Search This Blog / The Web ค้นหาบล็อค / เว็บ

Thursday, October 17, 2024

ประวัติการทอดกฐิน ตามพระพุทธบัญญัติ

ประวัติการทอดกฐิน ตามพระพุทธบัญญัติ





จัดทำโดย อ. สุชาติ ภูวรัตน์
นธ.เอกบาลีประโยค 1-2
(อดีตพระธรรมทูตต่างประเทศ)
B.S. Engineering Design Tech.
 B.A. ศาสนศาสตร์บัณฑิต
B.S. Computer Information Systems
B.TM.  พทย์แผนไทยบัณฑิต
สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ
บ.ภ.พท.ว.พท.ผ.พท.น.
ครูแพทย์แผนไทย 4 ด้าน
ศูนย์การแพทย์แผนไทยภูเก็ต
ทำเพื่อการศึกษาและประโยชน์แก่ผู้ชม

ประวัติความเป็นมาของผ้ากฐินในสมัยพุทธกาล
ในสมัยที่พระพุทธองค์ได้พักอยู่ที่มหาวิหารเชตวัน กรุงสาวัตถี แคว้นโกศล ได้มีพระภิกษุมาจากเมืองปาฐารัฐ  30 รูป ถือธุดงควัตรเคร่งครัดประสงค์จะเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ จึงพากันเดินทางมาถึงเมืองสาเกตก็เป็นวันเข้าพรรษาพอดี จึงต้องอยู่จำพรรษาที่เมืองสาเกต พอออกพรรษา ปวารณาแล้วก็เดินทางต่อด้วยเท้าจากเมืองสาเกตซึ่งห่างจากกรุงสาวัตถีประมาณ 100 กิโลเมตร เวลานั้นฝนยังตก ทางเดินเต็มไปด้วยน้ำโคลนตม ต้องลุยน้ำโคลนและตากแดดไปตลอดทาง ทำให้สบงจีวรเปียกน้ำฝนเปื่อย บางท่านจีวรขาดทะลุและเปื้อนโคลนตม เมื่อถึงกรุงสาวัตถีก็ได้เข้าเฝ้าพระพุทธองค์
เมื่อพระพุทธองค์ทรงเห็นความลำบากของพระภิกษุเหล่านั้น จึงเรียกประชุมสงฆ์กล่าวถึงพระภิกษุทั้ง 30 รูปเป็นเหตุ จึงทรงมีพุทธานุญาตให้พระภิกษุที่จำพรรษา ครบ 3 เดือนให้รับผ้ากฐินเสียก่อน ทั้งนี้เพราะว่าแม้ออกพรรษาแล้วก็ตามฝนก็ยังตกอยู่ ถ้าไม่จำเป็นก็ให้อยู่รับผ้ากฐินเสียก่อนแล้วจึงเดินทางไปที่อื่น แล้วทรงกำหนดเวลารับผ้ากฐินตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 ประมาณ 1 เดือนหลังออกพรรษา
ความจริงเรื่องผ้ากฐินนั้นเป็นเรื่องของพระภิกษุสงฆ์ทำผ้าจีวร เมื่อพระภิกษุได้ผ้ามาจากที่ต่าง ๆ นำมารวมเย็บให้เป็นผืนเดียวแล้วตกลงกันว่าจะมอบจีวรนี้ให้แก่พระภิกษุรูปใด ในสมัยพุทธกาลนั้นผ้าส่วนใหญ่เป็นผ้าบังสุกุลหรือผ้าที่ได้จากผ้าห่อศพ ผ้าจึงมีจำนวนไม่มาก จะทำเป็นจีวรจึงทำได้เพียงผืนเดียว และจะมอบผ้าที่ทำเป็นจีวรนั้น ให้แก่พระภิกษุที่มีผ้าเก่าที่สุดนำไปใช้นุ่งห่ม
ในพระธรรมบทกล่าวว่าในสมัยพุทธกาลมีการประชุมใหญ่ในการทำผ้าจีวร เมื่อพระอนุรุทธะได้ผ้าบังสุกุลมา จะทำจีวรเปลี่ยนผ้าห่มผืนเก่า พระพุทธองค์ทรงทราบพร้อมด้วยพระภิกษุ 500 รูป เสด็จไปเป็นประธานในวันนั้นมีพระมหาสาวก 80 รูปร่วมประชุมช่วยทำผ้ากฐิน พระมหากัสสปะนั่งอยู่ต้นผ้า พระสารีบุตรนั่งอยู่กลางผ้า พระอานนท์นั่งอยู่ปลายผ้า พระภิกษุสงฆ์ช่วยกันกรอด้ายสำหรับเย็บ พระพุทธองค์ทรงสนเข็ม พระโมคคัลลานะ เป็นผู้ช่วยทำกิจการ ชาวบ้านนำสิ่งของไปถวาย เมื่อผ้าจีวรทำเสร็จแล้ว จึงมีการประชุมสงฆ์ทำสังฆกรรมเกี่ยวกับผ้ากฐิน
ในสมัยพุทธกาล มีผู้ศรัทธานำผ้ากฐินมาถวายแต่ไม่ปรากฏนามผู้ถวายผ้ากฐินเป็นคนแรกที่พระพุทธองค์ทรงมีพระพุทธานุญาต
คำว่า กฐิน หรือ กฐินะ เป็นภาษาบาลี จัดเป็นสังฆกรรมอย่างหนึ่ง โดยมีไม้ใช้เป็นอุปกรณ์สำหรับขึงผ้าเป็นสี่เหลี่ยม เพื่อขึงผ้าให้ตึง สำหรับเย็บทำเป็นจีวร ในสมัยโบราณยังไม่มีเครื่องจักรทอผ้า จึงเรียกไม้นี้ว่า ไม้สะดึง ที่กางออกไปเพื่อขึงเย็บจีวร การกรานกฐิน หมายถึงการกางไม้สะดึงนั้น และคำว่า กฐิน  เป็นชื่อของกรอบไม้สำหรับทำจีวร ซึ่งอาจเรียกว่าไม้สะดึงก็ได้ เนื่องจากในครั้งพุทธกาลการทำจีวรให้มีรูปตามที่กำหนดกระทำได้ยาก จึงต้องทำกรอบไม้สำเร็จรูปไว้ เพื่อเป็นอุปกรณ์สำคัญในการทำเป็นผ้านุ่ง (สบง) หรือผ้าห่ม (จีวร) หรือผ้าห่มซ้อนทับ (สังฆาฏิ) รวมเรียกว่า ไตรจีวร (ผ้า 3 ผืน)
การทำผ้านุ่งห่มโดยอาศัยแบบกรอบไม้สะดึง แล้วตัดเย็บย้อมทำให้เสร็จในวันนั้น ด้วยความสามัคคีของสงฆ์รวมกันทำกิจกรรม เมื่อทำเสร็จ หรือพ้นกำหนดกาลแล้ว แม่แบบกรอบไม้สะดึงหรือกฐินนั้นก็รื้อไม้แบบ (กฐินเดาะ) เก็บไว้ใช้ทำผ้านุ่งห่มในปีต่อไป

ผ้าที่ใช้ทำผ้ากฐินมี 5 ชนิด คือ
1.      ผ้าใหม่
2.      ผ้ากลางใหม่
3.      ผ้าเก่า
4.      ผ้าบังสุกุล
5.      ผ้าตกหล่นจากร้าน

คุณสมบัติของพระภิกษุผู้กรานกฐินมี 8 ประการ คือ
1.      รู้จักบุพพกรณ์ 7 คือ
1)     ซักผ้า   2) กะผ้า    3) ตัดผ้า  4) เนาหรือด้นผ้าที่ตัดแล้ว  5) เย็บเป็นจีวร
         6) ย้อมจีวรที่เย็บแล้ว  7) ทำกัปปะ คือ พินทุ (หรือเครื่องหมายบนผ้า)
2.       รู้จักถอนไตรจีวร  วิธีถอนไตรจีวร (ธรรมเนียมโบราณ) ท่านให้ยกผ้าเก่าทับผ้าใหม่ แล้วกล่าวคำถอนว่า
        “
อิมํ สงฺฆาฏิ ปจฺจุทธรามิ,
         
อิมํ อุตฺตราสงฺคํ ปจฺจุทธรามิ,
         
อิมํ อนฺตรวาสกํ ปจฺจุทธรามิ.
(จะถอนผืนใด พึงกล่าวแต่ผืนนั้นโดยเฉพาะ)

การทำวินัยผ้า การพินทุผ้า
https://www.youtube.com/watch?v=wUEGKFbDaYM

3.รู้จักอธิษฐานไตรจีวร การอธิษฐานผ้าใหม่ (ธรรมเนียมโบราณ) ท่านให้ยกผ้าใหม่ทับผ้าเก่า แล้วกล่าวคำอธิษฐานว่า
        “ อิมํ สงฺฆาฏิ อธิฏฐามิ,
          อิมํ อุตฺตราสงฺคํ อธิฏฐามิ,
          อิมํ อนฺตรวาสกํ อธิฏฐามิ.
(จะอธิษฐานผืนใด พึงกล่าวแต่ผืนนั้นโดยเฉพาะ)
4.      รู้จักการกราน
5.      รู้จักมาติกา คือ รู้จักการเดาะกฐิน มี 8 คือ ไม้สะดึง หรือ แม่แบบหรือกฐินนั้น
     รื้อเก็บไว้ใช้ทำผ้านุ่งห่มในปีต่อไป
1)      เดาะกฐินด้วยการหลีกไปไม่คิดจะกลับมาอีก
2)      เดาะกฐินด้วยทำจีวรเสร็จแล้ว
3)      เดาะกฐินด้วยสันนิษฐานว่าจะไม่ทำผ้าจีวร
4)      เดาะกฐินด้วยผ้าหายหรือเสีย
5)     เดาะกฐินด้วยได้ยินข่าวว่าเลิกอานิสงส์กฐิน
6)        เดาะกฐินด้วยสิ้นหวังจากการได้ผ้า
7)      เดาะกฐินด้วยล่วงพ้นเขตเวลารับกฐืน
8)      เดาะกฐินด้วยพร้อมภิกษุทั้งหลาย
6.      รู้จักปลิโพธกังวล 2 อย่าง
1)      อาวาสปลิโพธ คือ ยังมีความกังวลอาลัยผูกใจจะอยู่ในอาวาสนั้น
2)      จีวรปลิโพธ คือ ยังมีความกังวลอาลัยผูกใจจะทำจีวรนั้น
7.      รู้จักการเดาะกฐิน (ต้องตัดปลิโพธขาดทั้ง 2 อย่าง จึงเดาะกฐิน)
8.      รู้จักอานิสงส์ของพระภิกษุเมื่อได้กรานกฐินแล้วมี 5 คือ
1)      เที่ยวไปไม่ต้องบอกลาตามสิกขาบทที่ 6 แห่งอเจลวรรค ปาจิตติยภัณฑ์
2)      จาริกไปไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับ
3)      ฉันคณะโภชน์ได้ (นั่งล้อมวงฉันได้)
4)      เก็บอติเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา
5)      จีวรเกิดขึ้นในที่นั้น เป็นของได้แก่พวกเธอ (ทั้งยังได้โอกาสขยายเขตจีวรกาลไปอีก 4 เดือน)
การถวายผ้ากฐิน
การถวายผ้ากฐิน ซึ่งหัวใจของกฐิน คือ ผ้า 3 ผืน คือ จีวร สบง สังฆาฏิ ผืนใดผืนหนึ่งในไตรจีวร ถ้ามากกว่านั้นเป็นอดิเรกจีวร หรือผ้าส่วนเกินเท่านั้น การถวายผ้ากฐินเป็นการนำผ้ามาถวายแก่พระสงฆ์ในเขตที่กำหนดไว้เท่านั้นเลยเวลาไปไม่ได้ ส่วนวัดที่จะรับกฐินได้จะต้องมีพระสงฆ์อยู่จำพรรษาจำนวน 5 รูป หรือ 5 รูปขึ้นไปครบองค์สงฆ์ จึงจะเป็นกฐินและจะต้องรับกฐินที่อาวาสของตัวเองเท่านั้นจึงจะถูกต้อง พระรูปเดียวที่จำพรรษาอยู่ในอาวาสหนึ่งอาวาสใด ถ้ารับกฐินก็จะเรียกว่ารับกฐินไม่ได้ เพราะว่าไม่ครบองค์สงฆ์ หรือมีการทอดกฐินกันจำนวนร้อยวัดแต่กลับไปถวายอยู่วัดเดียวโดยให้พระสงฆ์ที่จำพรรษาวัดอื่นมารับที่วัดนั้นอันมิใช่อาวาส ที่จำพรรษาของตัวเองยิ่งผิด ผ้า เป็นนิสัคคีย์ พระสงฆ์ที่ใช้ผ้าเป็นอาบัติปาจิตตีย์ อานิสงส์กฐินจึงไม่ขึ้นเป็นแต่เพียงผ้าป่า และก็ผิดพุทธานุญาต ผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งจะอ้างว่าเป็นประเทศปลายแดนไม่ได้ ก็ควรจะถวายเป็นผ้าป่าไปก็ไม่ได้เสียหายอะไร เพียงแต่ทำให้ถูกต้องตามพุทธประสงค์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงบัญญัติไว้ ก็ถือว่าเป็นบุญบริสุทธิ์
อีกคำหนึ่งที่จะได้ยินในขณะที่มีพิธีการทอดกฐินคือคำว่า อปโลกน์กฐิน หมายถึงการที่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เสนอขึ้นในที่ประชุมสงฆ์ถามความเห็นชอบว่าควรมีการกรานกฐินหรือไม่ เมื่อเห็นชอบร่วมกันแล้วจึงหารือกันต่อไปว่า ผ้าที่ทำสำเร็จแล้วควรถวายแก่ภิกษุรูปใด การปรึกษาหารือ การเสนอความเห็นเช่นนี้เรียกว่า อปโลกน์(อ่านว่า อะ-ปะ-โหลก) หมายถึง การช่วยกันมองดูว่าจะสมควรอย่างไร เพียงเท่านี้ก็ยังใช้ไม่ได้ เมื่ออปโลกน์เสร็จแล้ว ต้องสวดประกาศเป็นการสงฆ์ จึงนับว่าเป็นสังฆกรรมเรื่องกฐิน ดังกล่าวไว้แล้วในตอนต้น


Saturday, May 15, 2021

ประวัติและคำสอนของพระพุทธเจ้า

 




ประวัติและคำสอนของพระพุทธเจ้า 

จัดทำโดย อ. สุชาติ ภูวรัตน์

นธ.เอกบาลีประโยค 1-2

(อดีตพระธรรมทูตต่างประเทศ)

B.S. Engineering Design Tech.

 B.A. ศาสนศาสตร์บัณฑิต

B.S. Computer Information Systems

B.TM.  พทย์แผนไทยบัณฑิต

สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ

บ.ภ.พท.ว.พท.ผ.พท.น.

ครูแพทย์แผนไทย 4 ด้าน

ศูนย์การแพทย์แผนไทยภูเก็ต

 ทำเพื่อการศึกษาและประโยชน์แก่ผู้ชม

ประวัติและคำสอนของพระพุทธเจ้า

 

ทรงประสูติ

พระพุทธสังเวชนียสถานที่ 1 สถานที่ประสูติ

สวนลุมพินีวัน (รุมมินเด) ประเทศเนปาล


 เสาหลักหิน ที่พระเจ้าอโศกทรงปักไว้ 
และให้จารึกตัวหนังสือ

แสดงว่าเป็นสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า

ประวัติ และคำสอนของพระพุทธเจ้า

ทรงประสูติ

 พระพุทธเจ้า พระนามเดิมว่า “ สิทธัตถะ “ เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะและพระนางสิริมหามายา แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ พระองค์ทรงถือกำเนิดในศากยวงค์ สกุลโคตมะ พระองค์ประสูติ ในวันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ( เดือนวิสาขะ ) ปีจอ ก่อนพุทธศักราช 80 ปี ณ สวนลุมพินีวัน ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ กับกรุงเทวทหะ 

แคว้นโกลิยะ (ปัจจุบันคือตำบลรุมมินเด ประเทศเนปาล)

 
การขนานพระนาม และทรงเจริญพระชนม์

พระราชกุมารได้รับการทำนายจากอสิตฤาษีหรือกาฬเทวิลดาบส มหาฤาษีผู้บำเพ็ญฌานอยู่ในป่าหิมพานต์ซึ่งเป็นที่ทรงเคารพนับถือของพระเจ้าสุทโธทนะว่า

 พระราชกุมารนี้เป็นอัจฉริยมนุษย์ มีลักษณะมหาบุรุษครบถ้วน บุคคลที่มีลักษณะดังนี้ จักต้องเสด็จออกจากพระราชวังผนวชเป็นบรรพชิตแล้วตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ไม่มีกิเลสในโลกเป็นแน่ 

หลังจากประสูติได้ 5 วัน พระเจ้าสุทโธทนะโปรดให้ประชุมพระประยูรญาติ และเชิญพราหมณ์ ผู้เรียนจบไตรเพท จำนวน 108 คน เพื่อมาทำนายพระลักษณะของพระราชกุมาร

 พระประยูรญาติได้พร้อมใจกันถวายพระนามว่า “สิทธัตถะ” มีความหมายว่า “ ผู้มีความสำเร็จสมประสงค์ทุกสิ่งทุกอย่างที่ตนตั้งใจจะทำ” ส่วนพราหมณ์เหล่านั้นคัดเลือกกันเองเฉพาะผู้ที่ทรงวิทยาคุณประเสริฐกว่าพราหมณ์ทั้งหมดได้ 8 คน เพื่อทำนายพระราชกุมาร พราหมณ์ 7 คนแรก ต่างก็ทำนายไว้ 2 ประการ คือ 

1. ถ้าพระราชกุมารเสด็จอยู่ครองเรือนก็จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม หรือถ้าเสด็จออกผนวชเป็นบรรพชิตจักเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ไม่มีกิเลสในโลก

2. ส่วนโกณฑัญญะพราหมณ์ ผู้มีอายุน้อยกว่าทุกคน ได้ทำนายเพียงอย่างเดียวว่า พระราชกุมารจักเสด็จออกจากพระราชวังผนวชเป็นบรรพชิต แล้วตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ไม่มีกิเลสในโลก 

เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะประสูติได้ 7 วัน พระราชมารดาก็เสด็จสวรรคต ( การเสด็จสวรรคตดังกล่าวเป็นประเพณีของผู้ที่เป็นพระมารดาของพระพุทธเจ้า ) พระเจ้าสุทโธทนะทรงมอบหมายให้พระนางมหาปชาบดีโคตมีซึ่งเป็นพระกนิษฐาของพระนางสิริมหามายา เป็นผู้ถวายอภิบาลเลี้ยงดู

 
 เมื่อพระสิทธัตถะทรงพระเจริญมีพระชนมายุได้ 8 พรรษา 

ได้ทรงศึกษาในสำนักอาจารย์วิศวามิตร 

ซึ่งมีเกียรติคุณแพร่ขจรไปไกลไปยังแคว้นต่างๆ เพราะเปิดสอนศิลปวิทยาถึง 18 สาขา 

เจ้าชายสิทธัตถะทรงศึกษาศิลปวิทยาเหล่านี้ได้

อย่างว่องไว และเชี่ยวชาญ

จนหมดความสามารถของพระอาจารย์


 ทรงอภิเษกสมรส

ด้วยพระราชบิดามีพระราชประสงค์มั่นคงที่จะให้เจ้าชายสิทธัตถะทรงครองเพศฆราวาสเป็นพระจักพรรดิผู้ทรงธรรม จึงพระราชทานความสุขเกษมสำราญ แวดล้อมด้วยความบันเทิงนานาประการแก่พระราชโอรสเพื่อผูกพระทัยให้มั่นคงในทางโลก 

 มื่อเจ้าชายสิทธัตถะเจริญพระชนม์ได้ 16 พรรษา พระเจ้าสุทโธทนะมีพระราชดำริว่าพระราชโอรสสมควรจะได้อภิเษกสมรส จึงโปรดให้สร้างปราสาทอันวิจิตรงดงามขึ้น 3 หลัง สำหรับให้พระราชโอรสได้ประทับอย่างเกษมสำราญตามฤดูกาลทั้ง 3 คือ ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว แล้วตั้งชื่อปราสาทนั้นว่า รมยะปราสาท สุรมยะปราสาท และสุภะปราสาทตามลำดับ และทรงสู่ขอพระนางพิมพาหรือยโสธรา พระราชธิดาของพระเจ้าสุปปพุทธะและพระนางอมิตา แห่งเทวทหะนคร ในตระกูลโกลิยวงค์ ให้อภิเษกด้วย 

เจ้าชายสิทธัตถะได้เสวยสุขสมบัติ จนพระชนมายุมายุได้ 29 พรรษา พระนางพิมพายโสรธาจึงประสูติพระโอรส พระองค์มีพระราชหฤทัยสิเนหาในพระโอรสเป็นอย่างยิ่ง 

เมื่อพระองค์ทรงทราบถึงการประสูติ

ของพระโอรสพระองค์ตรัสว่า  ราหุล ชาโต

พันธนะ ชาตะ , บ่วงเกิดแล้ว , เครื่องจองจำเกิดแล้ว 

 


ทรงออกบรรพชา

เจ้าชายสิทธัตถะทรงเป็นผู้มีพระบารมีอันบริบูรณ์ ถึงแม้พระองค์จะทรงพรั่งพร้อมด้วยสุขสมบัติมหาศาลก็มิได้พอพระทัยในชีวิตคฤหัสถ์ พระองค์ยังทรงมีพระทัยฝักใฝ่ใคร่ครวญถึงสัจธรรมที่จะเป็นเครื่องนำทางซึ่งความพ้นทุกข์อยู่เสมอ พระองค์ได้เคยสด็จประพาสอุทยาน ได้ทอดพระเนตรเทวทูตทั้ง 4 คือคนแก่ คนเจ็บ คนตาย และบรรพชิต พระองค์จึงสังเวชพระทัยในชีวิต และพอพระทัยในเพศบรรพิต มีพระทัยแน่วแน่ที่จทรงออกผนวช เพื่อแสวงหาโมกขธรรมอันเป็นทางดับทุกข์ถาวรพ้นจากวัฏสงสารไม่กลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก พระองค์จึงตัดสินพระทัยเสด็จออกทรงผนวช โดยพระองค์ทรงม้ากัณฐกะ พร้อมด้วยนายฉันนะ มุ่งสู่แม่น้ำอโนมานที แคว้นมัลละ รวมระยะทาง 30 โยชน์ (ประมาณ 480 กิโลเมตร ) เสด็จข้ามฝั่งแม่น้ำอโนมานทีแล้วทรงอธิษฐานเพศเป็นบรรพชิต และทรงมอบหมายให้นายฉันนะนำเครื่องอาภรณ์และม้ากัณฐกะกลับนครกบิลพัสดุ์

 ทรงเข้าศึกษาในสำนักดาบส

ภายหลังที่ทรงผนวชแล้ว พระองค์ได้ประทับอยู่ ณ อนุปิยอัมพวัน แคว้นมัลละเป็นเวลา 7 วัน จากนั้นจึงเสด็จไปยังกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ พระเจ้าพิมพิสารได้เสด็จมาเฝ้าพระองค์ ณ เงื้อมเขาปัณฑวะ ได้ทรงเห็นพระจริยาวัตรอันงดงามของพระองค์ก็ทรงเลื่อมใส และทรงทราบว่าพระสมณสิทธัตถะทรงเห็นโทษในกาม เห็นทางออกบวชว่าเป็นทางอันเกษม จะจาริกไปเพื่อบำเพ็ญเพียร และทรงยินดีในการบำเพ็ญเพียรนั้น พระเจ้าพิมพิสารได้ตรัสว่า “ ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน และเมื่อได้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ขอได้โปรดเสด็จมายังแคว้นของกระหม่อมฉันเป็นแห่งแรก ซึ่งพระองค์ก็ทรงถวายปฏิญญาแด่พระเจ้าพิมพิสาร

การแสวงหาธรรมระยะแรกหลังจากทรงผนวชแล้ว สมณสิทธัตถะได้ทรงศึกษาในสำนักอาฬารดาบส กาลามโคตร และอุทกดาบส รามบุตร ณ กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ พระองค์ได้ทรงประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักของอาฬารดาบส กาลามโคตร ทรงได้สมาบัติคือ ทุติยฌาน ตติยฌาน อากาสานัญจายตนฌาน วิญญานัญจายตนฌาน และอากิญจัญญายตนฌาน ส่วนการประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักอุทกดาบส รามบุตร นั้นทรงได้สมาบัติ 8 คือ เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน สำหรับฌานที่ 1 คือปฐมฌานนั้น


พระองค์ทรงได้ขณะกำลังประทับขัดสมาธิเจริญอานาปานสติกัมมัฏฐานอยู่ใต้ต้นหว้า เนื่องในพระราชพิธีวัปปมงคล ( แรกนาขวัญ ) เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ เมื่อสำเร็จการศึกษาจากทั้งสองสำนักนี้แล้วพระองค์ทรงทราบว่ามิใช่หนทางพ้นจากทุกข์ บรรลุพระโพธิญาณ ตามที่ทรงมุ่งหวัง พระองค์จึงทรงลาอาจารย์ทั้งสอง เสด็จไปใกล้บริเวณแม่น้ำเนรัญชรา ที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ

บ้านนางสุชาดา

ข้างหน้าเป็นภูเขาตงคสิริที่พระพุทธองค์ทรงทรมานสังขาร

 ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา

“ ทุกร “ หมายถึง สิ่งที่ทำได้ยาก “ ทุกรกิริยา” หมายถึงการกระทำกิจที่ทำได้ยาก ได้แก่การบำเพ็ญเพียรเพื่อบรรลุธรรมวิเศษ” เมื่อพระองค์ทรงหันมาศึกษาค้นคว้าด้วยพระปัญญาอันยิ่งด้วยพระองค์เองแทนการศึกษาเล่าเรียนในสำนักอาจารย์ ณ ทิวเขาดงคสิริ ใกล้ลุ่มแม่น้ำเนรัญชรานั้น

 พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา คือการบำเพ็ญอย่างยิ่งยวดในลักษณะต่างๆเช่น การอดพระกระยาหาร การทรมานพระวรกายโดยการกลั้นพระอัสสาสะ พระปัสสาสะ ( ลมหายใจ ) การกดพระทนต์ การกดพระตาลุ ( เพดาน) ด้วยพระชิวหา (ลิ้น) เป็นต้น พระมหาบุรุษได้ทรงทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาเป็นเวลาถึง 6 ปี ก็ยังมิได้ค้นพบสัจธรรมอันเป็นทางหลุดพ้นจากทุกข์

 


พระองค์จึงทรงเลิกการบำเพ็ญทุกรกิริยา แล้วกลับมาเสวยพระกระยาหารเพื่อบำรุงพระวรกายให้แข็งแรง ในการคิดค้นวิธีใหม่ ในขณะที่พระมหาบุรุษทรงบำเพ็ญทุกรกิริยานั้น ได้มีปัญจวัคคีย์ คือ พราหมณ์ทั้ง 5 คน ได้แก่ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ เป็นผู้คอยปฏิบัติรับใช้ ด้วยหวังว่าพระมหาบุรุษตรัสรู้แล้วพวกตนจะได้รับการสั่งสอนถ่ายทอดความรู้บ้าง

และเมื่อพระมหาบุรุษเลิกล้มการบำเพ็ญทุกรกิริยา ปัญจัคคีย์ก็ได้ชวนกันละทิ้งพระองค์ไปอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน นครพาราณสี เป็นผลให้พระองค์ได้ประทับอยู่ตามลำพังในที่อันสงบเงียบ ปราศจากสิ่งรบกวนทั้งปวง พระองค์ได้ทรงตั้งพระสติดำเนินทางสายกลาง คือการปฏิบัติในความพอเหมาะพอควร นั่นเอง

 ทรงตรัสรู้

พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ เวลารุ่งอรุณ ในวันเพ็ญเดือน 6 ( เดือนวิสาขะ) ปีระกา ก่อนพุทธศักราช 45 ปี

นางสุชาดาได้นำข้าวมธุปายาสเพื่อไปบวงสรวงเทวดา ครั้นเห็นพระมหาบุรุษประทับที่โคนต้นอชปาลนิโครธ (ต้นไทร)ด้วยอาการอันสงบ นางคิดว่าเป็นเทวดา จึงถวายข้าวมธุปายาส แล้วพระองค์เสด็จไปสู่ท่าสุปดิษฐ์ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ทรงวางถาดทองคำบรรจุข้าวมธุปายาสแล้วลงสรงสนานชำระล้างพระวรกาย แล้วทรงผ้ากาสาวพัสตร์อันเป็นธงชัยของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์

หลังจากเสวยแล้วพระองค์ทรงจับถาดทองคำขึ้นมาอธิษฐานว่า “ ถ้าเราจักสามารถตรัสรู้ได้ในวันนี้ ก็ขอให้ถาดทองคำใบนี้จงลอยทวนกระแสน้ำไป แต่ถ้ามิได้เป็นดังนั้นก็ขอให้ถาดทองคำใบนี้จงลอยไปตามกระแสน้ำเถิด “ แล้วทรงปล่อยถาดทองคำลงไปในแม่น้ำ ถาดทองคำลอยตัดกระแสน้ำไปจนถึงกลางแม่น้ำเนรัญชราแล้วลอยทวนกระแสน้ำขึ้นไปไกลถึง 80 ศอก จึงจมลงตรงที่กระแสน้ำวน

 


 ในเวลาเย็นพระองค์เสด็จกลับมายังต้นโพธิ์ที่ประทับ คนหาบหญ้าชื่อโสตถิยะได้ถวายหญ้าปูลาดที่ประทับ ณ ใต้ต้นโพธิ์ พระองค์ประทับหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก และทรงตั้งจิตอธิษฐานว่า "แม้เลือดในกายของเราจะเหือดแห้งไปเหลือแต่หนัง เอ็น กระดูกก็ตาม ถ้ายังไม่บรรลุธรรมวิเศษแล้ว จะไม่ยอมหยุดความเพียรเป็นอันขาด" 

พระพุทธรูปปางพิชิตมาร

 

ลูกสาวเสนามาร 3 คน คือ 

นางราคะ นางอรตี นางตัณหะ

มาเย้ายวนให้เกิดกิเลส ตัณหา ราคะ 

เพื่อพันธนาการ ไม่ให้พระองค์ตรัสรู้

 

พระแม่ธรณีมาเป็นพยานการหลั่งน้ำอุทิศบุญกุศล
มาหลายภพชาติเก็บไว้ในมวยผม 
และบีบออกให้พญามารดูมากมาย   

จนท่วมพวกพญามาร


น้ำได้ท่วมทำลายพวกบริวารพระยามารที่มา

ขัดขวางการบรรลุธรรมของพระพุทธเจ้า

ด้วยน้ำที่พระพุทธได้หลั่งลงบนแผ่นดินเป็นน้ำ

แห่งบุญกุศลได้ที่อุทิศไว้ในอดีตกาล


พระพุทธสังเวชนียที่ 2 สถานที่ตรัสรู้

เจดีย์พุทธคยา ใต้โคนพระศรีมหาโพธิ์

 


พระองค์ทรงสำรวมจิตเป็นสมาธิ 
ตรัสรู้ บรรลุธรรมวิชชา 3

พระธรรมอันประเสริฐที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้น 

คือ อริยสัจ 4

พระองค์ทรงประทับใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ครบ 7 วัน  

 ในสัปดาห์ที่ 1

 

 พระแท่นวัชรอาสน์ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์

 
รัตนจงกรมเจดีย์    

ที่พระองค์ทรงพุทธดำเนิน

จงกรมบนรัตนจงกรมสถานครบ 7 วัน 

ในสัปดาห์ที่ 3

 
มุจลินทนาคราชบังเกิดอยู่ในสระขึ้นมา

จากสระขดขนดเป็น 7 รอบ

ให้พระองค์นั่งประทับ และแผ่พังพาน

ปกป้องแดด ลม ฝน ครบ 7 วัน

ในสัปดาห์ที่ 6


พระพุทธสังเวชนียที่ 2 สถานที่ตรัสรู้

เจดีย์พุทธคยา พระที่นั่งวัชรอาสน์ 

ใต้โคนพระศรีมหาโพธิ์

 


เมื่อทรงตั้งจิตอธิษฐานเช่นนั้นแล้ว พระองค์ก็ทรงสำรวมจิตให้สงบแน่วแน่ มีพระสติตั้งมั่น มีพระวรกายอันสงบ มีพระหทัยแน่วแน่เป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่องปราศจากกิเลส ปราศจากความเศร้าหมอง อ่อนโยน เหมาะแก่การงาน ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ทรงน้อมพระทัยไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ( ญาณเป็นเหตุระลึกถึงขันธ์ที่อาศัยในชาติปางก่อนได้ ) ในปฐมยามแห่งราตรี

 ต่อจากนั้นทรงน้อมพระทัยไปเพื่อจูตุปาตญาณ ( ญาณกำหนดรู้การตาย การเกิดของสัตว์ทั้งหลาย ) ในมัชฌิมยามแห่งราตรี ต่อจากนั้นทรงน้อมพระทัยไปเพื่ออาสวักขยญาณ ( ญาณหยั่งรู้ในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวกิเลสทั้งหลาย) คือทรงรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา เมื่อทรงรู้เห็นอย่างนี้

 จิตของพระองค์ก็ทรงหลุดพ้นจากกามสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วพระองค์ก็ทรงรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว ทรงรู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป นั่นคือพระองค์ทรงบรรลุวิชชาที่ 3 คือ อาสวักขยญาณ ในปัจฉิมยาม แห่งราตรีนั้นเอง ซึ่งก็คือการตรัสรู้พระสัพพัญญุตญาณ เป็นพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า

 จากการที่พระองค์ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาอย่างยิ่งยวด พระองค์ทรงตรัสรู้ในวันเพ็ญเดือน 6 ปีระกา ขณะพระชนมายุได้ 35 พรรษา นับแต่วันที่สด็จออกผนวชจนถึงวันตรัสรู้ธรรม รวมเป็นเวลา 6 ปี พระธรรมอันประเสริฐที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้น คือ อริยสัจ 4 (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรคมีองค์ 8)

 
พระองค์ทรงแสดงปฐมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์

ด้วย พระธรรมจักรกัปปวัตตนสูตร


สังเวชนียสถานที่ 3 สถานที่ทรงแสดงปฐมเทศนา

โปรดปัญจวัคคีย์ ด้วย พระธรรมจักรกัปปวัตตนสูตร

ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวันเมกขัมมสถูป

สารนาถพาราณสี

 ประกาศพระศาสนาครั้งแรก

เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วทรงเสวยวิมุติสุข ณ บริเวณต้นพระศรีมหาโพธิ์เป็นเวลา 7 สัปดาห์ ทรงรำพึงว่า ธรรมะที่พระองค์ตรัสรู้เป็นการยากสำหรับคนทั่วไป จึงทรงน้อมพระทัยไปในทางที่จะไม่ประกาศธรรม พระสหัมบดีพรหมทราบวาระจิตของพระองค์จึงอาราธนาให้โปรดมนุษย์

 โดยเปรียบเทียบมนุษย์เหมือนดอกบัว 4 เหล่า และในโลกนี้ยังมีเหล่าสัตว์ผู้มีธุลีในดวงตาเบาบาง สัตว์เหล่านั้นจะเสื่อมเพราะไม่ได้ฟังธรรม เหล่าสัตว์ผู้ที่สามารถรู้ทั่วถึงธรรมได้ ยังมีอยู่ “ พระพุทธเจ้าจึงทรงน้อมพระทัยไปในการแสดงธรรม แล้วเสด็จไปโปรดปัญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน

 ทรงแสดงปฐมเทศนา ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ( เดือนอาสาฬหะ) เรียกว่า ธรรมจักกัปปวัตตนสูตร ในขณะที่ทรงแสดงธรรม 

ท่านอัญญาโกณฑัณญะได้ธรรมจักษุ คือบรรลุพระโสดาบัน ได้ทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรียกการบวชครั้งนี้ว่า “ เอหิภิกขุอุปสัมปทา ” พระอัญญาโกณฑัญญะจึงเป็นพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา

 การประกาศพระพุทธศาสนา

เมื่อพระพุทธเจ้าได้เสด็จโปรดปัญจวัคคีย์ และสาวกอื่นๆซึ่งต่อมาได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ จำนวน 60 องค์แล้ว และเป็นช่วงที่ออกพรรษาแล้ว พระพุทธองค์ทรงพิจารณาเห็นสมควรว่าจะออกไปประกาศพระศาสนาให้เป็นที่แพร่หลาย จึงมีพุทธบัญชาให้สาวกทั้ง 60 องค์ จาริกออกไปประกาศเผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยให้ไปแต่เพียงลำพัง แม้พระองค์ก็จะเสด็จไปยังอุรุเวลาเสนานิคม ในการออกจาริกประกาศ พระศาสนาครั้งนั้นทำให้กุลบุตรในดินแดนต่างๆหันมาเลื่อมใสพระพุทธศาสนาและขอบรรพชา อุปสมบทเป็นอันมาก ต่อมาพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้สาวกเหล่านั้นสามารถอุปสมบทให้แก่กุลบุตรได้ เรียกว่า 

ติสรณคมนูปสัมปทา คืออุปสมบทโดยวิธีให้ปฏิญญาตนเป็นผู้ถึงไตรสรณคมน์” พระพุทธศาสนาจึงหยั่งรากฝังลึกและแพร่หลายในดินแดนแห่งนั้นเป็นต้นมา

 พรรษาที่ 1 ที่พระองค์ทรงแสดงธรรมโปรดสาวกและได้อรหันต์สาวกจำนวน 80 องค์แล้ว พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาคุณทำการประกาศเผยแผ่คำสอน จนเกิดพุทธบริษัท 4 อันมี ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา อย่างแพร่หลายและมั่นคง การประกาศพระพุทธศาสนาของพระองค์ได้ดำเนินไปอย่างเข้มแข็ง โดยการจาริกไปยังหมู่บ้านชนบทน้อยใหญ่ในแคว้นต่างๆทั่วชมพูทวีป

 

บริเวณวัดเวฬุวนาราม

พรรษาที่ 2 พระพุทธองค์เสด็จไปโปรดประชาชน ได้พุทธสาวกดังนี้ เสด็จไปยังอุรุเวลาเสนานิคม ในระหว่างทางได้โปรดกลุ่มภัททวัคคีย์ 30 คน ที่ตำบลอุรุเวลาได้โปรดชฎิล 3 พี่น้องคือ 

อุรุเวกัสสปะ นทีกัสสปะ และคยากัสสปะ กับศิษย์ อีก 1,000 คน ทรงเทศนาอาทิตตปริยายสูตร ที่คยาสีสะ

 



ทรงโปรดพระเจ้าพิมพิสาร

แล้วเสด็จไปยังนครราชคฤห์แห่งแคว้นมคธ เพื่อโปรดพระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าพิมพิสารถวายสวนเวฬุวันเป็นที่อาศัยแด่คณะสงฆ์ และได้พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเป็นสาวก อีก ๒ เดือนต่อมาเสด็จไปยังนครกบิฬพัสดุ์ ทรงพำนักที่นิโครธาราม ทรงได้สาวกอีกมากมาย เช่น พระนันทะ พระราหุล พระอานนท์ พระเทวทัต และพระญาติอื่นๆ

ต่อมาอนาถปิณฑิกะเศรษฐีอาราธนาไปยังกรุงสาวัตถีแห่งแคว้นโกศล ได้ถวายสวนเชตวันแด่คณะสงฆ์ พระพุทธองค์ทรงจำพรรษาที่นี่

พรรษาที่ 3 นางวิสาขาถวายบุพพาราม ณ กรุงสาวัตถี ทรงจำพรรษาที่นี่

 
พระมูลคันธกุฏิ เขาคิชฌกูฏ 

พรรษาที่ 4 ทรงจำพรรษาที่เวฬุวัน ณ กรุงราชคฤห์ แห่งแคว้นมคธ

พรรษาที่ 5 เสด็จโปรดพระราชบิดาจนได้บรรลุอรหัตตผล และทรงไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างพระญาติฝ่ายสักกะกับพระญาติฝ่ายโกลิยะเกี่ยวกับการใช้น้ำในแม่น้ำโหริณี

 
ทรงไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างพระญาติ

ฝ่ายสักกะกับพระญาติฝ่ายโกลิยะ

เกี่ยวกับการใช้น้ำในแม่น้ำโหริณี

 พรรษาที่ 6 ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ในกรุงสาวัตถี ทรงจำพรรษา ณ ภูเขามังกลุบรรพต

 
บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ในวัดเชตวัน ด้านหลังเป็นคันธกุฎี

ที่พระพุทธเจ้าเคยประทับเผยแพร่พระสัจธรรม 

 
แผนที่วัดเชตวันมหาวิหาร กรุงสาวัตถี

พรรษาที่ 7 ทรงเทศนาและจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ระหว่างจำพรรษาได้ทรงเทศนาพระอภิธรรมโปรดพุทธมารดายังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ จนสำเร็จพระโสดาปัตติผล

 

หลังออกพรรษาท้าวสักกะเทวราชทรงเนรมิตบันไดทองให้เหล่าเทวดา บันไดเงินให้มาพรหมทั้งหลาย และบันไดแก้วมณีถวายพระพุทธองค์เพื่อเสด็จลงเมืองมนุษย์ที่ประตูสังกัสสะนคร  

เรียกว่า วันเทโวโรหณะ

 

  พระพุทธองค์ทรงเปิดโลก 

ให้มนุษย์เห็นเทวดา 

พระพรหม และเห็นได้แม้เมืองนรก

 

พรรษาที่ 8 ทรงเทศนาในแคว้นมัคคะ ทรงจำพรรษาในเภสกลาวัน

พรรษาที่ 9 ทรงเทศนาในแคว้นโกสัมพี

พรรษาที่ 10 คณะสงฆ์ในแคว้นโกสัมพีแตกแยกกันอย่างรุนแรง

 พระพุทธองค์ทรงตักเตือนแต่คณะสงฆ์ไม่เชื่อฟัง พระองค์จึงเสด็จไปประทับและจำพรรษาในป่าปาลิไลยยกะ มีช้างเชือกหนึ่งมาเฝ้าพิทักษ์และรับใช้ตลอดเวลา

 


พรรษาที่ 11 เสด็จไปยังกรุงสาวัตถี คณะสงฆ์แห่งโกสัมพีปรองดองกันได้ ทรงจำพรรษาอยู่ในหมู่บ้านพราหมณ์

ชื่อ เอกนาลา

พรรษาที่ 12 ทรงเทศนาและจำพรรษาที่เวรัญชา และเกิดความอดอยากรุนแรงขึ้นในเวลานั้น

พรรษาที่ 13 ทรงเทศนาและจำพรรษาบนภูเขาจาลิกบรรพต

พรรษาที่ 14 ทรงเทศนาและจำพรรษาที่กรุงสาวัตถี พระราหุลขอผนวช

 พรรษาที่ 15 เสด็จไปยังกรุงกบิลพัสดุ์ พระเจ้าสุปปพุทธะถูกแผ่นดินสูบเพราะขัดขวางทางโคจร

 พรรษาที่ 16 ทรงเทศนาและจำพรรษาที่อาละวี

 พรรษาที่ 17 เสด็จไปยังกรุงสาวัตถี แล้วเสด็จกลับ

มายังอาลวี และทรงจำพรรษาที่กรุงราชคฤห์

 พรรษาที่ 18 เสด็จไปยังอาละวี ทรงจำพรรษาบน

ภูเขาจาลิกบรรพต

 พรรษาที่ 19 ทรงเทศนาและจำพรรษาที่บน

ภูเขาจาลิกบรรพต

 

พระพุทธองค์ทรงโปรดโจรองคุลิมาลกลับใจเป็นสาวก 

พรรษาที่ 20 โจรองคุลิมารกลับใจเป็นสาวก และทรงแต่งตั้งให้พระอานนท์รับใช้ใกล้ชิดตลอดกาล ทรงจำพรรษาที่กรุงราชคฤห์และทรงเริ่มบัญญัติวินัย

พรรษาที่ 21-45 ทรงใช้เชตวันและบุพพารามในกรุงราชคฤห์เป็นศูนย์กลางการเผยแผ่และเป็นที่ประทับจำพรรษา เสด็จพร้อมสาวกออกเทศนาโปรดเวไนยสัตว์ตามแว่นแคว้นต่างๆ

 


พระเทวทัตถูกธรณีสูบ

พรรษาที่ 45 เป็นพรรษาสุดท้าย พระเทวทัตคิดปลงพระชนม์ กลิ้งก้อนหินจนต้องพระองค์เป็นเหตุให้พระบาทห้อพระโลหิต ทรงได้รับการบำบัดจากนายแพทย์หลวงหมอชีวกโกมารภัจจ์ 

 

สังเวชนียสถานที่ 4 สถานที่พระพุทธเจ้าทรงปรินิพพาน

 
พระพุทธองค์ทรงปรินิพพาน 

พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพุทธกิจอยู่จนพระชนมายุ 80 พรรษา พระองค์เสด็จจำพรรษาสุดท้ายณ เมืองเวสาลี ในวาระนั้นพระพุทธองค์ทรงพระชราภาพมากแล้วทั้งยังประชวรหนักด้วย พระองค์ได้ทรงพระดำเนินจากเวสาลีสู่เมืองกุสินาราเพื่อเสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ เมืองนั้น พระพุทธองค์ได้หันกลับไปทอดพระเนตรเมืองเวสาลีซึ่งเคยเป็นที่ประทับ นับเป็นการทอดทัศนา

เมืองเวสาลีเป็นครั้งสุดท้าย

 แล้วเสด็จต่อไปยังเมืองปาวา เสวยพระกระยาหารเป็นครั้งสุดท้ายที่บ้านนายจุนทะ บุตรนายช่างทอง พระพุทธองค์ทรงพระประชวรหนักอย่างยิ่ง ทรงข่มอาพาธประคองพระองค์เสด็จถึงสาละวโนทยาน (ป่าสาละ)ของเจ้ามัลละเมืองกุสินารา ก่อนเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานพระองค์ได้อุปสมบทแก่พระสุภัททะปริพาชก นับเป็นสาวกองค์สุดท้ายที่พระพุทธองค์ทรงบวชให้ ในท่ามกลางคณะสงฆ์ทั้งที่เป็นพระอรหันต์และปุถุชน

 พระราชา ชาวเมืองกุสินารา และจากแคว้นต่างๆรวมทั้งเทวดาทั่วหมื่นโลกธาตุ พระพุทธองค์ได้มีพระดำรัสครั้งสำคัญว่า โย โว อานันทะ ธัมมะ จะ วินะโย มะยา เทสิโต ปัญญัตโต โส โว มะมัจจะเยนะ สัตถา อันแปลว่า “ ดูก่อนอานนท์ ธรรมและวินัยอันที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่เธอทั้งหลาย ธรรมวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว “

 และพระพุทธองค์ได้แสดงปัจฉิมโอวาทแก่พระภิกษุสงฆ์ว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นวาจาครั้งสุดท้าย ที่เราจะกล่าวแก่ท่านทั้งหลาย สังขารทั้งหลายทั้งปวงมีความสิ้นไปและเสื่อมไปเป็นธรรมดา . ท่านทั้งหลายจงทำความรอดพ้นให้บริบูรณ์ถึงที่สุด ด้วยความไม่ประมาทเถิด “

 แม้เวลาล่วงมาถึงศตวรรษที่ 25 แล้ว นับตั้งแต่พระองค์ตรัสรู้เป็นพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า และเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานที่นอกเมืองกุสินาราในประเทศอินเดีย แต่คำสั่งสอนอันประเสริฐของพระองค์หาได้ล่วงลับไปด้วยไม่ คำสั่งสอนเหล่านั้นยังคงอยู่ เป็นเครื่องนำบุคคลให้ข้ามพ้นจากความมีชีวิต ขึ้นไปสู่ซึ่งคุณค่ายิ่งกว่าชีวิต คือการพ้นจากวัฏสงสารนั่นเอง

 หลังจากพระพุทธองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว สาวกของพระองค์ทั้งที่เป็นพระอรหันต์และมิใช่พระอรหันต์ได้ช่วยบำเพ็ญกรณียะกิจเผยแผ่พระพุทธะวัจนะอันประเสริฐไปทั่วประเทศอินเดีย และขยายออกไปทั่วโลก เป็นที่ยอมรับว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งความเป็นจริง มีเหตุผลเชื่อถือได้และ เป็นศาสนาแห่งสันติภาพและเสรีภาพอย่างแท้จริง

 สรุปพุทธกิจในรอบวันของพระพุทธองค์

1. ปุพพัณเห ปิณฑปาตัญจะ ตอนเช้าเสด็จออกบิณฑบาตเพื่อโปรดเวไนยสัตว์

2. สายัณเห ธัมมะเทสนัง ตอนเย็นทรงแสดงธรรมโปรดมหาชนที่มาเข้าเฝ้า

3. ปโทเส ภิกขุโอวาทัง ตอนหัวค่ำประทานโอวาทแก่ภิกษุทั้งเก่าและใหม่

4. อัฑฒรัตเต เทวปัญหานัง ตอนเที่ยงคืนทรงวิสัชชนาปัญหาให้แก่เทวดาชั้นต่างๆ

5. ปัจจสเสว คเต กาเล ภัพพาภัพเพ วิโลกนัง ตอนใกล้รุ่งตรวจดูสัตว์โลกที่สามารถและไม่  สามารถบรรลุธรรมได้ แล้วเสด็จไปโปรดถึงที่ แม้ว่าหนทางจะลำบากเพียงใดก็ตาม