Search This Blog / The Web ค้นหาบล็อค / เว็บ

Sunday, May 11, 2014

ประวัติ-คำสอนของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต พระอริยสงฆ์ไทยผู้มีอัฐิเป็นพระธาตุ รวบรวมจัดทำโดย อ. สุชาติ ภูวรัตน์

ประวัติ การปฏิบัติธรรม และคำสอนของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต 

(พระอริยสงฆ์ผู้ปฏิบัติดี มีอัฐิเป็นพระธาตุ)





จัดทำโดย อ.สุชาติ ภูวรัตน์
นธ.เอกบาลีประโยค 1-2
(อดีตพระธรรมทูตต่างประเทศ)
B.S. Engineering Design Tech.
 B.A. ศาสนศาสตร์บัณฑิต
B.S. Computer Information Systems
B.TM.  พทย์แผนไทยบัณฑิต
สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ
บ.ภ.พท.ว.พท.ผ.พท.น.
ครูแพทย์แผนไทย 4 ด้าน
ศูนย์การแพทย์แผนไทยภูเก็ต
ทำเพื่อการศึกษาและประโยชน์แก่ผู้ชม


ประวัติ การปฏิบัติธรรม และคำสอนของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

             ท่านกำเนิดในสกุลแก่นแก้ว บิดาชื่อคำด้วง มารดาชื่อ จันทร์ เพียแก่นท้าว เป็นปู่ นับถือพุทธศาสนา เกิดวันพฤหัสบดี เดือนยี่ ปีมะแม ตรงกับวันที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๑๓ ณ บ้านคำบง ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน ๗ คน ท่านเป็นบุตรคนหัวปี 

ท่านเป็นคนร่างเล็ก ผิวดำแดง แข็งแรงว่องไว สติปัญญาดี มาแต่กำเนิด ฉลาด เป็นผู้ว่านอนสอนง่าย ได้เรียนอักษรสมัยในสำนักของอา คือ เรียนอักษรไทยน้อย อักษรไทย อักษรธรรม และอักษรขอม อ่านออกเขียนได้ นับว่าท่านเรียนได้รวดเร็ว เพราะมีความทรงจำดี และขยันหมั่นเพียร ชอบการเล่าเรียน ชีวิตสมณะ

การแสวงหาธรรม และการปฏิบัติธรรม

         เมื่อหลวงปู่มั่นอายุได้ ๑๕ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรในสำนักสงฆ์บ้านคำบง ใครเป็นบรรพชาจารย์ไม่ปรากฏ ครั้นบวชแล้วได้ศึกษา หาความรู้ ทางพระศาสนามีสวดมนต์ และพระสูตรต่าง ๆ ในสำนักสงฆ์ของบรรพชาจารย์ จดจำได้รวดเร็ว พระอาจารย์มีเมตตาปราณีมาก เพราะเอาใจใส่ในการเรียนดี ประพฤติปฏิบัติเรียบร้อย เป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้ เมื่อท่านอายุได้ ๑๗ บิดาขอร้องให้ลาสิกขาเพื่อช่วย การงานทางบ้าน 

 ท่านได้ลาสิกขาออกไปช่วยงานบิดามารดา เต็มความสามารถ ท่านเล่าว่า เมื่อลาสิกขาไปแล้ว ยังคิดที่จะบวชอีกอยู่เสมอไม่เคยลืมเลย คงเป็นเพราะอุปนิสัย ในทางบวช มาแต่ก่อนหนหนึ่ง อีกอย่างหนึ่ง เพราะติดใจในคำสั่งของยายว่า เจ้าต้องบวชให้ยาย เพราะยายก็ได้เลี้ยงเจ้ายาก คำสั่งของยายนี้ คอยสะกิดใจอยู่เสมอ 

         ครั้นอายุหลวงปู่มั่นได้ ๒๒ ปี ท่านเล่าว่า มีความอยากบวชเป็นกำลัง จึงอำลาบิดามารดาบวช ท่านทั้งสองก็อนุมัติตามประสงค์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และได้ศึกษากับพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ที่วัดเลียบ จังหวัดอุบลราชธานี 

 ได้รับอุปสมบท เป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา ณ วัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม) อำเภอเมือง  จังหวัดอุบลราชธานี มีพระอริยกวี (อ่อน) เป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระครูสีทา ชยเสโน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และมีพระครูประจักษ์อุบลคุณ (สุ่ย) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๓๖ พระอุปัชฌาย์ ให้ฉายาว่า ภูริทัตโต เมื่ออุปสมบทแล้ว ได้กลับมาศึกษาวิปัสสนาธุระกับพระอาจารย์เสาร์กันตสีลโล ณ วัดเลียบ ต่อไป
  
         เมื่อแรกอุปสมบท หลวงปู่มั่น อยู่ที่วัดเลียบ เมืองอุบล เป็นปกติ ออกไปอาศัยอยู่วัดบูรพาราม เมืองอุบลบ้างเป็นครั้งคราว ในระหว่างนั้น ได้ศึกษาข้อปฏิบัติเบื้องต้น อันเป็นส่วนแห่งพระวินัยคือ อาจาระ ความประพฤติมารยาท อาจาริยวัตร และอุปัชฌายวัตร ปฏิบัติได้เรียบร้อยดี จนเป็นที่ไว้วางใจของพระอุปัชฌายาจารย์ และได้ศึกษาข้อปฏิบัติอบรมจิตใจ คือ เดินจงกลม นั่งสมาธิ สมาทาน ธุดงควัตร ต่าง ๆ
    
         ในสมัยต่อมา ได้แสวงหาวิเวก บำเพ็ญสมณธรรมในที่ต่าง ๆ ตามราวป่า ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง หุบเขา ซอกห้วย ธารเขา เงื้อมเขาท้องถ้ำ เรือนว่าง ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงบ้าง ฝั่งขวาแม่น้ำโขงบ้าง แล้วลงไปศึกษากับพระนักปราชญ์ในกรุงเทพฯ จำพรรษาอยู่ที่ วัดปทุมวนาราม หมั่นไปสดับธรรมเทศนา กับเท่าเจ้าคุณพระอุบาลี (จันทร์ สิริจันโท) ๓ พรรษา 

 แล้วออกแสวงหาวิเวกในถิ่นภาคกลาง คือ ถ้ำสาริกา เขาใหญ่ นครนายก ถ้ำไผ่ขวาง เขาพระงาม แล ถ้ำสิงโต ลพบุรี จนได้รับความรู้แจ้ง ในพระธรรมวินัย สิ้นความสงสัย ในพุทธศาสนา จึงกลับมาภาคอีสาน ทำการอบรมสั่งสอน สมถะวิปัสสนา แก่สหธรรมิก และอุบาสก อุบาสิกา ต่อไป มีผู้เลื่อมใสพอใจปฏิบัติตามมากขึ้นโดยลำดับ มีศิษยานุศิษย์ (ศิษย์ และอนุศิษย์) แพร่หลาย กระจายทั่วภาคอีสาน
    
         ในกาลต่อมา ได้ลงไปพักจำพรรษาที่วัดปทุมวนาราม กรุงเทพ ฯ อีก ๑ พรรษา แล้วไปเชียงใหม่กับ เจ้าพระคุณอุบาลี (จันทร์ สิริจันโท) จำพรรษา วัดเจดีย์หลวง ๑ พรรษาแล้วออกไปพักตามที่วิเวก ต่าง ๆ ในเขตภาคเหนือหลายแห่ง เพื่อสงเคราะห์สาธุชนในที่นั้น ๆ นานถึง ๑๑ ปี จึงได้กลับมา จังหวัดอุบลราชธานี 

 พักจำพรรษาอยู่ที่วัดโนนนิเวศน์ เพื่ออนุเคราะห์สาธุชนในที่นั้น ๒ พรรษา แล้วมาอยู่ในเขตจังหวัดสกลนคร จำพรรษาที่ วัดป่าบ้านนามน ตำบลตองขอบ อำเภอเมืองสกลนคร (ปัจจุบัน คือ อำเภอ โคกศรีสุพรรณ) ๓ พรรษาจำพรรษาที่ วัดหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอเมืองพรรณานิคม ๕ พรรษา เพื่อสงเคราะห์สาธุชนในถิ่นนั้น มีผู้สนใจในธรรมปฏิบัติ ได้ติดตามศึกษาอบรมจิตใจมากมาย มีศิษยานิศิษย์มากหลาย ยังเกียรติคุณของท่าน ให้ฟุ้งเฟื่องเลื่องลือไป

การถือปฏิบัติธุดงควัตร (การขัดเกลากิเลสอย่างหยาบ) เป็นประจำ ๔ ประการ

     ๑. ปังสุกุลิกังคธุดงค์ ถือนุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นนิจ จนกระทั่งวัยชรา จึงได้ใช้ คหบดีจีวรบ้าง เพื่ออนุเคราะห์แก่ผู้ศรัทธานำมาถวาย

     ๒. บิณฑบาติกังคธุดงค์ คือภิกขาจารยวัตร เที่ยวบิณฑบาตมาฉันเป็นนิจ แม้อาพาธ ไปในละแวกบ้านไม่ได้ ก็บิณฑบาตในเขตวัด บนศาลาฉัน จนกระทั้งอาพาธ ลุกไม่ได้ในปัจฉิมสมัยจึงงดบิณฑบาต

     ๓. เอกปัตติกังคธุดงค์ คือฉันในบาต ใช้ภาชนะใบเดียวเป็นนิจ จนกระทั่งถึงสมัยอาพาธในปัจฉิมสมัยจึงงด

     ๔. เอกาสนิกังคธุดงค์ ถือฉันหนเดียวเป็นนิจ ตลอดเวลาแม้อาพาธหนัก ในปัจฉิมสมัย ก็มิได้เลิกละ ส่วนธุดงควัตรนอกนี้ ได้ถือปฏิบัติเป็นครั้งคราว ที่นับว่าปฏิบัติได้มาก ก็คือ อรัญญิกกังคธุดงค์ คืออยู่เสนาสนะป่า ห่างบ้านประมาณ ๒๕ เส้น หลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ตามสมณะวิสัย

         เมื่อถึงวัยชรา จึงอยู่ในเสนาสนะป่าห่างจากบ้านพอสมควร ซึ่งพอเหมาะกับกำลัง ที่จะภิกขาจาร บิณฑบาต เป็นที่ ๆ ปราศจากเสียงอื้ออึง ประชาชนเคารพยำเกรง ไม่รบกวน นัยว่า ในสมัยที่ท่านยังแข็งแรง ได้ออกจาริกโดดเดี่ยวแสวงวิเวกไปในป่าดงพงลึก จนสุดวิสัยที่ศิษยานุศิษย์จะติดตามไปถึงได้ก็มี เช่นคราวที่ไปอยู่ภาคเหนือ เป็นต้น ท่านไปวิเวกบนเขาสูง อันเป็นที่อยู่ของพวก มูเซอร์ ทำให้ชาวมูเซอร์ที่พูดไม่รู้เรื่องกัน ให้บังเกิดศรัทธาในพระพุทธศาสนาได้

ธรรมโอวาท คำที่เป็นคติ อันท่านอาจารย์กล่าวอยู่บ่อย ๆ ที่เป็นหลักวินิจฉัยความดีที่ทำด้วย กาย วาจา ใจ แก่ศิษยานุศิษย์ ดังนี้
    
         ๑. ดีใดไม่มีโทษ ดีนั้นนับว่าเป็นเลิศ
         ๒. ได้สมบัติทั้งปวง ไม่ประเสริฐเท่าได้ตน เพราะตัวตนเป็นที่เกิดแห่งสมบัติทั้งปวง
 
         เมื่อท่านอธิบาย ตจปัญจกกรรมฐาน (มูลกรรมฐาน ๕) จบลง มักจะกล่าวเตือนเป็นคำกลอนว่าแก้ให้ตกเน้อ แก้บ่ตก คาพกจ้าไว้ แก้บ่ได้ แขวนคอต่องแต่ง แก้บ่พ้น คาก้นย่างยาย คาย่างยาย เวียนตายเวียนเกิด เวียนเอากำเนิดในภพทั้งสาม ภพทั้งสามเป็นเฮือน เจ้าอยู่ ดังนี้
         เมื่อคราวท่านเทศนาสั่งสอนพระภิกษุ ผู้เป็นสานุศิษย์ ถือลัทธิฉันเจให้เข้าใจในทางถูก และเลิกลัทธินั้น ครั้นจบลงแล้วได้กล่าวเป็นคติขึ้นว่า เหลือแต่เว้าบ่เห็น บ่อนเบาหนัก เดินบ่ไปตามทาง สิถึกดงเสือฮ้ายดังนี้แล การบำเพ็ญสมาธิ เอาแต่เพียงเป็นบาทของวิปัสสนา คือ การพิจารณาก็พอแล้ว ส่วนการจะอยู่ในวิหารธรรมนั้น ก็ให้กำหนดรู้ ถ้าใครกลัวตาย เพราะบทบาททางความเพียร ผู้นั้น จะกลับมาตายอีก หลายภพหลายชาติ ไม่อาจนับได้ 

 ส่วนผู้ใดไม่กลัวตาย ผู้นั้นจะตัดภพชาติให้น้อยลง ถึงกับไม่มีภพชาติเหลืออยู่ และผู้นั้นแล จะเป็นผู้ไม่กลับหลังมาหาทุกข์อีก ธรรมะเรียนมาจากธรรมชาติ เห็นความเกิดแปรปรวนของสังขาร ประกอบด้วยไตรลักษณ์ ปัจฉิมโอวาทของ พระพุทธเจ้าโดยแท้ ๆ 

ถ้าเข้าใจในโอวาทปาฏิโมกข์ ท่านพระอาจารย์มั่นแสดงโดยยึดหลักธรรมชาติของศีลธรรม ทางด้านการปฏิบัติ เพื่อเตือนนักปฏิบัติทั้งหลายท่าน แสดงเอาแต่ใจความว่า

การไม่ทำบาปทั้งปวง  การทำกุศล ให้ถึงพร้อม และการทำจิตใจให้ผ่องใส
คือ คำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

         การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำกุศล (การทำความฉลาดในการละกิเลส) ให้ถึงพร้อม การทำจิตใจของตนให้ผ่องใส คือ ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย  การไม่ทำบาป ถ้าทางกายไม่ทำ แต่ทางวาจายังทำอยู่ ถ้าทางวาจาไม่ทำ แต่ทางใจก็ทำ สั่งสมบาปตลอดวัน จนถึงเวลาหลับ พอตื่นจากหลับ ก็เริ่มสั่งสมบาปต่อไปจนถึงขณะหลับอีก เป็นทำนองนี้ โดยมิได้สนใจว่า ตัวทำบาป หรือสั่งสมบาปเลย แม้กระนั้น ยังหวังใจอยู่ว่า ตนมีศีลธรรม และคอยแต่เอาความบริสุทธิ์ จากความมีศีลธรรม ที่ยังเหลือแต่ชื่อเท่านั้น ฉะนั้น จึงไม่เจอความบริสุทธิ์ กลับเจอแต่ความเศร้าหมอง ความวุ่นวายในใจตลอดเวลา ทั้งนี้เพราะ ตนแสวงหาสิ่งนั้น ก็ต้องเจอสิ่งนั้น ถ้าไม่เจอสิ่งนั้น จะให้เจออะไรเล่า เพราะเป็นของที่มีอยู่ ในโลกสมมุติอย่างสมบูรณ์

การบำเพ็ญประโยชน์ ของหลวงปู่มั่น  ๒ ประการ
    
๑.     ประโยชน์ชาติ ท่านหลวงปู่ ได้เอาธุระเทศนาอบรมสั่งสอนศีลธรรมอันดีงาม แก่ประชาชนพลเมือง ของทุกชาติ ในทุก ๆ ถิ่น ที่ท่านได้สัญจรไป คือ ภาคกลางบางส่วน ภาคเหนือเกือบทั่วทุกจังหวัด ภาคอีสานเกือบทั่วทุกจังหวัด 

   ไม่กล่าวสอนให้เป็นปฏิปักษ์ ต่อการปกครองของประเทศทำให้พลเมืองของชาติ ผู้ได้รับคำสั่งสอน เป็นคนมีศีลธรรมดี มีสัมมาอาชีพง่ายแก่การปกครอง ของ ผู้ปกครองชื่อว่า ได้บำเพ็ญประโยชน์แก่ชาติ ตามควรแก่สมณะวิสัย

         ๒. ประโยชน์ศาสนา ท่านหลวงปู่ ได้บรรพชา และอุปสมบทเข้ามาในพระพุทธศาสนานี้ ด้วยความเชื่อ และความเลื่อมใสจริง ๆ ครั้นบวชแล้ว ก็ได้ เอาธุระทางพระพุทธศาสนาด้วยความอุตสาหะพากเพียรจริง ๆ ไม่ทอดธุระในการบำเพ็ญ สมณะธรรม
    
         หลวงปู่มั่น ท่านปฏิบัติธุดงควัตรเคร่งครัด ถึง ๔ ประการดังกล่าวแล้ว ในเบื้องต้น ได้ดำรงรักษาสมณะกิจไว้มิให้เสื่อมสูญได้นำหมู่คณะ ฟื้นฟูปฏิบัติพระธรรมวินัย ได้ถูกต้องตามพุทธบัญญัติ และพระพุทธโอวาท หมั่นอนุศาสน์สั่งสอนศิษยานุศิษย์ ให้ฉลาดอาจหาญในการฝึกฝนอบรมจิตใจตามหลักการสมถะวิปัสสนา อันเป็นสมเด็จพระบรมศาสดาได้ตรัสสอนไว้ 

 เป็นผู้มีนำใจเด็ดเดี่ยวอดทนไม่หวั่นไหวต่อ โลกธรรม แม้จะถูกกระทบกระทั่งด้วยโลกธรรมอย่างไร ก็มิได้แปรเปลี่ยนไปตาม ความมั่นอยู่ในธรรมวินัย ตามที่พระบรมศาสดาประกาศแล้วตลอดมาทำตัวให้เป็น ทิฏฐานุคติ แก่ศิษยานุศิษย์เป็นอย่างดี

ท่านได้จาริกไปตามสถานที่วิเวกต่าง ๆ คือ บางส่วนของภาคกลาง เกือบทั่วทุกจังหวัด ในภาคเหนือ เกือบทุกจังหวัด ของภาคอีสานและแถมบางส่วนของต่างประเทศอีกด้วย นอกจากเพื่อวิเวกในส่วนตนแล้ว ท่านมุ่งไปเพื่อสงเคราะห์ผู้มีอุปนิสัยในถิ่นนั้น ๆ ด้วย ผู้ได้รับสงเคราะห์ ด้วยธรรมจากท่านแล้ว ย่อมกล่าวไว้ด้วยความภูมิใจว่า ไม่เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ที่ได้พบพระพุทธศาสนา

         ในวงการคณะสงฆ์ ท่านหลวงปู่ ได้รับพระกรุณาจากพระสังฆราชเจ้าในฐานะเจ้าคณะใหญ่ คณะธรรมยุต ให้เป็นพระอุปัชฌายะ ในคณะธรรมยุต ตั้งแต่อยู่จังหวัดเชียงใหม่ และได้รับแต่งตั้งเป็น พระครูวินัยธรฐานานุกรม ของ เจ้าพระคุณพระอุบาลี (จันทร์ สิริจันโท) ท่านก็ได้ทำหน้าที่นั้นโดยเรียบร้อย ตลอดเวลาที่ยังอยู่เชียงใหม่ ครั้นจากเชียงใหม่มาแล้ว ท่านก็งดหน้าที่นั้น โดยอ้างว่าแก่ชราแล้ว ขออยู่ตามสบาย

งานศาสนาในด้านวิปัสสนาธุระ นับว่า ท่านได้ทำเต็มสติกำลัง ยังศิษยานุศิษย์ ทั้งบรรพชิต และคฤหัสถ์ ให้อาจหาญรื่นเริงในสัมมาปฏิบัติ ตลอดมา นับแต่พรรษาที่ ๒๓ จนถึงพรรษาที่๕๙ อันเป็นปีสุดท้ายแห่งชีวิตของท่าน อาจกล่าวได้ ด้วยความภาคภูมิใจว่า ท่านเป็นพระเถระ ที่มีเกียรติคุณ เด่นที่สุดในด้านวิปัสสนาธุระรูปหนึ่ง ในยุคปัจจุบัน
การเข้าสู่พระนิพพานของหลวงปู่มั่น

ในวัยชรา นับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็นต้นมา ท่านหลวงปู่มั่นมาอยู่ที่จังหวัดสกลนคร เปลี่ยนอิริยาบถไปตามสถานที่วิเวก ผาสุกวิหารหลายแห่งคือ ณ เสนาสนะป่า บ้านนามน  ตำบลตองขอบ อำเภอเมือง  (ปัจจุบัน เป็นอำเภอ โคกศรีสุพรรณ) บ้าง ที่ใกล้ ๆ แถวนั้นบ้าง ครั้น พ.ศ. ๒๔๘๗ จึงย้ายไปอยู่เสนาสนะป่าบ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร จนถึงปีสุดท้ายของชีวิต
ตลอดเวลา ๘ ปี ในวัยชรานี้ ท่านได้เอาธุระ อบรมสั่งสอน ศิษยานุศิษย์ทางสมถะวิปัสสนาเป็นอันมาก ได้มีการเทศนาอบรมจิตใจศิษยานุศิษย์เป็นประจำวัน ศิษย์ผู้ใกล้ชิด ได้บันทึกธรรมเทศนาของท่านไว้ และได้รวบรวมพิมพ์ขึ้นเผยแพร่ แล้วให้ชื่อว่า มุตโตทัย

ครั้นมาถึงปี พ.ศ.๒๔๙๒ ซึ่งเป็นปีที่ท่านมีอายุย่างขึ้น ๘๐ ปี ท่านเริ่มอาพาธเป็นไข้ ศิษย์ผู้อยู่ใกล้ชิด ได้เอาธุระรักษาพยาบาล ไปตามกำลังความสามารถ อาพาธก็สงบไปบ้างเป็นครั้งคราว แต่แล้วก็กำเริบขึ้นอีก เป็นเช่นนี้เรื่อยมาจนจวนออกพรรษา อาพาธก็กำเริบมากขึ้น ข่าวนี้ได้กระจายไปโดยรวดเร็ว 

ออกพรรษาศิษยานุศิษย์ผู้อยู่ไกล ต่างก็ทยอยกันเข้ามาปรนนิบัติพยาบาล ได้เชิญหมอแผนปัจจุบันมาตรวจ และรักษา แล้วนำมาที่เสนาสนะป่าบ้านภู่ อำเภอพรรณานิคม เพื่อสะดวกแก่ผู้รักษา และ ศิษยานุศิษย์ ก็มาเยี่ยมพยาบาลอาการอาพาธ มีแต่ทรงกับทรุด โดยลำดับ

ครั้นเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๒ ได้นำท่านมาถึงวัดป่าสุทธาวาส ท่านก็ถึงแก่มรณภาพด้วยอาการสงบ เมื่อเวลา ๐๒.๒๓ น. ของวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ศกเดียวกัน ท่ามกลางศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย มีท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ เป็นต้น สิริชนมายุของท่านอาจารย์ได้ ๗๙ ปี ๙ เดือน ๒๑ วัน รวม ๕๖ พรรษา


คำสอนของพระอาจารย์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต (มุตโตทัย 17 ข้อ)

บันทึกโดยพระอาจารย์วิริยังค์  สิรินธโร
( พระราชธรรมเจติยาจารย์ วัดธรรมมงคล กรุงเทพฯ )
ณ วัดป่าบ้านนามน กิ่ง อ. โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร
พ.ศ. 2486  มีหัวข้อธรรมดังต่อไปนี้

ข้อ 1. การปฏิบัติ เป็นเครื่องยังพระสัทธรรมให้บริสุทธิ์
             สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่าธรรมของพระตถาคต เมื่อเข้าไปประดิษฐานในสันดานของปุถุชนแล้ว ย่อมกลายเป็นของปลอม (สัทธรรมปฏิรูป) แต่ถ้าเข้าไปประดิษฐานในจิตสันดานของพระอริยะเจ้าแล้วไซร้ ย่อมเป็นของบริสุทธิ์แท้จริง และเป็นของไม่ลบเลือนด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อยังเพียรแต่เรียนพระปริยัติถ่ายเดียว จึงยังใช้การไม่ได้ดี

ต่อเมื่อมาฝึกหัดปฏิบัติจิตใจกำจัดเหล่า กะปอมก่า คือ อุปกิเลส แล้วนั่นแหละ จึงจะยังประโยชน์ให้สำเร็จเต็มที่ และทำให้พระสัทธรรมบริสุทธิ์ ไม่วิปลาสคลาดเคลื่อนจากหลักเดิมด้วย

ข้อ 2. การฝึกตนดีแล้วจึงฝึกผู้อื่น ชื่อว่าทำตามพระพุทธเจ้า
 ปุริสะทัมมะสาระถิ สัตถา เทวะมนุสสานัง พุทโธ ภะคะวา
             สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงทรมานฝึกหัดพระองค์จนได้ตรัสรู้พระอนุตตะระสัมมาสัมโพธิญาณ เป็น พุทโธ ผู้รู้ก่อนแล้วจึงเป็น ภควา ผู้ทรงจำแนกแจกธรรมสั่งสอนเวไนยสัตว์ สัตถา จึงเป็นครูของเทวดาและมนุษย์ เป็นผู้ฝึกบุรุษผู้มีอุปนิสัยบารมีควรแก่การทรมานในภายหลัง จึงทรงพระคุณปรากฏว่า กัลยาโณ กิตติสัทโท อัพภุคคะโต ชื่อเสียงเกียรติศัพท์อันดีงามของพระองค์ย่อมฟุ้งเฟื่องไปในจตุรทิศจนตราบเท่าทุกวันนี้

 แม้พระอริยะสงฆ์สาวกเจ้าทั้งหลายที่ล่วงลับไปแล้วก็เช่นเดียวกัน ปรากฏว่าท่านฝึกฝนทรมานตนได้ดีแล้ว จึงช่วยพระบรมศาสดาจำแนกแจกธรรม สั่งสอนประชุมชนในภายหลัง ท่านจึงมีเกียรติคุณปรากฏเช่นเดียวกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ถ้าบุคคลใดไม่ทรมานตนให้ดีก่อนแล้ว และทำการจำแนกแจกธรรมสั่งสอนไซร้ ก็จักเป็นผู้มีโทษ ปรากฏว่า ปาปะโกสัทโท คือเป็นผู้มีชื่อเสียงชั่วฟุ้งไปในจตุรทิศ เพราะโทษที่ไม่ทำตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอริยะสงฆ์สาวกเจ้าในก่อนทั้งหลาย

ข้อ 3. มูลมรดกอันเป็นต้นทุนทำการฝึกฝนตน
 เหตุใดหนอ ปราชญ์ทั้งหลาย จะสวดก็ดี จะรับศีลก็ดี หรือจะทำการกุศลใดๆ ก็ดี จึงต้องตั้ง นะโม ก่อน จะทิ้ง นะโม ไม่ได้เลย เมื่อเป็นเช่นนี้ นะโม ก็ต้องเป็นสิ่งสำคัญ จึงยกขึ้นพิจารณา ได้ความว่า  คือธาตุน้ำ โม คือ ธาตุดิน พร้อมกับบาทพระคาถา ปรากฏขึ้นมาว่า มาตาเปติกะสมุภะโว โอทะนะกุมมาสะปัจจะโย สัมภะวะธาตุของมารดาบิดาผสมกัน จึงเป็นตัวตนขึ้นมาได้ น เป็นธาตุของ มารดา โม เป็นธาตุของ บิดา ฉะนั้นเมื่อธาตุทั้ง 2 ผสมกันเข้าไป ไฟธาตุของมารดาเคี่ยวเข้าจนได้นามว่า กลละ คือ น้ำมันหยดเดียว ณ ที่นี้เอง ปฏิสนธิวิญญาณเข้าถือปฏิสนธิได้ จิตจึงได้ถือปฏิสนธิในธาตุ นะโม นั้น 

เมื่อจิตเข้าไปอาศัยแล้ว กลละ ก็ค่อยเจริญขึ้นเป็น อัมพุชะ คือเป็นก้อนเลือด เจริญจากก้อนเลือดมาเป็น ฆะนะ คือเป็นแท่ง และ เปสี คือชิ้นเนื้อ แล้วขยายตัวออกคล้ายรูปจิ้งเหลน จึงเป็นปัญจะสาขา คือ แขน 2 ขา 2 หัว 1 ส่วนธาตุ  คือลม  คือไฟ นั้นเป็นธาตุเข้ามาอาศัยภายหลังเพราะจิตไม่ถือ เมื่อละจากกลละนั้นแล้ว กลละก็ต้องทิ้งเปล่าหรือสูญเปล่า ลมและไฟก็ไม่มี คนตาย ลมและไฟก็ดับหายสาบสูญไป จึงว่าเป็นธาตุอาศัย ข้อสำคัญจึงอยู่ที่ธาตุทั้ง 2 คือ นะโม เป็นเดิม

ในกาลต่อมาเมื่อคลอดออกมาแล้วก็ต้องอาศัย นะ มารดา โม บิดา เป็นผู้ทะนุถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงมาด้วยการให้ข้าวสุกและขนมกุมมาส เป็นต้น ตลอดจนการแนะนำสั่งสอนความดีทุกอย่าง ท่านจึงเรียกมารดาบิดาว่า บุพพาจารย์ เป็นผู้สอนก่อนใครๆ ทั้งสิ้น มารดาบิดาเป็นผู้มีเมตตาจิตต่อบุตรธิดาจะนับจะประมาณมิได้ มรดกที่ทำให้กล่าวคือรูปกายนี้แล เป็นมรดกดั้งเดิมทรัพย์สินเงินทองอันเป็นของภายนอกก็เป็นไปจากรูปกายนี้เอง ถ้ารูปกายนี้ไม่มีแล้วก็ทำอะไรไม่ได้ ชื่อว่าไม่มีอะไรเลยเพราะเหตุนั้นตัวของเราทั้งตัวนี้เป็น "มูลมรดก" ของมารดาบิดาทั้งสิ้น จึงว่าคุณท่านจะนับจะประมาณมิได้เลย ปราชญ์ทั้งหลายจึงหาได้ละทิ้งไม่ เราต้องเอาตัวเราคือ นะโม ตั้งขึ้นก่อนแล้วจึงทำกิริยาน้อมไหว้ลงภายหลัง นะโม ท่านแปลว่านอบน้อมนั้นเป็นการแปลเพียงกิริยา หาได้แปลต้นกิริยาไม่ มูลมรดกนี้แลเป็นต้นทุน ทำการฝึกหัดปฏิบัติตนไม่ต้องเป็นคนจนทรัพย์สำหรับทำทุนปฏิบัติ

ข้อ 4. มูลฐานสำหรับทำการปฏิบัติ
         นะโม นี้ เมื่อกล่าวเพียง 2 ธาตุเท่านั้น ยังไม่สมประกอบหรือยังไม่เต็มส่วน ต้องพลิกสระพยัญชนะดังนี้ คือ เอาสระ อะ จากตัว น มาใส่ตัว ม เอาสระ โอ จากตัว ม มาใส่ตัว น แล้วกลับตัว มะ มาไว้หน้าตัว โน เป็น มะโน แปลว่าใจ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงได้ทั้งกายทั้งใจเต็มตามส่วน สมควรแก่การใช้เป็นมูลฐานแห่งการปฏิบัติได้ มโน คือใจนี้เป็นดั้งเดิม เป็นมหาฐานใหญ่ จะทำจะพูดอะไรก็ย่อมเป็นไปจากใจนี้ทั้งหมด ได้ในพระพุทธพจน์ว่า มะโนปุพพังคะมา ธัมมา มะโนเสฏฐา มะโนมะยา ธรรมทั้งหลายมีใจถึงก่อน มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใจ

พระบรมศาสดาจะทรงบัญญัติพระธรรมวินัย ก็ทรงบัญญัติออกไปจาก ใจ คือมหาฐาน นี้ทั้งสิ้น เหตุนี้เมื่อพระสาวกผู้ได้มาพิจารณาตามจนถึงรู้จัก มะโน แจ่มแจ้งแล้ว มะโน ก็สุดบัญญัติ คือพ้นจากบัญญัติทั้งสิ้น สมมติทั้งหลายในโลกนี้ต้องออกไปจากมโนทั้งสิ้น ของใครก็ก้อนของใคร ต่างคนต่างถือเอาก้อนอันนี้ ถือเอาเป็นสมมติบัญญัติตามกระแสแห่งน้ำโอฆะจนเป็นอวิชชาตัวก่อภพก่อชาติด้วยการไม่รู้เท่า ด้วยการหลง หลงถือว่าเป็นตัวเรา เป็นของเราไปหมด

ข้อ 5. มูลเหตุแห่งสิ่งทั้งหลายในสากลโลกธาตุ
                พระอภิธรรม 7 คัมภีร์ เว้นมหาปัฏฐาน มีนัยประมาณเท่านั้นเท่านี้ ส่วนคัมภีร์มหาปัฏฐาน มีนัยหาประมาณมิได้เป็น "อนันตะนัย" เป็นวิสัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นที่จะรอบรู้ได้ เมื่อพิจารณาพระบาลีที่ว่า เหตุปัจจะโย นั้นได้ความว่า เหตุซึ่งเป็นปัจจัยดั้งเดิมของสิ่งทั้งหลายในสากลโลกธาตุนั้นได้แก่ มโน นั่นเอง มโน เป็นตัวมหาเหตุเป็นตัวเดิม เป็นสิ่งสำคัญ นอนนั้นเป็นแต่อาการเท่านั้น อารัมมะณะ จนถึงอะวิคคะตะ จะเป็นปัจจัยได้ก็เพราะมหาเหตุคือใจเป็นเดิมโดยแท้ ฉะนั้น มะโนซึ่งกล่าวไว้ในข้อ 4 ก็ดี ฐีติ ภูตัง ซึ่งจะกล่าวในข้อ 6 ก็ดี และมหาธาตุซึ่งกล่าวในข้อนี้ก็ดี ย่อมมีเนื้อความเป็นอันเดียวกัน 

พระบรมศาสดาจะทรงบัญญัติพระธรรมวินัยก็ดี รู้อะไรๆ ได้ด้วย ทศพลญาณ ก็ดี รอบรู้ สัพพะเญยยะธรรม ทั้งปวงก็ดี ก็เพราะมีมหาเหตุนั้นเป็นดั้งเดิมทีเดียว จึงทรงรอบรู้ได้เป็นอนันตะนัย แม้สาวทั้งหลายก็มีมหาเหตุนี้แลเป็นเดิม จึงสามารถรู้ตามคำสอนของพระองค์ได้ด้วย

เหตุนี้แลพระอัสสะชิเถระผู้เป็นที่ 5 ของพระปัญจวัคคีย์จึงแสดงธรรมแก่ อุปะติสสะ (พระสารีบุตร) ว่า เย ธัมมา เหตุปะภะวา เตสัง เหตุ ตะถาคะโต เตสัญจะ โย นิโรโธ จะ เอวัง วาที มหาสะมะโณ ความว่า ธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ...เพราะว่ามหาเหตุนี้เป็นตัวสำคัญ เป็นตัวเดิม เมื่อท่านพระอัสสะชิเถระกล่าวถึงที่นี้ (คือมหาเหตุ) ท่านพระสารีบุตรจะไม่หยั่งจิตลงถึงกระแสธรรมอย่างไรเล่า? เพราะอะไร ทุกสิ่งในโลกก็ต้องเป็นไปแต่มหาเหตุถึงโลกุตตะระธรรม ก็คือมหาเหตุ ฉะนั้น มหาปัฏฐาน ท่านจึงว่าเป็น อนันตะนัย ผู้มาปฏิบัติใจคือตัวมหาเหตุจนแจ่มกระจ่างสว่างโร่แล้วย่อมสามารถรู้อะไรๆ ทั้งภายในและภายนอกทุกสิ่งทุกประการ สุดจะนับจะประมาณได้ด้วยประการฉะนี้

ข้อ 6. มูลการของสังสาระวัฏฏ์
     ฐีติภูตัง อวิชชา ปัจจะยา สังขารา อุปาทานัง ภะโว ชาติ
         คนเราทุกรูปนามที่ได้กำเนิดเกิดมาเป็นมนุษย์ล้วนแล้วแต่มีที่เกิดทั้งสิ้น กล่าวคือมีบิดามารดาเป็นแดนเกิด ก็แลเหตุใดท่านจึงบัญญัติ ปัจจะยาการ แต่เพียงว่า อวิชชา ปัจจะยา ฯลฯ เท่านั้น อวิชชา เกิดมาจากอะไร ? ท่านหาได้บัญญัติไว้ไม่

พวกเราก็ยังมีบิดามารดาอวิชชาก็ต้องมีพ่อแม่เหมือนกัน ได้ความตามบาทพระคาถาเบื้องต้นว่า ฐีติภูตัง นั่นเองเป็นพ่อแม่ของอวิชชา ฐีติภูตัง ได้แก่ จิตดั้งเดิม เมื่อ ฐีติภูตัง ประกอบไปด้วยความหลง จึงมีเครื่องต่อ กล่าวคือ อาการของอวิชชาเกิดขึ้น เมื่อมีอวิชชาแล้วจึงเป็นปัจจัยให้ปรุงแต่งเป็นสังขารพร้อมกับความเข้าไปยึดถือ จึงเป็นภพชาติคือต้องเกิดก่อต่อกันไป ท่านเรียก ปัจจะยาการ เพราะเป็นอาการสืบต่อกัน วิชชาและอวิชชาก็ต้องมาจากฐีติภูตังเช่นเดียวกัน เพราะเมื่อ ฐีติภูตัง ประกอบด้วยวิชชาจึงรู้เท่าอาการทั้งหลายตามความเป็นจริง นี่พิจารณาด้วยวุฏฐานะคามินี วิปัสสนา

รวมใจความว่า ฐีติภูตัง เป็นตัวการดั้งเดิมของ สังสาระวัฏฏะ (การเวียนว่ายตายเกิด) ท่านจึงเรียกชื่อว่า "มูลตันไตร" (หมายถึงไตรลักษณ์) เพราะฉะนั้นเมื่อจะตัดสังสาระวัฏฏะให้ขาดสูญ จึงต้องอบรมบ่มตัวการดั้งเดิมให้มีวิชชารู้เท่าทันอาการทั้งหลายตามความเป็นจริง ก็จะหายหลงแล้วไม่ก่ออาการทั้งหลายใดๆ อีก ฐีติภูตัง อันเป็นมูลการก็หยุดหมุน หมดการเวียนว่ายตายเกิดในสังสาระวัฏฏะด้วยประการฉะนี้

ข้อ 7. อรรคฐาน เป็นที่ตั้งแห่งมรรคนิพพาน
             อัคคัง ฐานัง มนุสเสสุ มัคคัง สัตตะวิสุทธิยา
            ฐานะอันเลิศมีอยู่ในมนุษย์ ฐานะอันดีเลิศนั้นเป็นทางดำเนินไปเพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ โดยอธิบายว่าเราได้รับมรดกมาแล้วจาก นะโม คือ บิดามารดา กล่าวคือตัวของเรานี้แล อันได้กำเนิดเกิดมาเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นชาติสูงสุด เป็นผู้เลิศตั้งอยู่ในฐานะอันเลิศด้วยดีคือมีกายสมบัติ วจีสมบัติ แลมโนสมบัติบริบูรณ์ จะสร้างสมเอาสมบัติภายนอก คือ ทรัพย์สินเงินทองอย่างไรก็ได้ จะสร้างสมเอาสมบัติภายในคือมรรคผลนิพพานธรรมวิเศษก็ได้ 

พระพุทธองค์ทรงบัญญัติพระธรรมวินัย ก็ทรงบัญญัติแก่มนุษย์เรานี้เอง มิได้ทรงบัญญัติแก่ ช้าง มา โค กระบือ ฯลฯ ที่ไหนเลย มนุษย์นี้เองจะเป็นผู้ปฏิบัติถึงซึ่งความบริสุทธิ์ได้ ฉะนั้นจึงไม่ควรน้อยเนื้อต่ำใจว่า ตนมีบุญวาสนาน้อย เพราะมนุษย์ทำได้ เมื่อไม่มี ทำให้มีได้ เมื่อมีแล้วทำให้ยิ่งได้สมด้วยเทศนานัยอันมาในเวสสันดรชาดาว่า ทานัง เทติ สีลัง รักขะติ ภาวะนัง ภาเวตะวา เอกัจโจ สัคคัง คัจฉะติ เอกัจโจ โมกขัง คัจฉะติ นิสสังสะยัง

 เมื่อได้ทำกองการกุศล คือ ให้ทานรักษาศีลเจริญภาวนาตามคำสอนของพระบรมศาสดาจารย์เจ้าแล้ว บางพวกทำน้อยก็ต้องไปสู่สวรรค์ บางพวกทำมากและขยันจริงพร้อมทั้งวาสนาบารมีแต่หนหลังประกอบกัน ก็สามารถเข้าสู่พระนิพพานโดยไม่ต้องสงสัยเลย พวกสัตว์ดิรัจฉานท่านมิได้กล่าวว่าเลิศ เพราะจะมาทำเหมือนพวกมนุษย์ไม่ได้ จึงสมกับคำว่ามนุษย์นี้ตั้งอยู่ในฐานะอันเลิศด้วยดีสามารถนำตนเข้าสู่มรรคผล เข้าสู่พระนิพพานอันบริสุทธิ์ได้แล

ข้อ 8. สติปัฏฐาน เป็น ชัยภูมิ คือสนามฝึกฝนตน
             พระบรมศาสดาจารย์เจ้า ทรงตั้งชัยภูมิไว้ในธรรมข้อไหน? เมื่อพิจารณาปัญหานี้ได้ความขึ้นว่า พระองค์ทรงตั้งมหาสติปัฏฐานเป็นชัยภูมิ

             อุปมาในทางโลก การรบทัพชิงชัย มุ่งหมายชัยชนะจำต้องหา ชัยภูมิ ถ้าได้ชัยภูมิที่ดีแล้วย่อมสามารถป้องกันอาวุธของข้าศึกได้ดี ณ ที่นั้นสามารถรวบรวมกำลังใหญ่เข้าฆ่าฟันข้าศึกให้ปราชัยพ่ายแพ้ไปได้ ที่เช่นนั้นท่านจึงเรียกว่า ชัยภูมิ คือที่ที่ประกอบไปด้วยค่ายคูประตูและหอรบอันมั่นคงฉันใด

             อุปไมยในทางธรรมก็ฉันนั้น ที่เอามหาสติปัฏฐานเป็นชัยภูมิก็โดยผู้ที่จะเข้าสู่สงครามรบข้าศึก คือ กิเลส ต้องพิจารณา กายานุปัสสะนาสติปัฏฐาน เป็นต้นก่อน เพราะคนเราที่จะเกิด กามราคะ เป็นต้น ขึ้น ก็เกิดที่กายและใจ เพราะตาแลไปเห็นกายทำให้ใจกำเริบ เหตุนั้นจึงได้ความว่า กายเป็นเครื่องก่อเหตุ จึงต้องพิจารณากายนี้ก่อน จะได้เป็นเครื่องดับนิวรณ์ทำให้ใจสงบได้ ณ ที่นี้พึง ทำให้มาก เจริญให้มาก คือพิจารณาไม่ต้องถอยเลยทีเดียว

 ในเมื่ออุคคะหะนิมิตปรากฏ จะปรากฏกายส่วนไหนก็ตาม ให้พึงถือเอากายส่วนที่ได้เห็นนั้นพิจารณาให้เป็นหลักไว้ไม่ต้องย้ายไปพิจารณาที่อื่น จะคิดว่าที่นี่เราเห็นแล้ว ที่อื่นยังไม่เห็น ก็ต้องไปพิจารณาที่อื่นซิ เช่นนี้หาควรไม่

ถึงแม้จะพิจารณาจนแยกกายออกมาเป็นส่วนๆ ทุกๆอาการอันเป็นธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ ได้อย่างละเอียด ที่เรียกว่าปฏิภาคก็ตาม ก็ให้พิจารณากายที่เราเห็นทีแรกด้วยอุคคะหะนิมิตนั้นจนชำนาญ ที่จะชำนาญได้ก็ต้องพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำอีก ณ ที่เดียวนั้นเอง เหมือนสวดมนต์ฉะนั้น อันการสวดมนต์ เมื่อเราท่องสูตรนี้ได้แล้ว ทิ้งเสียไม่เล่าไม่สวดไว้อีก ก็จะลืมเสียไม่สำเร็จประโยชน์อะไรเลย เพราะไม่ทำให้ชำนาญด้วยความประมาทฉันใด การพิจารณากายก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อได้อุคคะหะนิมิตในที่ใดแล้ว ไม่พิจารณาในที่นั้นให้มากปล่อยทิ้งเสียด้วยความประมาทก็ไม่สำเร็จประโยชน์อะไรอย่างเดียวกัน
           
การพิจารณากายนี้มีที่อ้างมาก ดั่งในการบวชทุกวันนี้ เบื้องต้นต้องบอกกรรมฐาน 5 ก็คือ กายนี้เอง ก่อนอื่นหมดเพราะเป็นของสำคัญ ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์พระธรรมบท ขุททะกะนิกาย ว่า อาจารย์ผู้ไม่ฉลาด ไม่บอกซึ่งการพิจารณากาย อาจทำลายอุปนิสัยแห่งพระอรหันต์ของกุลบุตรได้ เพราะฉะนั้นในทุกวันนี้จึงต้องบอกกรรมฐาน 5 ก่อน

 อีกแห่งหนึ่งท่านกล่าวว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลาย พระขีณาสะวะเจ้าทั้งหลาย ชื่อว่าจะไม่กำหนดกาย ในส่วนแห่ง โกฏฐาสะ (คือการพิจารณาแยกออกเป็นส่วนๆ) ใด โกฏฐาสะ หนึ่งมิได้มีเลย จึงตรัสแก่ภิกษุ 500 รูปผู้กล่าวถึงแผ่นดินว่า บ้านโน้นมีดินดำดินแดงเป็นต้นนั้นว่า นั่นชื่อว่า พะหิทธา แผ่นดินภายนอกให้พวกท่านทั้งหลายมาพิจารณา อัชฌัตติกา แผ่นดินภายในกล่าวคืออัตตภาพร่างกายนี้ จงพิจารณาไตร่ตรองให้แยบคาย กระทำให้แจ้งแทงให้ตลอด เมื่อจบการ วิสัชชะนาปัญหานี้ ภิกษุทั้ง 500 รูปก็บรรลุพระอรหันตะผล

 เหตุนั้นการพิจารณากายจึงเป็นของสำคัญ ผู้ที่จะพ้นทุกทั้งหมดล้วนแต่ต้องพิจารณากายนี้ทั้งสิ้น จะรวบรวมกำลังใหญ่ได้ต้องรวบรวมด้วยการพิจารณากาย แม้พระพุทธองค์เจ้าจะได้ตรัสรู้ทีแรกก็ทรงพิจารณาลม ลมจะไม่ใช่กายอย่างไร? เพราะฉะนั้นมหาสติปัฏฐาน มีกายานุปัสสนาเป็นต้น จึงชื่อว่า "ชัยภูมิ" เมื่อเราได้ชัยภูมิดีแล้ว กล่าวคือปฏิบัติตามหลักมหาสติปัฏฐานจนชำนาญแล้ว ก็จงพิจารณาความเป็นจริงตามสภาพแห่งธาตุทั้งหลายด้วยอุบายแห่งวิปัสสนา ซึ่งจะกล่าวข้างหน้า

ข้อ 9. อุบายแห่งวิปัสสนา อันเป็นเครื่องถ่ายถอนกิเลส
             ธรรมชาติของดีทั้งหลาย ย่อมเกิดมาแต่ของไม่ดี อุปมาดั่งดอกปทุมชาติอันสวยๆ งามๆ ก็เกิดขึ้นมาจากโคลนตมอันเป็นของสกปรก ปฏิกูลน่าเกลียด แต่ว่าดอกบัวนั้น เมื่อขึ้นพ้นโคลนตมแล้วย่อมเป็นสิ่งที่สะอาด เป็นที่ทัดทรงของพระราชา อุปราช อำมาตย์ และเสนาบดี เป็นต้น และดอกบัวนั้นก็มิได้กลับคืนไปยังโคลนตมนั้นอีกเลย

ข้อนี้เปรียบเหมือนพระโยคาวจรเจ้า ผู้ประพฤติพากเพียรประโยคพยายาม ย่อมพิจารณาซึ่ง สิ่งสกปรกน่าเกลียดนั้นก็คือตัวเรานี้เอง ร่างกายนี้เป็นที่ประชุมแห่งของโสโครกคือ อุจจาระ ปัสสาวะ (มูตรคูถ) ทั้งปวง สิ่งที่ออกจากผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น ก็เรียกว่า ขี้ ทั้งหมด เช่น ขี้หัว ขี้เล็บ ขี้ฟัน ขี้ไคล เป็นต้น เมื่อสิ่งเหล่านี้ร่วงหล่นลงสู่อาหาร มีแกงกับ เป็นต้น ก็รังเกียจ ต้องเททิ้ง กินไม่ได้ และร่างกายนี้ต้องชำระอยู่เสมอจึงพอเป็นของดูได้ ถ้าหาไม่ก็จะมีกลิ่นเหม็นสาบ เข้าใกล้ใครก็ไม่ได้ ของทั้งปวงมีผ้าแพรเครื่องใช้ต่างๆ เมื่ออยู่นอกกายของเราก็เป็นของสะอาดน่าดู แต่เมื่อมาถึงกายนี้แล้วก็กลายเป็นของสกปรกไป เมื่อปล่อยไว้นานๆ เข้าไม่ซักฟอกก็จะเข้าใกล้ใครไม่ได้เลย เพราะเหม็นสาบ ดั่งนี้จึงได้ความว่าร่างกายของเรานี้เป็นเรือนมูตร เรือนคูถ เป็นอสุภะ ของไม่งาม ปฏิกูลน่าเกลียด

 เมื่อยังมีชีวิตอยู่ก็เป็นถึงปานนี้ เมื่อชีวิตหาไม่แล้ว ยิ่งจะสกปรกหาอะไรเปรียบเทียบมิได้เลย เพราะฉะนั้นพระโยคาวจรเจ้าทั้งหลายจึงพิจารณาร่างกายอันนี้ให้ชำนิชำนาญด้วย โยนิโสมนสิการ ตั้งแต่ต้นมาทีเดียว คือขณะเมื่อยังเห็นไม่ทันชัดเจนก็พิจารณาส่วนใดส่วนหนึ่งแห่งกายอันเป็นที่สบายแก่จริตจนกระทั่งปรากฏเป็นอุคคะหะนิมิต คือ ปรากฏส่วนแห่งร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งแล้วก็กำหนดส่วนนั้นให้มาก เจริญให้มาก ทำให้มาก การเจริญทำให้มากนั้นพึงทราบอย่างนี้

อันชาวนาเขาทำนาเขาก็ทำที่แผ่นดิน ไถที่แผ่นดินดำลงไปในดิน ปีต่อไปเขาก็ทำที่ดินอีกเช่นเคย เข้าไม่ได้ทำในอากาศกลางหาว คงทำแต่ที่ดินอย่างเดียว ข้าวเขาก็ได้เต็มยุ้งเต็มฉางเอง เมื่อทำให้มากในที่ดินนั้นแล้ว ไม่ต้องร้องเรียกว่า ข้าวเอ๋ยข้าว จงมาเต็มยุ้งเน้อ ข้าวก็จะหลั่งไหลมาเอง และจะห้ามว่า เข้าเอ๋ยข้าว จงอย่ามาเต็มยุ้งเต็มฉางเราเน้อ ถ้าทำนาในที่ดินนั้นเองจนสำเร็จแล้ว ข้าวก็มาเต็มยุ้งเต็มฉางเอง ฉันใดก็ดีพระโยคาวจรเจ้าก็ฉันนั้น จงพิจารณากายในที่เคยพิจารณาอันถูกนิสัยหรือที่ปรากฏมาให้เห็นครั้งแรก อย่าละทิ้งเลยเป็นอันขาด การทำให้มากนั้นมิใช่หมายแต่การเดินจงกรมเท่านั้น ให้มีสติหรือพิจารณาในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ คิด พูด ก็ให้มีสติรอบคอบในกายอยู่เสมอจึงจะชื่อว่า ทำให้มาก

 เมื่อพิจารณาในร่างกายนั้นจนชัดเจนแล้ว ให้พิจารณาแบ่งส่วนแยกส่วนออกเป็นส่วนๆ ตามโยนิโสมนสิการตลอดจนกระจายออกเป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม และพิจารณาให้เห็นไปตามนั้นจริงๆ อุบายตอนนี้ตามแต่ตนจะใคร่ครวญออกอุบายตามที่ถูกจริตนิสัยของตน แต่อย่าละทิ้งหลักเดิมที่ตนได้รู้ครั้งแรกนั่นเทียว

 พระโยคาวจรเจ้าเมื่อพิจารณาในที่นี้ พึงเจริญให้มาก ทำให้มาก อย่าพิจารณาครั้งเดียวแล้วปล่อยทิ้งตั้งครึ่งเดือน ตั้งเดือน ให้พิจารณาก้าวเข้าไป ถอยออกมาเป็น อนุโลม ปฏิโลม คือเข้าไปสงบในจิต แล้วถอยออกมาพิจารณากาย อย่างพิจารณากายอย่างเดียว หรือสงบที่จิตแต่อย่างเดียว พระโยคาวจรเจ้าพิจารณาอย่างนี้ชำนาญแล้ว หรือชำนาญอย่างยิ่งแล้ว

คราวนี้แลเป็นส่วนที่จะเป็นเอง คือ จิต ย่อมจะรวมใหญ่ เมื่อรวมพึ่บลง ย่อมปรากฏว่าทุกสิ่งรวมลงเป็นอันเดียวกันคือหมดทั้งโลกย่อมเป็นธาตุทั้งสิ้น นิมิตจะปรากฏขึ้นพร้อมกันว่าโลกนี้ราบเหมือนหน้ากลอง เพราะมีสภาพเป็นอันเดียวกัน ไม่ว่า ป่าไม้ ภูเขา มนุษย์ สัตว์ แม้ที่สุดตัวของเราก็ต้องลบราบเป็นที่สุดอย่างเดียวกันพร้อมกับ ญาณสัมปะยุตต์ คือรู้ขึ้นมาพร้อมกัน ในที่นี้ตัดความสนเท่ห์ในใจได้เลย จึงชื่อว่า ยะถา ภูตะญาณะทัสสะนะวิปัสสนา คือทั้งเห็นทั้งรู้ตามความเป็นจริง

 ขั้นนี้เป็นเบื้องต้นในอันที่จะดำเนินต่อไป ไม่ใช่ที่สุดอันพระโยคาวจรเจ้าจะพึงเจริญให้มาก ทำให้มาก จึงจะเป็นเพื่อความรู้ยิ่งอีกจนรอบ จนชำนาญเห็นแจ้งชัดว่า สังขารความปรุงแต่งอันเป็นความสมมติว่าโน่นเป็นของของเรา โน่นเป็นเรา เป็นความไม่เที่ยงอาศัยอุปาทานความยึดถือจึงเป็นทุกข์ ก็แลธาตุทั้งหลาย เขาหากมีหากเป็นอยู่อย่างนี้ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา เกิด แก่ เจ็บ ตาย เกิดขึ้นเสื่อมไปอยู่อย่างนี้มาก่อน เราเกิดตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ก็เป็นอยู่อย่างนี้ อาศัยอาการของจิต ของขันธ์ 5 ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไปปรุงแต่งสำคัญมั่นหมายทุกภพทุกชาติ นับเป็นอเนกชาติเหลือประมาณมาจนถึงปัจจุบันชาติ จึงทำให้จิตหลงอยู่ตามสมมติ ไม่ใช่สมมติมาติดเอาเรา เพราะธรรมชาติทั้งหลายทั้งหมดในโลกนี้ จะเป็นของมีวิญญาณหรือไม่ก็ตาม เมื่อว่าตามความจริงแล้ว

เขาหากมีหากเป็น เกิดขึ้นเสื่อมไป มีอยู่อย่างนั้นทีเดียว โดยไม่ต้องสงสัยเลยจึงรู้ขึ้นว่า ปุพเพสุ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ ธรรมดาเหล่านี้ หากมีมาแต่ก่อน ถึงว่าจะไม่ได้ยินได้ฟังมาจากใครก็มีอยู่อย่างนั้นทีเดียว ฉะนั้นในความข้อนี้ พระพุทธเจ้าจึงทรงปฏิญาณพระองค์ว่า เราไม่ได้ฟังมาแต่ใคร มิได้เรียนมาแต่ใครเพราะของเหล่านี้มีอยู่ มีมาแต่ก่อนพระองค์ดังนี้ ได้ความว่าธรรมดาธาตุทั้งหลายย่อมเป็นย่อมมีอยู่อย่างนั้น อาศัยอาการของจิตเข้าไปยึดถือเอาสิ่งทั้งปวงเหล่านั้นมาหลายภพหลายชาติ จึงเป็นเหตุให้อนุสัยครอบงำจิตจนหลงเชื่อไปตาม จึงเป็นเหตุให้ก่อภพก่อชาติด้วยอาการของจิตเข้าไปยึด ฉะนั้นพระโยคาวจรเจ้ามาพิจารณา โดยแยบคายลงไปตามสภาพว่า สัพเพ สังขารา อะนิจจา สัพเพ สังขารา ทุกขา สังขาร ความเข้าไปปรุงแต่ง คือ อาการของจิตนั่นแลไม่เที่ยง สัตว์โลกเขาเที่ยง คือมีอยู่เป็นอยู่อย่างนั้น ให้พิจารณาโดย อริยสัจจะธรรมทั้ง 4 เป็นเครื่องแก้อาการของจิตให้เห็นแน่แท้โดย ปัจจักขะสิทธิ ว่า ตัวอาการของจิตนี้เองมันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ จึงหลงตามสังขาร

เมื่อเห็นจริงลงไปแล้วก็เป็นเครื่องแก้อาการของจิต จึงปรากฏขึ้นว่า สังขารา สัสสะตา นัตถิ สังขารทั้งหลายที่เที่ยงแท้ไม่มี สังขารเป็นอาการของจิตต่างหาก เปรียบเหมือนพยับแดด ส่วนสัตว์เขาก็อยู่ประจำโลกแต่ไหนแต่ไรมา เมื่อรู้โดยเงื่อน 2 ประการ คือรู้ว่า สัตว์ก็มีอยู่อย่างนั้น สังขารก็เป็นอาการของจิต เข้าไปสมมติเขาเท่านั้น ฐีติภูตํ จิตตั้งอยู่เดิมไม่มีอาการเป็นผู้หลุดพ้น ได้ความว่า ธรรมดาหรือธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตน จะใช่ตนอย่างไร ของเขาหากเกิดมีอย่างนั้น ท่านจึงว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตน ให้พระโยคาวจรเจ้าพึงพิจารณาให้เห็นแจ้งประจักษ์ตามนี้จนทำให้จิตรวมพึ่บลงไป ให้เห็นจริงแจ้งชัดตามนั้น โดย ปัจจักขะสิทธิ พร้อมกับ ญาณสัมปะยุตต์ รวมทวนกระแสแก้อนุสัยสมมติเป็นวิมุตติ หรือรวมลง ฐีติจิต อันเป็นอยู่มีอยู่อย่างนั้นจนแจ้งประจักษ์ในที่นั้นด้วย ญาณสัมปะยุตต์ ว่า ขีณา ชาติ ญาณัง โหติ ดังนี้

ในที่นี้ไม่ใช่สมมติไม่ใช่ของแต่งเอาเดาเอา ไม่ใช่ของอันบุคคลพึงปรารถนาเอาได้ เป็นของที่เกิดเอง เป็นเอง รู้เอง โดยส่วนเดียวเท่านั้น เพราะด้วยการปฏิบัติอันเข้มแข็งไม่ท้อถอย พิจารณาโดยแยบคายด้วยตนเอง จึงจะเป็นขึ้นมาเอง ท่านเปรียบเหมือนต้นไม้ต่างๆ มีต้นข้าวเป็นต้น เมื่อบำรุงรักษาต้นมันให้ดีแล้ว ผลคือรวงข้าวไม่ใช่สิ่งอันบุคคลพึงปรารถนาเอาเลย เป็นขึ้นมาเอง ถ้าแลบุคคลมาปรารถนาเอาแต่รวงข้าว แต่หาได้รักษาต้นข้าวไม่ เป็นผู้เกียจคร้าน จะปรารถนาจนวันตาย รวงข้าวก็จะไม่มีขึ้นมาให้ฉันใด วิมุตติธรรม ก็ฉันนั้นนั่นแล มิใช่สิ่งอันบุคคลจะพึงปรารถนาเอาได้ คนผู้ปรารถนาวิมุตติธรรมแต่ปฏิบัติไม่ถูกต้องหรือไม่ปฏิบัติมัวเกียจคร้านจนวันตายจะประสบวิมุตติธรรมไม่ได้เลย ด้วยประการฉะนี้

ข้อ 10. จิตเดิมเป็นธรรมชาติใสสว่าง แต่มืดมัวไปเพราะอุปกิเลส
             ปะภัสสะระมิทัง ภิกขะเว จิตตัง ตัญจะ โข อาคันตุเกหิ อุปะกิเลเสหิ อุปักกิลิฏฐัง
 ภิกษุทั้งหลาย จิตนี้เสื่อมปภัสสรแจ้งสว่างมาเดิม แต่อาศัยอุปกิเลสเครื่องเศร้าหมองเป็นอาคันตุกะสัญจรมาปกคลุมหุ้มห่อ จึงทำให้จิตมิส่องแสงสว่างได้ ท่านเปรียบไว้ในบทกลอนหนึ่งว่า "ไม้ชะงกหกพันง่า(กิ่ง) กะปอมก่ากิ้งก่าฮ้อย กะปอมน้อยขึ้นมื้อพัน ครั้นตัวมาบ่ทัน ขึ้นนำคู่มื้อๆ" โดยอธิบายว่า คำว่าไม่ชะงก 6,000 ง่านั้นเมื่อตัดศูนย์ 3 ศูนย์ออกเสียเหลือแค่ 6 คงได้ความว่า ทวารทั้ง 6 เป็นที่มาแห่งกะปอมก่า คือของปลอมไม่ใช่ของจริง กิเลสทั้งหลายไม่ใช่ของจริง เป็นสิ่งสัญจรเข้ามาในทวารทั้ง 6 นับร้อยนับพัน มิใช่แต่เท่านั้น กิเลสทั้งหลายที่ยังไม่เกิดขึ้นก็จะทวียิ่งๆ ขึ้นทุกๆ วัน

ในเมื่อไม่แสวงหาทางแก้ ธรรมชาติของจิตเป็นของผ่องใสยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด แต่อาศัยของปลอม กล่าวคืออุปกิเลสที่สัญจรเข้ามาปกคลุมจึงทำให้หมดรัศมี ดุจพระอาทิตย์เมื่อเมฆบดบังฉะนั้น อย่าพึงเข้าใจว่าพระอาทิตย์เข้าไปหาเมฆ เมฆไหลมาบดบังพระอาทิตย์ต่างหาก ฉะนั้น ผู้บำเพ็ญเพียรทั้งหลายเมื่อรู้โดยปริยายนี้แล้ว พึงกำจัดของปลอมด้วยการพิจารณาโดยแยบคายตามที่อธิบายแล้วในอุบายแห่งวิปัสสนาข้อ ๙ นั้นเถิด เมื่อทำให้ถึงขั้น ฐีติจิต แล้ว ชื่อว่าย่อมทำลายของปลอมได้หมดสิ้นหรือว่าของปลอมย่อมเข้าไปถึงฐีติจิต เพราะสะพานเชื่อมต่อถูกทำลายขาดสะบั้นลงแล้ว แม้ยังต้องเกี่ยวข้องกับอารมณ์ของโลกอยู่ก็ย่อมเป็นดุจน้ำกลิ้งบนใบบัวฉะนั้น

ข้อ 11. การทรมานตนของผู้บำเพ็ญเพียร ต้องให้พอเหมาะกับอุปนิสัย
             นายสารถีผู้ฝึกม้ามีชื่อเสียงคนหนึ่ง มาเฝ้าพระพุทธเจ้าทูลถามถึงวิธีทรมานเวไนย พระองค์ทรงย้อนถามนายสารถีก่อนถึงการทรมานม้า เขาทูลว่าม้ามี 4 ชนิด คือ
1) ทรมานง่าย
2) ทรมานอย่างกลาง
3) ทรมานยากแท้
4) ทรมานไม่ได้เลย ต้องฆ่าเสีย พระองค์จึงตรัสว่าเราก็เหมือนกัน
(1) ผู้ทรมานง่าย คือผู้ปฏิบัติทำจิตรวมง่ายให้กินอาหารเพียงพอ เพื่อบำรุงร่างกาย
(2) ผู้ทรมานอย่างกลาง คือผู้ปฏิบัติทำจิตไม่ค่อยจะลง ก็ให้กินอาหารแต่น้อยอย่าให้มาก
(3) ทรมานยากแท้ คือผู้ปฏิบัติทำจิตลงยากแท้ ไม่ต้องให้กินอาหารเลย แต่ต้องเป็น อัตตัญญู รู้กำลังของตนว่าจะทนทานได้สักเพียงไร แค่ไหน
(4) ทรมานไม่ได้เลย ต้องฆ่าเสีย คือผู้ปฏิบัติทำจิตไม่ได้ เป็น ปะทะปะระมะ พระองค์ทรงชักสะพานเสีย กล่าวคือไม่ทรงรับสั่งสอน อุปมาเหมือนฆ่าทิ้งเสียฉะนั้น

ข้อ 12. มูลติกะสูตร
 ติกะแปลว่า 3 มูลแปลว่าเค้ามูลรากเหง้า รวมความว่าสิ่งซึ่งเป็นรากเหง้าเค้ามูลอย่างละ 3 คือ ราคะ โทสะ โมหะ ก็เรียก 3 อกุศลมูล ตัณหา ก็มี 3 คือกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา โอฆะและอาสวะก็มีอย่างละ 3 คือ กามะ ภาวะ อวิชชา ถ้าบุคคลมาเป็นไปกับด้วย 3 เช่นนี้ ติปริวัตตัง ก็ต้องเวียนไปเป็น 3,
3 ก็ต้องเป็นโลก 3 คือ กามโลก รูปโลก อรูปโลก อยู่อย่างนั้นแล เพราะ 3 นั้นเป็นเค้ามูลโลก 3
 เครื่องแก้ก็มี 3 คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เมื่อบุคคลดำเนินตนตามศีล สมาธิ ปัญญา อันเป็นเครื่องแก้
นะติปริวัตตัง ก็ไม่ต้องเวียนไปเป็น 3,  3 ก็ไม่เป็นโลก 3 ชื่อว่าพ้นจากโลก 3 แล

ข้อ 13. วิสุทธิเทวาเท่านั้นเป็นสันตะบุคคลแท้
          อะกุปปัง สัพพะธัมเมสุ เญยยะธัมมา ปะเวสสันโต
             บุคคลผู้มีจิตไม่กำเริบในกิเลสทั้งปวง รู้ธรรมทั้งหลายทั้งที่เป็นพะหิทธาธรรม ทั้งที่เป็น อัชฌัตติกาธรรม สันโต จึงเป็นผู้สงบระงับ สันตะบุคคลเช่นนี้แลที่จะบริบูรณ์ด้วยหิริโอตตัปปะ มีธรรมบริสุทธิ์สะอาด มีใจมั่นคงเป็นสัตบุรุษผู้ทรงเทวะธรรมตามความในพระคาถาว่า หิริโอตตัปปะสัมปันนา สุกกะธัมมะสะมาหิตา สันโต สัปปุริสา โลเก เทวะธัมมาติ วุจจะเร อุปัตติเทวา ผู้พรั่งพร้อมด้วยกามคุณ วุ่นวายอยู่ด้วยกิเลส เหตุไฉนจึงจะเป็นสันตะบุคคลได้ ความในพระคาถานี้ย่อมต้องหมายถึงวิสุทธิเทวา คือพระอรหันต์แน่นอน ท่านผู้เช่นนั้นเป็นสันตะบุคคลแท้ สมควรจะเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยหิริโอตตัปปะ และ สุกกะธรรม คือ ความบริสุทธิ์แท้

ข้อ 14. อะกิริยาเป็นที่สุดในโลก  สุดสมมติบัญญัติ
          สัจจานัง จตุโร ปะทา ขีณาสะวา ชุติมันโต เต โลเก ปรินิพพุตา
             สัจธรรมทั้ง 4 คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ยังเป็นกิริยา เพราะแต่ละสัจจะๆ ย่อมมีอาการต้องทำคือ ทุกข์-ต้องกำหนดรู้ สมุทัย-ต้องละ นิโรธ-ต้องทำให้แจ้ง มรรค-ต้องเจริญให้มาก ดังนี้ล้วนเป็นอาการที่จะต้องทำทั้งหมด ถ้าเป็นอาการที่จะต้องทำ ก็ต้องเป็นกิริยาเพราะเหตุนั้นจึงรวมความได้ว่าสัจจะทั้ง 4 เป็นกิริยา จึงสมกับบาทคาถาข้างต้นนั้น ความว่าสัจจะทั้ง 4 เป็นเท้าหรือเป็นเครื่องเหยียบก้าวขึ้นไป หรือก้าวขึ้นไป 4 พักจึงจะเสร็จกิจ ต่อจากนั้นไปจึงเรียกว่า อะกิริยา

 อุปมา ดังเขียนเลข 1, 2, 3, 4, 5, 6, 7, 8, 9, 10 แล้วลบ 1 ถึง 9 ทิ้งเสีย เหลือแต่ 0 (ศูนย์) ไม่เขียนอีกต่อไป คงอ่านว่า ศูนย์ แต่ไม่มีค่าอะไรเลย จะนำไปบวกลบคูณหารกับเลขจำนวนใดๆ ไม่ได้ทั้งสิ้นแต่จะปฏิเสธว่าไม่มีหาได้ไม่ เพราะปรากฏอยู่ว่า 0 (ศูนย์) นี่แหละ คือปัญญารอบรู้ เพราะลายกิริยา คือ ความสมมติ หรือว่าลบสมมติลงเสียจนหมดสิ้น ไม่เข้าไปยึดถือสมมติทั้งหลาย คำว่าลบ คือทำลายกิริยา กล่าวคือ ความสมมติ มีปัญหาสอดขึ้นมาว่า เมื่อทำลายสมมติหมดแล้วจะไปอยู่ที่ไหน? แก้ว่า ไปอยู่ในที่ไม่สมมติ คือ อะกิริยา นั่นเอง เนื้อความตอนนี้เป็นการอธิบายตามอาการของความจริง ซึ่งประจักษ์แก่ผู้ปฏิบัติโดยเฉพาะ อันผู้ไม่ปฏิบัติหาอาจรู้ได้ไม่ ต่อเมื่อไรฟังแล้วทำตามจนรู้เองเห็นเองนั่นแลจึงจะเข้าใจได้

 ความแห่ง 2 บาทคาถาต่อไปว่า พระขีณาสะวะเจ้าทั้งหลายดับโลกสามรุ่งโรจน์อยู่ คือทำการพิจารณาบำเพ็ญเพียรเป็น ภาวิโต พหุลีกโต คือทำให้มาก เจริญให้มาก จนจิตมีกำลังสามารถพิจารณาสมมติทั้งหลายทำลายสมมติทั้งหลายลงไปได้จนเป็นอะกิริยาก็ย่อมดับโลกสามได้ การดับโลกสามนั้น ท่านขีณาสะวะเจ้าทั้งหลายมิได้เหาะขึ้นไป ณ กามโลก รูปโลก อรูปโลกเลยทีเดียว คงอยู่กับที่นั่นเอง แม้พระบรมศาสดาของเราก็เช่นเดียวกัน พระองค์ประทับนั่งอยู่ ณ ควงไม้โพธิพฤกษ์แห่งเดียวกัน เมื่อจะดับโลกสาม ก็มิได้เหาะขึ้นไปในโลกสาม คงดับอยู่ที่จิต ทิ่จิตนั้นเองเป็นโลกสาม ฉะนั้น ท่านผู้ต้องการดับโลกสาม พึงดับที่จิตของตนๆ จึงทำลายกิริยา คือตัวสมมติหมดสิ้นจากจิต ยังเหลือแต่อะกิริยา เป็นฐีติจิต ฐีติธรรมอันไม่รู้จักตาย ฉะนี้แล

ข้อ 15. สัตตาวาส 9
             เทวาพิภพ มนุสสะโลก อบายโลก จัดเป็นกามโลก ที่อยู่อาศัยของสัตว์เสพกามรวมเป็น 1 รูปโลก ที่อยู่อาศัยของสัตว์ผู้สำเร็จรูปฌานมี 4 อรูปโลก ที่อยู่อาศัยของสัตว์ผู้สำเร็จอรูปฌานมี 4 รวมทั้งสิ้น 9 เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ ผู้มารู้เท่าสัตตาวาส 9 กล่าวคือ พระขีณาสะวะเจ้าทั้งหลาย ย่อมจากที่อยู่ของสัตว์ ไม่ต้องอยู่ในที่ 9 แห่งนี้ และปรากฏในสามเณรปัญหาข้อสุดท้ายว่า ทส นาม กึ อะไรชื่อว่า 10 แก้ว่า ทะสะหัง เคหิ สะมันนาคะโต พระขีณาสะวะเจ้าผู้ประกอบด้วยองค์ 10 ย่อมพ้นจากสัตตาวาส 9 ความข้อนี้คงเปรียบได้กับการเขียนเลข 1, 2, 3, 4, 5, 6, 7, 8, 9, 10 นั่นเอง 1 ถึง 9 เป็นจำนวนที่นับได้ อ่านได้ บวกลบคูณหารกันได้ ส่วน 10 ก็คือ เลข 1 กับ 0 (ศูนย์) เราจะเอา 0 (ศูนย์) ไปบวกลบคูณหารกับเลขจำนวนใดๆ ก็ไม่ทำให้เลขจำนวนนั้นมีค่าสูงขึ้น และ 0 (ศูนย์) นี้เมื่ออยู่โดยลำพังก็ไม่มีค่าอะไร แต่จะว่าไม่มีก็ไม่ได้ เพราะเป็นสิ่งปรากฏอยู่ ความเปรียบนี้ฉันใด จิตใจก็ฉันนั้นเป็นธรรมชาติ มีลักษณะเหมือน 0 (ศูนย์)

เมื่อนำไปต่อเข้ากับเลขตัวใด ย่อมทำให้เลขตัวนั้นเพิ่มค่าขึ้นอีกมาก เช่น เลข 1 เมื่อเอาศูนย์ต่อเข้า ก็กลายเป็น 10 (สิบ) จิตใจเรานี้ก็เหมือนกัน เมื่อต่อเข้ากับสิ่งทั้งหลายก็เป็นของวิจิตรพิสดารมากมายขึ้นทันที แต่เมื่อได้รับการฝึกฝนอบรมจนฉลาดรอบรู้สัพพะเญยยะธรรมแล้วย่อมกลับคืนสู่สภาพ 0 (ศูนย์) คือ ว่างโปร่งพ้นจากการนับการอ่านแล้ว มิได้อยู่ในที่ 9 แห่งอันเป็นที่อยู่ของสัตว์ แต่อยู่ในที่หมดสมมติบัญญัติคือ สภาพ 0 (ศูนย์) หรืออกิริยาดังกล่าวในข้อ 14 นั่นเอง

ข้อ 16. ความสำคัญของปฐมเทศนา มัชฌิมะเทศนา และปัจฉิมเทศนา
                 พระธรรมเทศนาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธะเจ้าใน 3 กาลมีความสำคัญยิ่ง อันพุทธบริษัทควรสนใจพิจารณาเป็นพิเศษ คือ

ก.     ปฐมโพธิกาล ได้ทรงแสดงธรรมแก่พระปัญจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิปตะนะมฤคทายะวัน เมืองพาราณสี เป็นครั้งแรกเป็นปฐมเทศนา เรียกว่า ธรรมจักร เบื้องต้นทรงยกส่วนสุด 2 อย่างอันบรรพชิตไม่ควรเสพขึ้นมาแสดงว่า เทวะ เม ภิกขะเว อันตา ปัพพะชิเตนะ นะ เสวิตัพพา ภิกษุทั้งหลาย ส่วนที่สุด 2 อย่างอันบรรพชิตไม่พึงเสพ คือ กามะสุขัลลิกา และอัตตะกิละมะถา อธิบายว่า กามสุขัลลิกา เป็นส่วนแห่งความรัก อัตตะกิละมะถา เป็นส่วนแห่งความชังทั้ง 2 ส่วนนี้เป็นตัวสมุทัย เมื่อผู้บำเพ็ญตบะธรรมทั้งหลายโดยอยู่ซึ่งส่วนทั้งสองนี้ ชื่อว่ายังไม่เข้าทางกลาง เพราะเมื่อบำเพ็ญเพียรพยายามทำสมาธิ จิตสงบสบายดีเต็มที่ก็ดีใจ ครั้นเมื่อจิตนึกคิดฟุ้งซ่านรำคาญก็เสียใจ ความดีใจนั้น คือ กามสุขัลลิกา ความเสียใจนั้นแล คือ อัตตะกิละมะถา ความดีใจก็เป็นราคะ ความเสียใจก็เป็นโทสะ ความไม่รู้เท่าในราคะ โทสะ ทั้งสองนี้เป็นโมหะ
ฉะนั้น ผู้ที่พยายามประกอบความเพียรในเบื้องแรกต้องกระทบส่วนสุดทั้งสองนั้นแลก่อน ถ้าเมื่อกระทบส่วน 2 นั้นอยู่ ชื่อว่าผิดอยู่แต่เป็นธรรมดาแท้ทีเดียว ต้องผิดเสียก่อนจึงถูก แม้พระบรมศาสดาแต่ก่อนนั้นพระองค์ก็ผิดมาเต็มที่เหมือนกัน แม้พระอัครสาวกทั้งสอง ก็ซ้ำเป็นมิจฉาทิฐิมาก่อนแล้วทั้งสิ้น แม้สาวกทั้งหลายเหล่าอื่นๆ ก็ล้วนแต่ผิดมาแล้วทั้งนั้น ต่อเมื่อพระองค์มาดำเนินทางกลาง ทำจิตอยู่ภายใต้ร่มโพธิ์พฤกษ์ ได้ญาณ 2 ในสองยามเบื้องต้นในราตรี ได้ญาณที่ 3

กล่าวคืออาสะวักขยะญาณในยามใกล้รุ่ง จึงได้ถูกทางกลางอันแท้จริงทำจิตของพระองค์ให้พ้นจากความผิด กล่าวคือ ส่วนสุดทั้งสองนั้น พ้นจากสมมติโคตร สมมติชาติ สมมติวาสะ สมมติวงศ์ และสมมติประเพณี ถึงความเป็นอริยะโคตร อริยะชาติ อริยวาสะ อริยะวงศ์ และอริยะประเพณี ส่วนอริยะสาวกทั้งหลายนั้นเล่าก็มารู้ตามพระองค์ ทำให้ได้อาสะวักขยะญาณพ้นจากความผิดตามพระองค์ไป

ส่วนเราผู้ปฏิบัติอยู่ในระยะแรกๆ ก็ต้องผิดเป็นธรรมดา แต่เมื่อผิดก็ต้องรู้เท่าแล้วทำให้ถูก เมื่อยังมีดีใจเสียใจในการบำเพ็ญบุญกุศลอยู่ ก็ตกอยู่ในโลกธรรม เมื่อตกอยู่ในโลกธรรม จึงเป็นผู้หวั่นไหวเพราะความดีใจเสียใจนั่นแหละ ชื่อว่าความหวั่นไหวไปมา อุปปันโน โข เม โลกธรรมจะเกิดที่ไหน เกิดที่เรา โลกธรรมมี 8 มรรคเครื่องแก้ก็มี 8  มรรค 8 เครื่องแก้โลกธรรม 8

ฉะนั้น พระองค์จึงทรงแสดงมัชฌิมาปฏิปทาแก้ส่วน 2 เมื่อแก้ส่วน 2 ได้แล้วก็เข้าสู่อริยมรรค ตัดกระแสโลก ทำใจให้เป็นจาโค ปฏินิสสัคโค มุตติ อนาลโย (สละสลัดตัดขาดวางใจหายห่วง) รวมความว่า เมื่อส่วน 2 ยังมีอยู่ในใจผู้ใดแล้ว ผู้นั้นก็ยังไม่ถูกทาง เมื่อผู้มีใจพ้นจากส่วนทั้ง 2 แล้ว ก็ไม่หวั่นไหว หมดธุลี เกษมจากโยคะ จึงว่าเนื้อความแห่งธรรมจักรสำคัญมาก

พระองค์ทรงแสดงธรรมจักรนี้ยังโลกธาตุให้หวั่นไหว จะไม่หวั่นไหวอย่างไร เพราะมีใจความสำคัญอย่างนี้ โลกธาตุก็มิใช่อะไรอื่น คือตัวเรานี้เอง ตัวเราก็คือธาตุของโลก หวั่นไหวเพราะเห็นในของที่ไม่เคยเห็น เพราะจิตพ้นจากส่วน 2 ธาตุของโลกจึงหวั่นไหว หวั่นไหวเพราะจะไม่มาก่อธาตุของโลกอีกแล

ข.     มัชฌิมะโพธิกาล ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ในชุมชนพระอรหันต์ 1,250 องค์ ณ พระราชอุทยานเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน กรุงราชคฤห์ ใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า อธิจิตเต จะ อาโยโค เอตัง พุทธานะ สาสะนัง พึงเป็นผู้ทำจิตให้ยิ่ง การที่จะทำจิตให้ยิ่งได้ต้องเป็นผู้สงบระงับ อิจฉา โลภะสะมาปันโน สะมะโณ กิง ภะวิสสะติ เมื่อประกอบด้วยความอยากดิ้นรนโลภหลงอยู่แล้วจักเป็นผู้สงระงับได้อย่างไร ต้องเป็นผู้ปฏิบัติคือปฏิบัติพระวินัยเป็นเบื้องต้น และเจริญกรรมฐานตั้งต้นแต่การเดินจงกรม นั่งสมาธิ ทำให้มาก เจริญให้มาก

ในการพิจารณามหาสติปัฏฐาน มีกายะนุปัสสะนาสติปัฏฐาน เป็นเบื้องแรก พึงพิจารณาส่วนแห่งร่างกาย โดยอาการแห่งบริกรรมสวนะคือ พิจารณาโดยอาการคาดคะเน ว่าส่วนนั้นเป็นอย่างนั้นด้วยการมีสติสัมปชัญญะไปเสียก่อน เพราะเมื่อพิจารณาเช่นนี้ใจไม่ห่างจากกาย ทำให้รวมง่าย เมื่อทำให้มาก ในบริกรรมสวนะแล้ว จักเกิดขึ้นซึ่งอุคคะหะนิมิตให้ชำนาญในที่นั้นจนเป็นปฏิภาค ชำนาญในปฏิภาคโดยยิ่งแล้วจักเป็นวิปัสสนา

เจริญวิปัสสนาจนเป็นวิปัสสนาอย่างอุกฤษฏ์ ทำจิตเข้าถึง ฐีติภูตัง ดังกล่าวแล้วในอุบายแห่งวิปัสสนาชื่อว่าปฏิบัติ เมื่อปฏิบัติแล้ว โมกขัง จึงจะข้ามพ้น จึงพ้นจากโลกชื่อว่า โลกุตตะระธรรม เขมัง จึงเกษมจากโยคะ (เครื่องร้อย) ฉะนั้น เนื้อความใน มัชฌิมะเทศนาจึงสำคัญเพราะเล็งถึงวิมุตติธรรมด้วยประการฉะนี้และฯ

ค.     ปัจฉิมโพธิกาล ทรงแสดงปัจฉิมเทศนาในที่ชุมชนพระอริยะสาวก ณ พระราชอุทยานสาละวันของมัลละกษัตริย์กรุงกุสินารา ในเวลาจวนจะปรินิพพานว่า หันทานิ อามันตะยามิ โว ภิกขะเว ปฏิเวทยามิ โว ภิกขะเว ขะยะวะยะธัมมา สังขารา อัปปะมาเทนะ สัมปาเทถะ เราบอกท่านทั้งหลายว่าจงเป็นผู้ไม่ประมาท พิจารณาสังขารที่เกิดขึ้นแล้วเสื่อมไป เมื่อท่านทั้งหลายพิจารณาเช่นนั้นจักเป็นผู้แทงตลอด พระองค์ตรัสพระธรรมเทศนาเพียงเท่านี้ก็ปิดพระโอษฐ์มิได้ตรัสอะไรต่อไปอีกเลย จึงเรียกว่า ปัจฉิมเทศนาอธิบายความต่อไปว่า สังขารมันเกิดขึ้นที่ไหน อะไรเป็นสังขาร สังขารมันก็เกิดขึ้นที่จิตของเราเองเป็นอาการของจิตพาให้เกิดขึ้นซึ่งสมมติทั้งหลาย

สังขารนี้แล เป็นตัวการสมมติบัญญัติสิ่งทั้งหลายในโลกความจริงในโลกทั้งหลายหรือธรรมธาตุทั้งหลายเขามีเขาเป็นอยู่อย่างนั้น แผ่นดิน ต้นไม้ ภูเขา ฟ้า แดด เขาไม่ได้ว่าเขาเป็นนั้นเป็นนี้เลย เจ้าสังขารตัวการนี้เข้าไปปรุงแต่งว่า เขาเป็นนั้นเป็นนี้จนหลงกันว่าเป็นจริง ถือเอาว่าเป็นตัวเรา เป็นของๆ เราเสียสิ้น จึงมี ราคะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้นทำจิตดั้งเดิมให้หลงตามไป เกิด แก่ เจ็บ ตาย เวียนว่ายไปไม่มีที่สิ้นสุด เป็นอเนกภพ อเนกชาติ เพราะเจ้าตัวสังขารนั้นแลเป็นตัวเหตุ

จึงทรงสอนให้พิจารณาสังขารว่า สัพเพ สังขารา อนิจจา สัพเพ สังขารา ทุกขา ให้เป็นปรีชาญาณชัดแจ้ง เกิดจากผลแห่งการเจริญปฏิภาคเป็นส่วนเบื้องต้น จนทำจิตให้เข้าภวังค์ เมื่อกระแสแห่งภวังค์หายไป มีญาณเกิดขึ้นว่า "นั้นเป็นอย่างนั้น เป็นสภาพไม่เที่ยง เป็นทุกข์" เกิดขึ้นในจิตจริงๆ จนชำนาญเห็นจริงแจ้งประจักษ์ ก็รู้เท่าสังขารได้ สังขารก็จะมาปรุงแต่งให้จิตกำเริบอีกไม่ได้ ได้ในคาถาว่า อะกุปปัง สัพพะธัมเมสุ เญยยะธัมมา ปเวสสันโต เมื่อสังขารปรุงแต่งจิตไม่ได้แล้ว ก็ไม่กำเริบรู้เท่าธรรมทั้งปวง สันโต ก็เป็นผู้สงบระงับถึงซึ่งวิมุตติธรรม ด้วยประการฉะนี้

 ปัจฉิมเทศนานี้เป็นคำสำคัญแท้ ทำให้ผู้พิจารณารู้แจ้งถึงที่สุด พระองค์จึงได้ปิดพระโอษฐ์แต่เพียงนี้

 พระธรรมเทศนาใน 3 กาลนี้ ย่อมมีความสำคัญเหนือความสำคัญในทุกๆ กาล ปฐมเทศนาก็เล็งถึงวิมุตติธรรม มัชฌิมะเทศนาก็เล็งถึงวิมุตติธรรม ปัจฉิมเทศนาก็เล็งถึงวิมุตติธรรม รวมทั้ง 3 กาล ล้วนแต่เล็งถึงวิมุตติธรรมทั้งสิ้น ด้วยประการฉะนี้

ข้อ 17. พระอรหันต์ทุกประเภทบรรลุทั้งเจโตวิมุตติ ทั้งปัญญาวิมุตติ
             อะนาสะวัง เจโตวิมุตติง ปัญญาวิมุตติง ทิฏเฐวะ ธัมเม สะยัง อภิญญา สัจฉิกะตะวา อุปปะสัมปัชชะ วิหรติ พระบาลีนี้แสดงว่าพระอรหันต์ทั้งหลายไม่ว่าประเภทใดย่อมบรรลุทั้งเจโตวิมุตติ ทั้งปัญญาวิมุตติ...ที่ปราศจากอาสวะในปัจจุบัน หาได้แบ่งแยกไว้ว่า ประเภทนั้นบรรลุแต่เจโตวิมุตติ หรือปัญญาวิมุติไม่ ที่เกจิอาจารย์แต่งอธิบายไว้ว่า เจโตวิมุตติเป็นของพระอรหันต์ผู้ได้สมาธิก่อน



ส่วนปัญญาวิมุตติเป็นของพระอรหันต์สุกขะวิปัสสะกะผู้เจริญวิปัสสนาล้วนๆ นั้นย่อมขัดแย้งต่อมรรค  มรรคประกอบด้วยองค์ 8 มีทั้งสัมมาทิฏฐิ ทั้งสัมมาสมาธิ ผู้จะบรรลุวิมุตติธรรมจำต้องบำเพ็ญมรรค 8 บริบูรณ์ มิฉะนั้นก็บรรลุวิมุตติธรรมไม่ได้ ไตรสิกขาก็มีทั้งสมาธิ ทั้งปัญญา อันผู้จะได้อาสะวักขยะญาณจำต้องบำเพ็ญไตรสิกขาให้บริบูรณ์ทั้ง 3 ส่วน ฉะนั้นจึงว่า พระอรหันต์ทุกประเภทต้องบรรลุทั้งเจโตวิมุตติ ทั้งปัญญาวิมุตติด้วยประการฉะนี้แลฯ
------------------------------------------------------------------------



No comments:

Post a Comment