โล่งสบายหายทุกข์เข็ญเวรภัยทั้งปวงในขณะนั้น ราวกับเกิด

ชาติใหม่ขึ้นมาในร่างกายและใจดวงเดียวกัน ทำให้คิดทบทวน

หวนกลับไปกลับมา ย้อนหน้าย้อนหลังทั้งอดีตที่เคยตีบตันอั้นตู้

จนจะหาทางออกไม่ได้ ถึงกับจะคิดเผาไหม้ตัวเองสดๆ ร้อนๆ 

โดยเห็นว่าเป็นทางออกที่ดี ทั้งอนาคตเกี่ยวกับความเป็นไปใน

วันข้างหน้าว่าจะควรปฏิบัติอย่างไรจึงจะสมมักสมหมายไม่คลุก

เคล้าด้วยมูตร ด้วยคูถ ด้วยฟืน ด้วยไฟ ดังที่เป็นมาแล้ว ที่น่า

สลดสังเวชน่าขยะแขยงและไม่พึงปรารถนาตลอดอนันตกาล


แต่ก่อนท่านไม่ได้คิดอะไรมากไปกว่าการหวังความเจริญใน

ทางโลก เมื่อมาประสบเหตุการณ์ธรรมทูตนี้ ความรู้สึกสำนึกทั้ง

หลายจึงหนักไปในอรรถในธรรม มากกว่าจะคิดไปในแง่อื่นๆ 

จนถึงขั้นตัดสินใจบวช ด้วยความเห็นโทษเห็นคุณจริงๆ 

เนื่องจากอะไรก็เคยคิดเคยผ่านมามากต่อมากแล้ว สิ่งที่จะให้

สมหวังไม่ค่อยปรากฏ มักมีแต่สิ่งไม่พึงหวังมาปรากฏซ้ำๆ 

ซากๆ จนถึงขั้นชอกช้ำเต็มที่ แทบจะหาที่ปลงที่วางไม่ได้ 

คิดเห็นแต่ธรรมอย่างเดียว จะพึ่งเป็นพึ่งตายได้ ด้วยการออกบวช ปฏิบัติธรรม ให้เต็มกำลังความสามารถ อย่างอื่นๆ ไม่ค่อยมีในห้วงแห่งความคิดนึก จึงได้ตัดสินใจออกบวช โดยบอกความประสงค์ให้ญาติมิตรเพื่อนฝูงทราบแล้วก็ออกถวายตัวเป็นนาคในวัดเพื่อบวชโดยไม่ชักช้า


การสละทางโลกสู่การอุปสมบทเป็นพระภิกษุของ หลวงปู่ขาว อนาลโย

ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2462 ที่วัดโพธิ์ศรี (ปัจจุบันคือวัดบ่อชะเนง) บ้านบ่อชะเนง ตำบลหนองแก้ว อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ สังกัดคณะมหานิกาย มีท่านพระครูพุฒิศักดิ์ฯ เจ้าคณะอำเภออำนาจเจริญ เป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระอาจารย์บุญจันทร์ฯ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และจำพรรษาที่วัดโพธิ์ศรี 6 พรรษา สังเกตดูครูอาจารย์เพื่อนพระสามเณร ประพฤติปฏิบัติพระธรรมวินัยลุ่มๆดอนๆ ไม่สมเจตนาที่ออกบวชเพื่อมรรคผลนิพพาน 


จึงกราบลา ตามหาท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต หลวงปู่ขาว ท่านเกิดความศรัทธาในปฏิปทาของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต จึงได้ญัตติกรรมเป็นพระธรรมยุติกนิกายเมื่อวันที่13 พฤษภาคม 2468 ขณะมีอายุได้ 37 ปี ณ พัทธสีมาวัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี มีพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) เป็นประธานพิธี พระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) ครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ พระชิโนวาทธำรง เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์บุญ ปัญญาวุฑโฒ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ หลวงปู่ขาวเป็นนาคซ้าย หลวงปู่หลุยเป็นนาคขวา หลวงปู่หลุยบวชก่อน 15 นาที

ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และการปฏิบัติธรรมของ หลวงปู่ขาว อนาลโย

ภายหลังจากได้ญัตติกรรมเข้าคณะธรรมยุติกานิกายแล้ว ท่านได้จำพรรษาอยู่ที่จังหวัดอุดรธานีเป็นเวลา 8 ปี การทำความพากเพียรในขั้นเริ่มแรกเป็นความเพียรผาดโผน ด้วยการเอาชีวิตเข้าประกันก็ตาม แต่การเพียรการต่อสู้ในระยะนี้ เป็นการต่อสู้ที่บอบช้ำมาก และต่อมาจนจิตสงบลงเป็นสมาธิได้ แต่ผลปรากฏมีน้อยไม่สมดุลกัน ทั้งนี้เพราะยังไม่รู้วิธีการต่อสู้และพากเพียรเท่าที่ควร แต่นักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย


จำต้องยอมรับความบอบช้ำไปก่อน เพื่อทราบเหตุผลจากประสบการณ์ที่เคยผ่านมา แล้วปรับตัวปรับความเพียรให้เหมาะสมยิ่งขึ้นในอันดับต่อไป จากนั้นได้เดินธุดงค์ตามท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ไปปฏิบัติธรรมในสถานที่ต่างๆ ได้จำพรรษากับท่านพระอาจารย์มั่น ครั้งแรกที่เชียงใหม่ ท่านเร่งความเพียรแทบไม่ได้หลับนอน ท่านออกเดินทางทุกปี และได้สมบุกสมบันไปแทบทุกภาคของประเทศ นอกจากนี้ ท่านยังได้เคยเดินธุดงค์ร่วมกับ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร, หลวงปู่แหวน สุจิณโณ ,หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม ,หลวงปู่ชอบ ฐานสโม เป็นเวลารวมกันหลายพรรษา

ท่านได้สร้างบารมีอยู่ในป่าเขาเป็นเวลายาวนาน มีประสบการณ์มากมายเกี่ยวกับสัตว์ป่าทั้งหลาย เช่น สิง ค่าง ช้าง เสือ เวลาท่านนึกถึงอะไร สิ่งนั้นมักจะมาตามความรำพึงนึกคิดเสมอ เช่น นึกถึงช้าง ว่าหายหน้าไปไหนนานไม่ผ่านมาทางนี้เลย พอตกกลางคืนดึกๆ ช้างก็จะมาหา และเดินตรงมายังกุฏิที่ท่านพักอยู่ พอให้ท่านทราบว่าเขามาหาแล้ว ช้างก็จะกลับเข้าป่าไป เวลาที่ท่านนึกถึงเสือ ก็เช่นกัน นึกถึงตอนกลางวันตกกลางคืนเสือก็มาเพ่นพ่านภายในวัดบริเวณที่ท่านพักอยู่

ท่านพระอาจารย์หลวงตามหาบัว ได้พรรณนาถึงเมตตาธรรม และตะปะธรรมของหลวงปู่ขาว ไว้ในหนังสือ ปฏิปทาของพระธุดงค์กรรมฐานสายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต มีข้อความตอนหนึ่งว่า ท่านอาจารย์องค์นี้มีความเด็ดเดี่ยวมาก การนั่งภาวนาตลอดสว่างท่านทำได้สบายมาก ถ้าไม่เป็นผู้มีใจกล้าหาญ จะทำไม่ได้ จึงขอชมเชย อนุโมทนากับท่านอย่างถึงใจ เพราะเป็นที่แน่ใจในองค์ท่านเป็นผู้สิ้นภพสิ้นชาติอย่างประจักษ์ใจทั้งที่ยังครองขันธ์อยู่

เรื่องราวของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงทศพิธราชธรรม กับพระอริยะเจ้าหลวงปู่ขาว อนาลโยนั้น ด้วยความที่ทั้ง สองพระองค์ทรงมีเคารพและเป็นห่วงใยในหลวงปู่ขาว ล้นเกล้าฯ ทั้งสองพระองค์ทรงพระกรุณาเสด็จไปเยี่ยมอาการอาพาธหลายครั้ง

ครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระอุตสาหะ ประกอบพิธี ยืดอายุ ของหลวงปู่ โดยทรงถือขัน (อย่างขันน้ำ) บรรจุดอกไม้ห้าสี เข้าไปประเคน พอหลวงปู่รับแล้ว ก็ทรงไม่ให้หลวงปู่ ทิ้งขันธ์ (เล่นคำ ขัน กับ ขันธ์) ขอให้หลวงปู่อยู่ไปอีกนานๆ หลวงปู่หัวเราะ แต่ไม่รับสนองพระราชดำรัส หลวงปู่ปรารภต่อมาว่า มันหนักกระดูก ขันธ์มันเป็นทุกข์หนัก แบกขันธ์มันหนักกว่าแบกครก 


หลังจากนั้น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ก็ได้ทรงขอเช่นกัน และครั้งที่สาม เมื่อทรงทราบว่าหลวงปู่อาพาธหนักในเวลาเดียวกันที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประชวร ก็ได้ส่ง ดร.เชาวน์ ณ ศีลวันต์ องคมนตรี เป็นผู้แทนไปขอซ้ำอีก หลวงปู่ก็ตอบสนองด้วยการหัวเราะเช่นครั้งก่อนๆ

โอวาทธรรมของหลวงปู่ขาว อนาลโย

ส่วนหนึ่งของพระธรรมเทศนาของท่าน ที่ได้เทศน์โปรดพระเณรและญาติโยม ณ บ้านย่อชะเนง (บ้านเกิดของท่าน)

"คนที่เกิดมาไม่เหมือนกัน เพราะมีความประพฤติที่ต่างกัน ผู้ที่ประพฤติดี รักษาศีลมีการให้ทาน มีการสดับรับฟังพระธรรม จึงมีปัญญาดี มีการศึกษาเล่าเรียนดี การจำแนกสัตว์ให้ดีให้ชั่วต่าง ๆ กัน มันเป็นเพราะกรรม ถ้ามันยังทำกรรมอยู่ ก็ต้องได้รับผลกรรมทั้งกรรมดีกรรมชั่ว มันต้องได้รับผลตอบแทน 


เหตุนี้ เราจึงควรทำกุศล รักษาศีลให้บริสุทธิ์สมบูรณ์ แล้วทำสมาธิจะมีความสงบสงัด จิตรวมลงได้ง่าย เพราะมันเย็น มันราบรื่นดี ไม่มีลุ่มไม่มีดอน จงพากันทำไปใน อิริยาบถทั้งสี่ นั่ง นอน ยืน เดิน อะไรก็ได้ แล้วแต่ความถนัด แล้วแต่จริต อันใดมันสะดวกสบายใจ หายใจดี ไม่ขัดข้องฝืดเคือง อันนั้นควรเอาเป็นอารมณ์ของใจ

พุทโธ พุทโธ หมายความว่า ให้ใจยึดเอาพุทโธเป็นอารมณ์ เพื่อป้องกันไม่ให้จิตออกไปสู่อารมณ์ภายนอก เพราะอารมณ์ภายนอกมันชอบไปจดจ่ออยู่กับ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ความถูกต้องทางกาย หากทุกสิ่งทุกอย่างมันไปจดจ่ออยู่ที่นั่น จิตมันจะไม่รวมลง นี่แหละ เรียกว่า มาร คือ ไม่มีสติ อย่าให้จิตไปจดจ่ออย่างนั้น ให้มาอยู่กับผู้รู้ ให้น้อมเอา พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นอารมณ์ จะอยู่ในอิริยาบถใด ก็ให้มีความเพียร ผู้ที่ภาวนาจิตสงบลงชั่วช้างพับหู งูแลบสิ้น ชั่วไก่ดินน้ำ นี่ อานิสงส์อักโข ให้ตั้งใจทำไป

การที่จิตรวมลงไปบางครั้ง มี 3 ขั้นสมาธิ คือ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ หากรวมลง ขณิกสมาธิ เราบริกรรมไป พุทโธ หรืออะไรก็ตาม จิตสงบไปสบายไปสักหน่อย มันก็ถอนขี้นมา ก็คิดไปอารมณ์เก่าของมันนี่ ส่วนหากรวมลงไปเป็น อุปจารสมาธิ ก็นานหน่อยกว่าจะถอนขึ้นไปสู่อารมณ์อีกให้ภาวนาไป อย่าหยุดอย่าหย่อน ค่อยเป็นค่อยไป ไม่ต้องไปนึกคาดหวังอะไร อย่าให้มีความอยาก เพราะมันเป็นตัณหา ตัวขวางกั้นไม่ให้จิตรวม 


ไม่ต้องไปกำกับว่า อยากให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ การอยากให้จิตรวมลง เหล่านี้แหละเป็นนิวรณ์ตัวร้าย ให้ปฏิบัติความเพียรไม่หยุดหย่อน เอาเนื้อและเลือด ตลอดจนชีวิตถวายบูชาพระพุทธเจ้า พระธรรม และ พระสงฆ์ เราจะเอาชีวิตจิตใจ ถวายบูชาพระรัตนตรัย ตลอดจนวันตาย นี่ก็เป็นมัชฌิมาปฏิปทา แล้วจิตจะรวมลงอย่างไร เมื่อไร ก็จะเป็นไปเองเมื่อใจเป็นกลาง ปล่อยวาง สงบถูกส่วน

การเข้าสู่พระนิพพานของหลวงปู่ขาว อนาลโย

คุณหมออวย เกตุสิงห์ ได้เล่าเกี่ยววัยปัจฉิมกาลของท่านไว้ในหนังสือ อนาลโยวาท ว่า ท่านทุพพลภาพอยู่ถึง 9 ปี แต่สุขภาพจิตยังดีมีนิสัยรื่นเริงติดตลกในระยะสามปีสุดท้าย นัยน์ตาของท่านมืดสนิทเพราะต้อแก้วตา หรือ ต้อกระจก หูก็ตึงมาก เพราะหินปูนจับกระดูก แต่ท่านก็มิได้เดือดร้อนใจ หลวงปู่ขาว อนาลโย ได้เข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพาน (มรณภาพลงด้วยอาการอันสงบ) ณ วัดถ้ำกลองเพล หนองบัวลำภู เมื่อวันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคม 2526 เวลา 05.45 น. สิริอายุ 94 ปี 4 เดือน 19 วัน 57 พรรษา 


โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับไว้เป็นศพในพระบรมราชานุเคราะห์โดยตลอดตั้งบำเพ็ญพระราชกุศล 7 วัน ทรงพระราชทานโกศโถฉัตรเบญจาตั้งประดับ และพระราชทานเพลิงศพวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2527 


ในวันพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่ขาว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธาน พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นั้น ปรากฏว่า วัดถ้ำกลองเพล ซึ่งมีอาณาบริเวณหลายพันไร่กลับคับแคบไปถนัดใจ ประชาชนจากทั่วทุกสารทิศหลั่งไหลกันมาถวายสักการะสรีระร่างของท่านนับเป็น จำนวนแสนคน นับเป็นประวัติการณ์สูงสุดของประเทศในยุคนั้นทีเดียว 

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------








No comments:

Post a Comment