Search This Blog / The Web ค้นหาบล็อค / เว็บ

Monday, March 11, 2013

หลักการปฏิบัติสมถวิปัสสนาของพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล รวบรวมจัดทำโดย อ. หมอสุชาติ ภูวรัตน์

หลักการปฏิบัติสมถวิปัสสนา

ของพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล 






จัดทำโดย อ.หมอสุชาติ ภูวรัตน์
นธ.เอกบาลีประโยค 1-2
(อดีตพระธรรมทูตต่างประเทศ)
B.S. Engineering Design Tech.
 B.A. ศาสนศาสตร์บัณฑิต
B.S. Computer Information Systems
B.TM.  พทย์แผนไทยบัณฑิต
สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ
บ.ภ.พท.ว.พท.ผ.พท.น.
ครูแพทย์แผนไทย 4 ด้าน
ศูนย์การแพทย์แผนไทยภูเก็ต
ทำเพื่อการศึกษาและประโยชน์แก่ผู้ชม

หลักสมถวิปัสสนาของพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล
บันทึกตามคำบอกเล่าของท่านเจ้าคุณพระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)

หลักการสอนท่านก็สอนในหลักของสมถวิปัสสนา ดังที่เราเคยได้ยินได้ฟังกันมาแล้วนั้น แต่ท่านจะเน้นหนักทำให้คล่องตัวจนชำนิชำนาญแล้ว ก็สอนให้พิจารณากายคตาสติ เมื่อสอนให้พิจารณากายคตาสติ พิจารณาอสุภกรรมฐาน จนคล่องตัวจนชำนิชำนาญแล้ว 
ท่านจะสอนให้เจริญพุทธคุณเป็นส่วนใหญ่ เมื่อเจริญพุทธคุณจนคล่องตัวจนชำนิชำนาญแล้ว ก็สอนให้พิจารณาธาตุกรรมฐาน ให้พิจารณากายแยกออกเป็นธาตุ 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ แล้วก็พยายามพิจารณาว่าในร่างกายของเรานี้ไม่มีอะไร มีแต่ธาตุ 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ ประชุมกันอยู่เท่านั้น หาสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาไม่มี ในเมื่อฝึกฝนอบรมให้พิจารณาจนคล่องตัว จิตก็จะมองเห็นสิ่งที่ไม่มีตัวตน 

คือเห็นว่าร่างกายนี้ ไม่ใช่ตัว เป็นอนัตตาทั้งนั้นจะมีตัวมีตนในเมื่อแยกออกไปแล้ว มันก็มีแต่ธาตุ 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ สัตว์บุคคลตัวตนเราเขาไม่มี แต่อาศัยความประชุมพร้อมของธาตุ 4 ดิน น้ำ ลมไฟ มีปฏิสนธิจิตปฏิสนธิวิญญาณมายึดครองอยู่ในร่างอันนี้ เราจึงสมมุติบัญญัติว่า สัตว์บุคคลตัวตนของเรา
อันนี้เป็นแนวการสอนของพระอาจารย์เสาร์ พระอาจารย์มั่น และพระอาจารย์สิงห์ การพิจารณาเพียงแค่ว่าพิจารณากายคตาสติก็ดี พิจารณาธาตุกรรมฐานก็ดี 


ตามหลักวิชาการท่านว่าเป็นอารมณ์ของสมถกรรมฐาน แต่ท่านก็ย้ำให้พิจารณาอยู่ในกายคตาสติกรรมฐานกับธาตุกรรมฐานนี้เป็นส่วนใหญ่ ที่ท่านย้ำๆ ให้พิจารณาอย่างนี้ ก็เพราะว่าทำให้ภูมิจิตภูมิใจของนักปฏิบัติก้าวขึ้นสู่ภูมิแห่งวิปัสสนาได้เร็ว 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพิจารณากายคตาสติแยก ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เป็นต้น
เล่าเรื่องภาวนาให้พระอาจารย์เสาร์ฟัง ท่านบอกว่า เร่งเข้าๆ เมื่อหลวงพ่อไปเล่าเรื่องภาวนาให้ท่านฟัง ถ้าสิ่งใดที่มันถูกต้อง ท่านบอกว่า เร่งเข้าๆ ๆ แล้วจะไม่อธิบาย 


แต่ถ้าหากว่ามันไม่ถูกต้อง เช่น อย่างใครทำสมาธิภาวนา มาแล้วมันคล้ายๆ กับว่า พอจิตสว่างรู้เห็นนิมิตขึ้นมาแล้วก็น้อมเอานิมิตเข้ามา พอนิมิตเข้ามาถึงตัวถึงใจแล้ว มันรู้สึกว่าอึดอัดใจเหมือนหัวใจถูกบีบแล้ว สมาธิที่สว่างมืดไปเลย อันนี้ท่านบอกว่าอย่าทำอย่างนั้นมันไม่ถูกต้อง

เมื่อเกิดนิมิตขึ้นมา ถ้าหากว่าไปเล่าให้อาจารย์องค์ใดฟัง ถ้าท่านแนะนำว่าให้น้อมให้เอานิมิตนั้นเข้ามาหาตัว อันนี้เป็นการสอนผิดแต่ถ้าว่าท่านผู้ใดพอบอกไปว่า ภาวนาเห็นนิมิตท่านแนะนำให้กำหนดรู้จิตเฉยอยู่คล้ายๆ กับว่าไม่สนใจกับนิมิตนั้น แล้วนิมิตนั้นจะแสดงปฏิกิริยาเปลี่ยนแปลงไปในแง่ต่างๆ 


เมื่อเรามีสติสัมปชัญญะดี มีสมาธิมั่นคง เราจะอาศัยความเปลี่ยนแปลงของมโนภาพอันเป็นของนิมิตนั้น เป็นเครื่องเตือนใจให้เรารู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นิมิตที่เปลี่ยนแปลงเป็นปฏิภาคนิมิต

ถ้าหากว่าเป็นนิมิตที่ปรากฏแล้วมันหยุดนิ่งไม่ไหวติง ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ บางทีสมาธิของเรามันแน่วแน่ ความทรงจำมันฝังลึกลงไปในส่วนลึกของจิตไปถึงจิตใต้สำนึก 


เมื่อออกจากที่นั่งสมาธิมาแล้ว เราไม่ได้นึกถึงเหมือนกับคล้ายๆ มองเห็นนิมิตนั้นอยู่ นึกถึงมันก็เห็น ไม่นึกถึงมันก็เห็นมันติดตาติดใจอยู่อย่างนั้น อันนี้เรียกว่าอุคคหนิมิต
ว่ากันง่ายๆ ถ้าจิตของเรามองเพ่งอยู่ที่ภาพนิ่ง เป็นอุคคหนิมิตถ้าจิตเพ่งรู้ความเปลี่ยนแปลงของนิมิตนั้น เป็นปฏิภาคนิมิต อุคคหนิมิตเป็นสมาธิขั้นสมถกรรมฐาน แต่ปฏิภาคนิมิตนั้นเป็นสมาธิขั้นวิปัสสนา เพราะจิตกำหนดรู้ความเปลี่ยนแปลง 


อันนี้ถ้าหากว่าใครภาวนาได้นิมิตอย่างนี้ ไปแล้วให้ท่านอาจารย์เสาร์ฟังท่านจะบอกว่า เอ้อ ! ดีแล้วเร่งเข้าๆ ๆ แต่ถ้าใครไปบอกว่า ในเมื่อเห็นนิมิตแล้ว ผมหรือดิฉันน้อมเข้ามาในจิตในใจ แต่ทำไมเมื่อนิมิตเข้ามาถึงจิตถึงใจแล้ว จิตที่สว่างไสวปลอดโปร่ง รู้ ตื่น เบิกบานมันมืดมิดลงไป แล้วเหมือนกับหัวใจถูกบีบ หลังจากนั้น จิตของเราไม่เป็นตัวของตัว คล้ายๆ กับว่า อำนาจสิ่งที่เข้ามานั้นมันครอบไปหมด 

ถ้าไปเล่าให้ฟังอย่างนี้ ท่านจะบอกว่าทำอย่างนั้นมันไม่ถูกต้อง เมื่อเห็นนิมิตแล้วให้กำหนดรู้เฉยๆ อย่าน้อมเข้ามา ถ้าน้อมเข้ามาแล้ว นิมิตเข้ามาในตัว มันจะกลายเป็นการทรงวิญญาณ 

อันนี้เป็นเคล็ดลับในการปฏิบัติ เพราะฉะนั้นถ้าผู้ใดมาแนะนำว่าเราทำสมาธิแล้ว แล้วให้น้อมจิตไปรับเอาอำนาจเบื้องบนหรือเห็นนิมิตแล้วให้น้อมเข้ามาในตัว อันนี้อย่าไปเอา มันไม่ถูกต้องในสายพระอาจารย์เสาร์นี่ท่านสอนให้ภาวนาพุทโธ

ทำไมพระอาจารย์เสาร์สอนภาวนาพุทโธ เพราะพุทโธเป็นกิริยาของใจ หลวงพ่อก็เลยเคยแอบถามท่านว่าทำไมจึงต้องภาวนาพุทโธ ท่านก็อธิบายให้ฟังว่าที่ให้ภาวนาพุทโธนั้น เพราะพุทโธ เป็นกิริยาของใจ 


ถ้าเราเขียนเป็นตัวหนังสือเราจะเขียน พ-พาน สระอุ-ท-ทหาร สะกด สระโอ ตัว ธ-ธง อ่านว่า พุทโธ อันนี้เป็นเพียงแต่คำพูด เป็นชื่อของคุณธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งเมื่อจิตภาวนาพุทโธ แล้วมันสงบวูบลงไป นิ่ง สว่างรู้ตื่นเบิกบาน 

พอหลังจากนั้นคำว่า พุทโธ มันก็หายไปแล้ว ทำไมมันจึงหายไปเพราะจิตมันถึงพุทโธแล้วจิตกลายเป็นพุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นคุณธรรมที่ทำจิตให้เป็นพุทธะเกิดขึ้นในจิตของท่านผู้ภาวนา 

พอหลังจากนั้นจิตของเราจะหยุดนึกคำว่าพุทโธแล้วก็ไปนิ่ง รู้ ตื่น เบิกบาน สว่างไสว กายเบา จิตเบา กายสงบ จิตสงบยังแถมมีปิติ มีความสุขอย่างบอกไม่ถูก อันนี้มันเป็นพุทธ พุทโธ โดยธรรมชาติเกิดขึ้นที่จิตแล้ว พุทโธ แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นกริยาของจิตมันใกล้กับความจริง

แล้วทำไมเราจึงมาพร่ำบ่น พุทโธๆ ๆ ในขณะที่จิต เราไม่เป็นเช่นนั้น ที่เราต้องมาบ่นว่าพุทโธ นั่นก็เพราะว่า เราต้องการจะพบ เพื่อนคนใดคนหนึ่ง เมื่อเรามองไม่เห็นเขา หรือเขายังไม่มาหาเรา เราก็เรียกชื่อเขาทีนี้ในเมื่อเขามาพบเราแล้ว เราได้พูดจาสนทนากันแล้ว ก็ไม่จำเป็น จะต้องไปเรียกชื่อเขาอีก ถ้าขืนเรียกซ้ำๆ เขาจะหาว่าเราร่ำไร ประเดี๋ยวเขาด่าเอา


ทีนี้ในทำนองเดียวกันในเมื่อเรียก พุทโธ ๆๆ เข้ามาในจิตของเราเมื่อจิตของเราได้เกิดเป็นพุทโธเอง คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จิตของเราก็หยุดเรียกเอง ทีนี้ถ้าหากว่าเรามีความรู้สึกอันหนึ่งแทรกขึ้นมา เอ้าควรจะนึกถึงพุทโธอีก พอเรานึกขึ้นมาอย่างนี้ สมาธิของเราจะถอนอีกที แล้วกิริยาที่จิตมันรู้ ตื่น เบิกบาน จะหายไป เพราะสมาธิถอน

ทีนี้ตามแนวทางของครูบาอาจารย์ที่ท่านแนะนำพร่ำสอน ท่านจึงให้คำแนะนำว่า เมื่อเราภาวนาพุทโธไป จิตสงบวูบลงนิ่ง สว่าง รู้ตื่น เบิกบานแต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ท่านก็ให้ประคองจิตให้อยู่ในสภาพปกติอย่างนั้น 


ถ้าเราสามารถประคองจิตให้อยู่ในสภาพอย่างนั้นได้ตลอดไป จิตของเราจะค่อยสงบละเอียดๆ ๆ ลงไป ในช่วงเหตุการณ์ต่างๆ มันจะเกิดขึ้น ถ้าจิตส่งกระแสออกนอกเกิดมโนภาพ ถ้าวิ่งเข้ามาข้างในจะเห็นอวัยวะภายในร่างกายทั่วหมดตับ ไต ไส้ พุง เห็นหมด แล้วเราจะรู้สึกว่ากายของเรานี่เหมือนกับแก้วโปร่งดวงจิตที่สงบ สว่างเหมือนกับดวงไฟที่เราจุดไว้ในพลกครอบแล้วสามารถเปล่งรัศมีสว่างออกมารอบๆ 

จนกว่าจิตจะสงบละเอียดลงไป จนกระทั่งว่ากายหายไปแล้วจึงจะเหลือแต่จิตสว่างไสวอยู่ดวงเดียวร่างกายตัวตนหายหมดถ้าหากจิตดวงนี้มีสมรรถภาพพอที่จะเกิดความรู้ความเห็นอะไรได้ จิตจะย้อนกายลงมาเบื้องล่าง เห็นร่างกายตัวเองนอนตายเหยียดยาวอยู่ขึ้นอืดเน่าเปื่อยผุพังสลายตัวไป
แล้วอีกประการหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราจะเคยได้ยินได้ฟังว่าสมาธิขั้นสมถะมันไม่เกิดภูมิความรู้ อันนี้ก็เข้าใจผิด ความรู้แจ้งเห็นจริง เราจะรู้ชัดเจนในสมาธิขั้นสมถะ เพราะสมาธิขั้นสมถะนี่มันเป็นเช่นนั้น 


คำว่า พุทโธๆ ๆ นี้มันไม่ได้ติดตามไปกับสมาธิ พอจิตสงบเป็นสมาธิแล้วมันทิ้งทันที ทิ้งแล้วมันก็ได้แต่สงบนิ่ง เหลือแต่อนุสติ ๒ คือ กายคตานุสติ อานาปานสติ

ถ้าตามหลักวิชาการท่านว่า ได้ทั้งสมถะทั้งวิปัสสนา ทีนี้ถ้าเราภาวนาพุทโธ เมื่อจิตสงบนิ่ง สว่าง รู้ ตื่น เบิกบาน 

ถ้ามันเพ่งออกไปข้างนอกไปเห็นภาพนิมิต ถ้าหากว่านิมิตนิ่งไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็เป็นสมถกรรมฐาน ถ้าหากนิมิตเปลี่ยนแปลงก็เป็นวิปัสสนากรรมฐาน 

ทีนี้ถ้าหากจิตทิ้งพุทโธ แล้วจิตอยู่นิ่งสว่าง จิตวิ่งเข้ามาข้างใน มารู้เห็นภายในกายรู้อาการ ๓๒ รู้ความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย 

ซึ่งร่างกายปกติแล้วมันตายเน่าเปื่อยผุพัง สลายตัวไป มันเข้าไปกำหนดรู้ความเปลี่ยนแปลงของร่างกายซึ่งร่างกายปกติแล้วมันตายเน่าเปื่อยผุพังสลายไป 

มันเข้าไปกำหนดรู้ความเปลี่ยนแปลงของสภาวะคือ กายกับจิตมันก็เป็นวิปัสสนากรรมฐาน มันก็คลุกเคล้าอยู่ในอันเดียวกันนั้นแหละ
เป็นสมาธิที่อยู่ในฌานมันเกิดอภิญญา ความรู้ยิ่งเห็นจริง 


แต่ความรู้เห็นทุกสิ่งทุกอย่างในขณะที่จิตอยู่ในสมาธิขั้นสมถะ มันจะรู้เห็นแบบชนิดไม่มีภาษาที่จะพูดว่าอะไรเป็นอะไรสักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเห็น เช่น มองเห็นการตาย ตายแล้วมันก็ไม่ว่า เน่าแล้วมันก็ไม่ว่า ผุพังสลายตัวไปแล้วมันก็ไม่ว่า 

นขณะที่มันรู้อยู่นั่น แต่เมื่อมันถอนออกมาแล้วยังเหลือแต่ความทรงจำ จิตจึงจะมาอธิบายให้ตัวเองฟังเพื่อความเข้าใจทีหลังเรียกว่า เจริญวิปัสสนา พิจารณาร่างกายแยกออกเป็นส่วนๆ เราจะมองเห็นว่าในกายของเรานี้ก็ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน มันเป็นแต่เพียง ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เท่านั้นถ้าว่ากายนี้เป็นตัวเป็นต้น 

ทำไมจึงจะเรียกว่าขน ทำไมจึงจะเรียกว่าเล็บ ว่าฟัน ว่าเนื้อ ว่าเอ็น ว่ากระดูก ในเมื่อแยกออกไปเรียกอย่างนั้นแล้ว มันก็ไม่มีสัตว์บุคคลตัวตนเราเขา นอกจากนั้นก็จะมองเห็นอสุภกรรมฐาน เห็นว่าร่างกายนี้เต็มไปด้วยของปฏิกูลน่าเกลียดโสโครกน่าเบื่อหน่าย ไม่น่ายึดมั่นถือว่าเป็นอัตตาตัวตน 

แล้วพิจารณาบ่อยๆ พิจารณาเนืองๆ จนกระทั่งจิตเกิดความสงบ สงบแล้วจิตจะปฏิวัติตัวไปสู่การพิจารณาโดยอัตโนมัติ ผู้ภาวนาก็เริ่มจะรู้แจ้งเห็นจริงในความเป็นจริงของร่างกายอันนี้ 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพิจารณาธาตุ 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ พิจารณากายแยกออกเป็นส่วนๆ ส่วนนี้เป็นดิน ส่วนนี้เป็นน้ำ ส่วนนี้เป็นลม ส่วนนี้เป็นไฟ เราก็จะมองเห็นว่าร่างกายนี้สักแต่ว่าเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ สัตว์บุคคลตัวตนเราเขาไม่มี ก็ทำให้จิตของเรามองเห็นอนัตตาได้เร็วขึ้น 

เพราะฉะนั้นการเจริญกายคตาสติก็ดี การเจริญธาตุกรรมฐานก็ดี จึงเป็นแนวทางให้จิตดำเนินก้าวขึ้นสู่ภูมิแห่งวิปัสสนาได้

และอีกอันหนึ่ง อานาปานสติ ท่านก็ยึดเป็นหลักการสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรรมฐานอานาปานสติ การกำหนดพิจารณากำหนดลมหายใจนั้นจะไปแทรกอยู่ทุกกรรมฐาน จะบริกรรมภาวนาก็ดี จะพิจารณาก็ดี ในเมื่อจิตสงบลงไป ปล่อยวางอารมณ์ที่พิจารณาแล้ว ส่วนใหญ่จิตจะไปรู้อยู่ที่ลมหายใจเข้าออก 


ในเมื่อจิตตามรู้ลมหายใจเข้าออก กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกอยู่เป็นปกติ จิตเอาลมหายใจเป็นสิ่งรู้ สติเอาลมหายใจเป็นสิ่งระลึก ลมหายใจเข้าออกเป็นไปตามปกติของร่างกาย 

เมื่อสติไปจับอยู่ที่ลมหายใจ ลมหายใจก็เป็นฐานที่ตั้งของสติ ลมหายใจเป็นสิ่งที่เกี่ยวเนื่องด้วยกาย สติไปกำหนดรู้อยู่ที่ลมหายใจเข้าออก จดจ่ออยู่ที่ตรงนั้นวิตกถึงลมหายใจ มีสติรู้พร้อมอยู่ในขณะนั้น จิตก็มีวิตกวิจารอยู่กับลมหายใจ 

เมื่อจิตสงบลงไป ลมหายใจก็ค่อยละเอียดๆ ลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งในที่สุดลมหายใจหายขาดไปเมื่อลมหายใจหายขาดไปจากความรู้สึก ร่างกายที่ปรากฏว่ามีอยู่ก็พลอยหายไปด้วย 

ในเมื่อเป็นเช่นนั้น ถ้าหากว่าลมหายใจยังไม่หายขาดไปกายก็ยังปรากฏอยู่ เมื่อจิตตามลมหายใจเข้าไปข้างใน จิตจะไปสงบนิ่งอยู่ในท่ามกลางของกาย แล้วก็แผ่รัศมีออกมารู้ทั่วทั้งกาย 

จิตสามารถที่จะมองเห็นอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายได้หมดทั้งตัว เพราะลมย่อมวิ่งเข้าไปที่ส่วนต่างๆ ของร่างกายลมวิ่งไปถึงไหน จิตก็รู้ไปถึงนั่น ตั้งแต่หัวจรดเท้า ตั้งแต่เท้าจรดหัว ตั้งแต่แขนซ้ายแขนขวา ขาขวาขาซ้าย เมื่อจิตตามลมหายใจเข้าไปแล้วจิตจะรู้ทั่วกายหมด 

ในขณะใดกายยังปรากฏอยู่ จิตสงบอยู่ สงบนิ่ง รู้สว่างอยู่ในกายวิตก วิจาร คือจิตรู้อยู่ภายในกาย สติก็รู้พร้อมอยู่ในกาย ในอันดับนั้นปิติและความสุขย่อมบังเกิดขึ้น เมื่อปิติและความสุขบังเกิดขึ้น จิตก็เป็นหนึ่ง 

นิวรณ์ 5 มีกามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา ก็หายไป จิตกลายเป็นสมถะ มีพลังพอที่จะปราบนิวรณ์ 5 ให้สงบระงับไป ผู้ภาวนาก็จะมองเห็นผลประโยชน์ในการเจริญสมถกรรมฐาน
 
-----------------------------------------------------------------------------------------------






















Monday, March 4, 2013

พระพุทธสุภาษิต ประวัติคำสอนพระอาจารย์หลวงปู่แหวน สุจิณโณ พระอริยสงฆ์ไทย อัฐิเป็นพระธาตุ จัดทำโดย อ.หมอสุชาติ ภูวรัตน์


พระพุทธสุภาษิต 
ประวัติคำสอน
พระอาจารย์หลวงปู่แหวน สุจิณโณ 
พระอริยสงฆ์ไทย อัฐิเป็นพระธาตุ 


จัดทำโดย อ.หมอสุชาติ ภูวรัตน์
นธ.เอกบาลีประโยค 1-2
(อดีตพระธรรมทูตต่างประเทศ)
B.S. Engineering Design Tech.
 B.A. ศาสนศาสตร์บัณฑิต
B.S. Computer Information Systems
B.TM.  พทย์แผนไทยบัณฑิต
สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ
บ.ภ.พท.ว.พท.ผ.พท.น.
ครูแพทย์แผนไทย 4 ด้าน
ศูนย์การแพทย์แผนไทยภูเก็ต
ทำเพื่อการศึกษาและประโยชน์แก่ผู้ชม

พุทธสุภาษิต Buddha's Proverbs:

ทั้งเด็ก ทั้ง ผู้ใหญ่ ทั้งเขลา ทั้งฉลาด ล้วนไปสู่อำนาจแห่งความตาย ล้วนมีความตายในเบื้องหน้า
All sentient being, whether young or old, foolish or wise, are to go to the power of death, which is their destination.

ทรัพย์สักนิดก็ติดตามคนตาย...ไปไม่ได้
Even a piece of coin cannot follow its possessor after his death.

ร่างกายนี้ไม่นานต้องตาย ถูกทิ้งทับบนแผ่นดินดังท่อนไม้ หาประโยชน์อะไรไม่ได้
Before long, this body will lie upon the ground, cast aside, devoid of consciousness. Even as useless charred log.

ทั้งคนรวยคนจน ล้วนมีความตายในเบื้องหน้า
All beings, the rich as well as the poor, are all doomed to death.



ประวัติและคำสอนของหลวงปู่แหวน สุจิณโณ






ประวัติพระอาจารย์หลวงปู่แหวน สุจิณโณ
พระอาจารย์หลวงปู่แหวน สุจิณโณ เกิดในตระกูลของช่างตีเหล็ก เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2430 ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น 3 ค่ำ เดือนยี่ ปีกุน ณ บ้านนาโป่ง ตำบลหนองใน(ปัจจุบันเป็นตำบลนาโป่ง) อำเภอเมือง จังหวัดเลย โดยเป็นบุตรของนายใสกับนางแก้ว รามสิริ โดยมีน้องสาวร่วมบิดา- มารดาอีกหนึ่งคนคือ นางเบ็ง ราชอักษร และบิดามารดาของท่านได้ ตั้งชื่อว่า ญาณ ซึ่งแปลว่า ปรีชา กำหนดรู้

เมื่อท่านมีอายุ ได้ประมาณ 5 ขวบเศษ โยมมารดาของท่านก็ล้มป่วย แม้จะได้รับการดูแลเยียวยารักษาเป็นอย่างดีจากสามี แต่อาการของท่านก็มีแต่ทรงกับทรุด ในที่สุดเมื่อท่านรู้ตัวว่า คงจะไม่รอดชีวิตไปได้แน่แล้วท่านจึงได้เรียกหลวงปู่แหวน เข้าไปใกล้ แล้วกล่าวความฝากฝังเอาไว้ว่า ลูกเอ๋ย แม่ยินดีต่อลูก สมบัติใด ๆ ในโลกนี้ล้วน กี่โกฏิ ก็ตามแม่ไม่ยินดี แม่จะยินดีมากถ้าลูกจะบวชให้แม่ เมื่อลูกบวชแล้วก็ให้ตายกับผ้าเหลือง ไม่ต้องสึกออกมา มีลูกมีเมียนะ  พระอาจารย์หลวงปู่แหวนพยักหน้า รับคำเท่านั้น ดวงวิญญาณของท่านก็ออกจากร่างไป

ต่อมาอีกไม่นาน ดึกสงัดของค่ำคืนวันหนึ่งขณะที่คุณยายของพระหลวงปู่แหวนกำลังนอนหลับสนิทก็เกิดฝันประหลาด อันเป็นมงคลนิมิตหมายที่ดีงาม ท่านจึงได้นำเอาความฝันมาเล่าสู่ลูกหลานและพระหลวงปู่แหวนฟัง ในวันรุ่งขึ้นว่า เมื่อคืนนี้ ยายนอนหลับและได้ฝันประหลาดมาก ฝันว่าเจ้าไปนอนอยู่ในดงขมิ้น จนกระทั่งเนื้อตัวของเจ้าเหลือง อร่ามไปหมด ดูแล้วน่ารักน่าเอ็นดูยิ่งนัก ยายเห็นว่า เจ้านี้จะมีอุปนิสัยวาสนาในทางบวช ฉะนั้นยายขอให้เจ้าบวชตลอดชีวิต และขอให้ตายกับผ้าเหลือง ไม่ต้องสึกออกมามีลูกมีเมียเจ้าจะทำได้ไหม
การบรรพชา
จากนั้น วันเวลาผ่านมาจนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2439 ท่านมีอายุได้ 9 ขวบ คุณยายของท่านที่ได้เลี้ยงดูแลเอาใจใส่มาอย่างทะนุถนอม ได้เรียกท่านพร้อมกับ หลานชายอีกคนหนึ่ง ที่เป็นญาติสนิทรุ่นราวคราวเดียวกัน เข้าไปหาแล้วพูดว่า ยายจะให้เจ้าทั้งสองบวชเป็น สามเณร เมื่อบวชแล้วไมต้องสึก เจ้าจะบวชได้ไหม ท่านหันมามองพระอาจารย์หลวงปู่แหวนอย่างตั้งใจฟังคำตอบ พระอาจารย์หลวงปู่แหวนก็พยักหน้ารับ พอใกล้เข้าพรรษา คุณยายของท่านจึงได้ตระเตรียมเครื่องบริขาร จนครบเรียบร้อยแล้ว จึงได้พาเด็กชายทั้งสองเข้าถวายตัวต่อพระอุปัชฌาย์ซึ่งมีศักดิ์เป็นน้า เข้าพรรษาเป็นสามเณร ณ วัดโพธิ์ชัย พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อจากเด็กชาย ญาณ เป็นสามเณร แหวนนับแต่นั้นมา

ตลอดพรรษาที่ได้บรรพชา เป็นสามเณรนั้น พระอาจารย์หลวงปู่แหวน สุจิณโณ ได้แต่ทำวัตร สวดมนต์บ้างตามโอกาส เท่าที่พระภิกษุและ สามเณร ภายในวัดจะร่วมกันทำ สังฆกรรม นอกจากนั้นก็จะใช้เวลา ไปในทางเล่นซุกซนตามประสาเด็ก 

ในที่สุดพระอาจารย์อ้วน ซึ่งมีศักดิ์เป็นอาของท่าน มองเห็นว่าหากปล่อยให้เป็นไปเช่นนี้ จะทำให้สามเณรน้อยไม่มีความรู้ จึงพาไปฝากฝังถวาย เป็นศิษย์ของท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม (ที่จริงน่าจะเป็นพระอาจารย์เสาร์ กันตะสีโลมากกว่า เพราะพระอาจารย์หลวงปู่แหวนเกิด 16 มกราคม 2430 ส่วนพระอาจารย์สิงห์เกิด 27 มกราคม 2432 พระอาจารย์สิงห์อ่อนกว่าพระหลวงปู่แหวน 2 ปี ) 


ณ วัดบ้านสร้างถ่อ อำเภอกษมสีมา จังหวัดอุบลราชธานี เป็นที่น่าอัศจรรย์ ขณะที่พระอาจารย์อ้วนกำลังพาสามเณรน้อย เดินฝ่าเปลวแดดสีทองมุ่งหน้าเข้าสู่บริเวณวัดในยามบ่ายนั้น พระอาจารย์สิงห์  ขันตยาคโม ศิษย์สำคัญสูงสุดของพระอาจารย์ใหญ่ ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐานคือ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต กำลังมองที่ร่างสามเณรน้อย 


พลันก็บังเกิดฤทธิอำนาจ แห่งอภิญญาณทำให้ท่านเห็นรัศมีเป็นแสงสว่างโอภาส เปล่งประกายออกมาจากร่างของสามเณรน้อยผู้นี้ เป็นผู้ที่มี บุญญาธิการมาเกิด ดั้งนั้นพระอาจารย์สิงห์ จึงได้ถ่ายทอดความรู้ตลอดจนข้อวัตรปฏิบัติทั้งหมดให้

การออกจาริกแสวงบุญ
-ปี พ.ศ. 2464 ได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อศึกษาธรรมกับพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท)

-ปี พ.ศ. 2478 ได้เข้าพบ ท่านเจ้า คุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ ที่วัดเจดีย์หลวงเชียงใหม่ ในครั้งนี้ได้เปลี่ยนจากมหานิกาย เป็นธรรมยุต และได้รับฉายาว่า สุจิณโณ จากนั้นได้ออกจาริกแสวงบุญต่อ ขณะที่ศึกษาธรรมกับพระอาจารย์มั่นฯ ที่ดงมะไฟ บ้านค้อ จังหวัดอุบลราชธานี มีศิษย์พระอาจารย์มั่นฯ ที่มีอัธยาศัย ที่ตรงกัน 2 ท่านคือ พระอาจารย์ขาว อนาลโย และ พระอาจารย์ตื้อ อจลธัมโม เช่นเดียวกับคราวที่ จากท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ ก็ได้ พระอาจารย์ขาว จาริกแสวงธรรมเป็นเพื่อนจนถึงเมืองหลวงพระบาง

-ปี พ.ศ. 2489 หลวงปู่แหวนจำพรรษาที่วัดป่าบ้านปง อ.แม่แตง ในพรรษานั้นท่านอาพาธเป็นแผลที่ขาอักเสบต้องผ่าตัด โดยมีพระอาจารย์หนู สุจิตโต ซึ่งเดินทางมาจากดอยแม่ปั๋งพยายามอยู่ใกล้ๆ เมื่อครบ 7 วัน ต้องกลับไปดอยแม่ปั๋ง เพราะอยู่ระหว่างพรรษา จนกระทั่งเดือนเมษายนในปีต่อมา อาการอาพาธจึงดีขึ้นแต่ก็ยังไม่หายสนิทยังเดินไปไหนไกลๆ ไม่ได้

นับแต่นั้นมาพระอาจารย์หนูได้พยายามอยู่ใกล้ๆ เพื่อดูแลพระอาจารย์หลวงปู่แหวน ต่อมาพระอาจารย์หนูได้ดำริว่า ปัจจุบันพระอาจารย์หลวงปู่แหวนมีอายุมากแล้ว ไม่มีพระภิกษุสามเณรอยู่ด้วย เพื่อเป็นอุปัฏฐาก ถ้านิมนต์มาอยู่ที่ดอยแม่ปั๋งก็จะได้ถวายการดูแลได้โดยง่ายไม่ต้องไปๆ มาๆ อยู่อย่างนี้ แต่ก็ต้องเป็นเพียงความคิดของพระอาจารย์หนูเท่านั้น เพราะในเวลาดังกล่าว ดอยแม่ปั๋งยังไม่มีอะไรพร้อมแม้แต่กุฏิก็ยังไม่มี

-ปี พ.ศ. 2505 ขณะที่พระอาจารย์หลวงปู่แหวนมีอายุ 75 ปี คืนวันหนึ่งพระอาจารย์หนูนั่งภาวนาอยู่เกิดเป็นเสียงพระอาจารย์หลวงปู่แหวนดังขึ้นมาที่หูว่า จะมาอยู่ด้วยคนนะ หลังจากวันที่ได้ยินเสียงพระอาจารย์หลวงปู่แหวนอีกสามวัน พระอาจารย์หนูได้ถูกนิมนต์ไปที่วัดบ้านปงสถานที่ที่พระอาจารย์หลวงปู่แหวนอยู่ และถือโอกาสนิมนต์พระอาจารย์หลวงปู่แหวนมาที่วัดดอยแม่ปั๋งด้วย

เมื่อพระอาจารย์หลวงปู่แหวนได้มาอยู่ที่วัดดอยแม่ปั๋งแล้ว ครั้งแรกท่านพักอยู่ที่กุฏิหลังเล็กๆ หลังหนึ่ง การมาอยู่ที่วัดดอยแม่ปั๋งนี้ ท่านได้มีข้อตกลงกับพระอาจารย์หนูว่า หน้าที่ต่างๆ และกิจทุกอย่างที่มีขึ้นในวัด ให้ตกเป็นภาระของพระอาจารย์หนูแต่เพียงผู้เดียว ส่วนท่านจะอยู่ในฐานะพระผู้เฒ่าผู้ปฏิบัติธรรมจะไม่มีภาระใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากนั้นพระอาจารย์หลวงปู่แหวนจะไม่รับนิมนต์โดยเด็ดขาด แม้ที่สุดถึงจะเกิดอาพาธหนักเพียงใดก็ตาม ท่านไม่ยอมนอนรักษาที่โรงพยาบาล ถึงธาตุขันธ์จะทรงอยู่ต่อไปไม่ได้ก็จะให้สิ้นไปในป่าอันเป็นที่อยู่ ตามอริยะโคตรอริยะวงศ์ ซึ่งบูรพาจารย์ท่านเคยปฏิบัติมาแล้วในกาลก่อน

นับตั้งแต่พระอาจารย์หลวงปู่แหวนได้ขึ้นไปทางเหนือ ท่านไม่เคยไปจำพรรษาที่ภาคอื่นเลย เพราะอากาศทางภาคเหนือ สัปปายะ สบายสำหรับท่าน พระอาจารย์หลวงปู่แหวนได้มรณภาพลงที่วัดดอยแม่ปั๋งแห่งนี้ เมื่อวันที่ 2 ก.ค.2528 สิริอายุ 98 ปี

คำสอน
อดีตก็เป็นทำเมา อนาคตก็เป็นทำเมา จิตดิ่งอยู่ในปัจจุบัน รู้อยู่ในปัจจุบัน ละอยู่ในปัจจุบันนี้จึงเป็นพุทโธ เป็นธัมโม ปัจจุบันก็พอแล้ว อดีต และอนาคตไม่ต้องคำนึงถึง เกิด แก่ เจ็บ ตาย วัน คืน เดือน ปี สิ้นไป หมดไป อายุเราก็หมดไป สิ้นไป หมั่นบำเพ็ญจิต บำเพ็ญทาน รักษาศีล ภาวนาต่อไป


-------------------------------------------------------------------------------------------------------