Search This Blog / The Web ค้นหาบล็อค / เว็บ

Wednesday, July 9, 2014

วันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา | Asalha Buja Day and Buddhist Lent Day รวบรวมเขียนโดย อ. สุชาติ ภูวรัตน์

วันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา

  Asalha Buja Day and Buddhist Lent Day



จัดทำโดย อ.สุชาติ ภูวรัตน์
นธ.เอกบาลีประโยค 1-2
(อดีตพระธรรมทูตต่างประเทศ)
B.S. Engineering Design Tech.
 B.A. ศาสนศาสตร์บัณฑิต
B.S. Computer Information Systems
B.TM.  พทย์แผนไทยบัณฑิต
สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ
บ.ภ.พท.ว.พท.ผ.พท.น.
ครูแพทย์แผนไทย 4 ด้าน
ศูนย์การแพทย์แผนไทยภูเก็ต

ทำเพื่อการศึกษาและประโยชน์แก่ผู้ชม


วันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา


วันอาสาฬหบูชา ตรงกับ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8
วันเข้าพรรษา    ตรงกับ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8
 เป็นวันที่มีความสำคัญทางพระพุทธศาสนา 

วันอาสาฬหบูชา
วันอาสาฬหบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 วันอาสาฬหบูชา เป็น วันที่พระพุทธเจ้าได้ทรงประกาศพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก โดยการแสดงปฐมเทศนาโปรดพระปัญจวัคคีย์ ทั้ง 5 ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันจนพระอัญญาโกณฑัญญะได้บรรลุธรรมและขอบวชเป็นพระภิกษุ รูปแรกในพระพุทธศาสนา จึงถือว่าวันนี้เป็นวันแรกที่มีพระสงฆ์เกิดขึ้นครบองค์พระรัตนตรัย

วันอาสาฬหบูชา เป็นวันที่สมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แสดง พระปฐมเทศนา หรือการแสดงพระธรรมครั้งแรก หลังจากที่ตรัสรู้ได้ 2 เดือน เป็นวันที่เริ่มประดิษฐานพระพุทธศาสนาเนื่องจากมีองค์ประกอบของ พระรัตนตรัยครบถ้วน คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนพุทธศักราช 45 ปี ในวันเพ็ญ (ขึ้น 15 ค่ำ) เดือน 8 ดวงจันทร์ เสวยมาฆฤกษ์


การแสดงพระปฐมเทศนาในวันอาสาฬหบูชา นี้ทรงได้แสดงแก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ปัจจุบันคือสารนาถ เมืองพาราณสี พระธรรมที่แสดงคือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร        เมื่อเทศนาจบ พระโกณฑัญญะ หนึ่งในปัญจวัคคีย์ ผู้ประกอบด้วย พระโกณฑัญญะ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานาม และพระอัสสชิ ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม มีความเห็นแจ้งชัดว่า
        
ยัง กิญจิ สมุทะยะธัมมัง                      สัพพันตัง นิโรธะธัมมันติ
สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา       สิ่งใดสิ่งนั้นย่อมดับไปเป็นธรรมดา


 




ธัมเมกขสถูป

เมื่อได้ดวงตาเห็นธรรมจึงขออุปสมบทเป็น พระภิกษุในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าก็ประทานอุปสมบทให้ ด้วยวิธีที่เรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา โดยกล่าวคำว่า เธอจงเป็นภิกษุมาเกิด พระโกณฑัญญะจึงเป็น พระอริยสงฆ์องค์แรก

คำว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แปลว่าสูตรของการหมุนวงล้อแห่งพระธรรมให้เป็นไปมีความโดยย่อว่า
ที่สุด 2 อย่างที่บรรพชิตไม่ควรประพฤติปฏิบัติคือ การประกอบตนให้อยู่ในความสุขด้วยกาม ซึ่งเป็นธรรมอันเลวเป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ที่สุดอีกทางหนึ่งคือ การประกอบการทรมานตนให้เกิดความลำบาก ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์

การดำเนินตามทางสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ที่สุดทั้งสองอย่างนั้น เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ ด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาและญาณให้เกิด เป็นไปเพื่อความสงบระงับ ความรู้ยิ่ง ความตรัสรู้ และนิพพาน ทางสายกลาง ได้แก่ อริยมรรค มีองค์แปด คือ ปัญญาอันเห็นชอบ ดำริห์ชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ และตั้งใจชอบ อริยสัจสี่ คือความจริงอันประเสริฐที่พระองค์ค้นพบ มี 4 ประการได้แก่

อริยสัจ 4

อริยสัจ 4 แปลว่า ความจริงอันประเสริฐของอริยะ ซึ่งคือ บุคคลที่ห่างไกลจากกิเลศทั้งปวง ได้แก่

1. ทุกข์ ได้แก่ ปัญหาทั้งหมดทั้งมวลที่เกิดขึ้นจากมนุษย์ จักต้องกำหนดรู้ให้เท่าทันในความจริง ต้องยอมรับรู้ กล้าสู้ปัญหา กล้าเผชิญหน้า ต้องเข้าใจในสภาวะโลกในทุกสิ่งนั้นไม่เที่ยง มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่ยึดติดกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง


2. สมุทัย ได้แก่ เหตุเกิดแห่งทุกข์ หมายถึงสาเหตุของปัญหาที่ทำให้เกิดทุกข์ เพราะเป็นต้นเหตุสำคัญในการเกิดทุกข์ ที่จะเชื่อมโยงกับปัจจัยอื่นๆ

3. นิโรธ ได้แก่ การดับทุกข์ การอยู่อย่างรู้เท่าทัน การดำเนินชีวิตด้วยการใช้ปัญญา การไม่มีทุกข์ การไม่ข้องเกี่ยวในกิเลส


4. มรรค ได้แก่ หนทางในการแก้ไขปัญหา ในการดับทุกข์ ซึ่งมีองค์ประกอบทั้ง 8 ประการ


มรรค 8

1. สัมมาทิฏฐิ คือ มีปัญญาเห็นชอบ หมายถึง ปฏิบัติตนอย่างเหมาะสมตามความเป็นจริงด้วยสติและปัญญา


2. สัมมาสังกัปปะ คือ ดำริชอบ หมายถึง การใช้สมองความคิดพิจารณาแต่ในทางกุศลหรือความดีงาม ไม่หลุมหลงมัวเมาในสิ่งไม่ดี


3. สัมมาวาจา คือ เจรจาชอบ หมายถึง การพูดต้องสุภาพ แต่ในสิ่งที่สร้างสรรค์ดีงาม ไม่พูดเพ้อเจ้อไร้สาระ


4. สัมมากัมมันตะ คือ ความประพฤติชอบ หมายถึง การประพฤติดีงาม อยู่ในทำนองคลองธรรม


5. สัมมาอาชีวะ คือการมีอาชีพชอบ หมายถึง การทำมาหากินอย่างสุจริตชน ไม่คดโกง ไม่เอาเปรียบหรือเบียดเบียนผู้อื่น


6. สัมมาวายามะ คือ การมีความมานะชอบ หมายถึง ความอุตสาหะพยายาม มีความอดทนต่อการปฏิบัติงานใดๆ


7. สัมมาสติ คือ การมีสติชอบ หมายถึง การมีสติ ใช้สติอยู่ตลอดเวลา ไม่ทำจิตให้เลื่อนลอย ดำรงอยู่ด้วยความรู้ตัวอยู่เป็นปกติ


8. สัมมาสมาธิ คือ การมีสมาธิชอบ หมายถึง การฝึกจิตให้สงบและตั้งมั่น เพื่อให้ปราศจากกิเลสและนิวรณ์อยู่เสมอ

วันอาสาฬหบูชา
ดวงตา ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแก่พระองค์ว่า
นี้เป็นทุกข์ อันควรกำหนดรู้ และพระองค์ ได้กำหนดรู้แล้ว
นี้เป็นสาเหตุแห่งทุกข์ อันควรละ และพระองค์ ได้ละแล้ว
นี้เป็นความดับทุกข์ อันควรทำให้แจ้ง และพระองค์ 
ได้ทำให้แจ้งแล้วนี้เป็นหนทางดับทุกข์ อันควรเจริญ 
และพระองค์ ได้เจริญแล้ว

สรุปได้ว่า ปัญญาอันรู้เห็นแจ้งชัดตามความเป็นจริงในอริยสัจ 4 มีรอบ 3 มีอาการ 12 คือ ขั้นแรก รู้ว่า อริยสัจแต่ละอย่างนั้นเป็นอย่างไร ขั้นที่สองรู้ว่าควรจะทำอย่างไรในอริยสัจแต่ละประการนั้น และขั้นที่ 3 พระองค์ได้ กระทำตามนั้นสำเร็จเสร็จแล้ว

วันอาสาฬหบูชา พระองค์ทรงเน้นว่า จากการที่พระองค์ทรงค้นพบ คือตรัสรู้อริยสัจ 4 ประการนี้ การที่พระองค์ทรงกล้าปฏิญญา ว่าเป็นผู้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เพราะพระองค์ได้รู้เห็นแจ้งชัดตามความเป็นจริง ในอริยสัจ 4 มี รอบ 3 มีอาการ 12 อย่างหมดจดดีแล้ว เมื่อ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศพระธรรมจักร ให้เป็นไปแล้ว ได้มีการบันลือต่อ ๆ กันไปให้ทราบทั่วกันว่า พระธรรมอันยอดเยี่ยมที่พระองค์ทรงประกาศให้เป็นไปแล้ว ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตเมืองพาราณสี อันใคร ๆ ในโลกจะปฏิวัติไม่ได้
 
วันอาสาฬหบูชา
วันอาสาฬหบูชา มีเหตุการณ์สำคัญในทางพระพุทธศาสนาอยู่ 3 ประการคือ

1. เป็นวันแรกที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระศาสนา โดยทางแสดงพระปฐมเทศนา คือ ธรรมจักกัปปวัตนสูตร ประกาศสัจธรรมอันเป็นองค์แห่งพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณที่พระองค์ตรัสรู้ ให้เป็นที่ประจักษ์แก่ สรรพสัตว์ทั้งหลาย

2. เป็นวันแรกที่บังเกิดพระอริยสงฆ์สาวกขึ้นในโลก คือ พระโกณฑัญญะ เมื่อได้ฟังพระปฐมเทศนาจบ ได้ดวงตาเห็นธรรม ได้ทูลขออุปสมบท และพระพุทธเจ้าได้ประทานอุปสมบทให้ด้วยวิธีเอหิภิกษุอุปสัมปทา ในวันนั้นวันอาสาฬหบูชา

3. เป็นวันแรกที่บังเกิดพระรัตนตรัย คือ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตน และพระสังฆรัตนะ ขึ้นในโลกอย่างสมบูรณ์บริบูรณ์


กิจกรรมในวันอาสาฬหบูชา

โดยทั่วไปจะนิยมทำบุญ ตักบาตร เข้าวัดฟังธรรม รักษาศีล และสวดมนต์ ร่วมกันในตอนค่ำในวัดต่างๆ ซึ่งจะมีการจัดพิธีสวดมนต์ เวียนเทียนร่วมกัน โดยถือเป็นการสืบทอดขนบธรรมเนียมประเพณีของเราชาวพุทธ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระคุณพระรัตนตรัย อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างจิตใจให้เราดำเนินชีวิตไปอย่างมีความสุขอีก



การถือปฏิบัติวันอาสาฬหบูชาในประเทศไทย

             พิธีวันอาสาฬหบูชาเริ่มกำหนดเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาขึ้นเป็นครั้งแรกใน ประเทศไทย เมื่อพุทธศักราช 2501 โดยพระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี) ครั้งดำรงตำแหน่งสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การศึกษาได้เสนอคณะสังฆมนตรี ให้เพิ่มวันศาสนพิธีทำพุทธบูชาขึ้น อีกวันหนึ่ง คือ วันธรรมจักร หรือวันอาสาฬหบูชา ด้วยเป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมจักกัปปวัตนสูตร คณะสังฆมนตรีลงมติรับหลักการให้เพิ่มวันอาสาฬหบูชาและให้ถือเป็นหลักปฏิบัติ 
ในเวลาต่อมา 

โดยออกเป็นประกาศคณะสงฆ์ เรื่อง กำหนดวันสำคัญทางศาสนา เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2501 และในวันเดียวกันนั้นได้มีประกาศสำนักสังฆนายก กำหนดระเบียบปฏิบัติในพิธีอาสาฬหบูชาขึ้นไว้ให้วัดทุกวัดถือปฏิบัติทั่วกัน กล่าวคือก่อนถึงวันอาสาฬหบูชา 1 สัปดาห์ให้เจ้าอาวาสแจ้งแก่พระภิกษุสามเณรตลอดจนศิษย์วัด คนวัดช่วยกันปัดกวาด ปูลาดอาสนะ จัดตั้งเครื่องสักการะให้ประดับธงธรรมจักรรอบพระอุโบสถตลอดวัน ทั้งเวลาเช้าและเวลาบ่ายให้มีการฟังธรรมตามปกติ เวลาค่ำให้ภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา มาประชุมพร้อมกันที่หน้าพระอุโบสถ หรือพระเจดีย์ จุดธูปเทียนแล้วถือรวมกับดอกไม้ยืนประนมมือสำรวมจิตโดยพระสงฆ์ผู้เป็นประธาน นำกล่าวคำบูชาจบแล้วทำประทักษิณ 

ครั้นแล้วให้ภิกษุสามเณรเข้าไปบูชาพระรัตนตรัยทำวัตรค่ำแล้ว สวดธรรมจักรกัปปวัตนสูตร จบแล้วให้อุบาสก อุบาสิกาทำวัตรค่ำ ต่อจากนั้นให้พระสังฆเถระ แสดงพระธรรมเทศนาธรรมจักรกัปปวัตนสูตรแล้ว ให้พระภิกษุสามเณรสวดธรรมจักรกัปปวัตนสูตรทำนองสรภัญญะ เพื่อเจริญศรัทธาปสาทะของพุทธศาสนิกชนจบแล้ว ให้เป็นโอกาสของพุทธศาสนิกชนเจริญภาวนามัยกุศล มีสวดมนต์สนทนาธรรม บำเพ็ญสมถะและวิปัสสนา เป็นต้น ตามควรแก่อัธยาศัยให้ใช้เวลาทำพิธีอาสาฬหบูชาไม่เกิน เวลา 24.00 น. และได้มีการทำพิธีอาสาฬหบูชาอย่างกว้างขวาง นับแต่นั้นมาทางราชการ ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีให้มีการชักธงชาติ ถวายเป็นพุทธบูชาในวันนี้ด้วย

เมื่อวันอาสาฬหบูชา ซึ่งตรงในวันเดียวกันได้เวียนมาบรรจบอีกครั้งหนึ่งในรอบปี คือ เวียนมาบรรจบในวันเพ็ญอาสาฬหบูชาเดือน 8 ของไทยเรา ชาวพุทธทั่วโลกจึงประกอบพิธีสักการบูชา การประกอบพิธีในวันอาสาฬหบูชาแบ่งออกเป็น 3 พิธีคือ

             1. พิธีหลวง (พระราชพิธี)
             2. พิธีราษฎร์ (พิธีของประชาชนทั่วไป)
             3. พิธีของพระสงฆ์ (คือพิธีที่พระสงฆ์ประกอบศาสนกิจเนื่องในวันสำคัญวันนี้)


การประกอบพิธีและบทสวดมนต์ในวันอาสาฬหบูชาก็ปฏิบัติเช่นเดียวกับการประกอบพิธีในวันวิสาบูชา 




 ......................................................................................

วันเข้าพรรษา

ประวัติวันเข้าพรรษา

วันเข้าพรรษา ซึ่งอยู่ต่อจากวันอาสาฬหบูชา ถือเป็นสิ่งที่ดีที่เดือนกรกฏาคมนี้ มีวันสำคัญทางพุทธศาสนาเราถึง 2 วัน วันนี้จึงนำเกร็ดความรู้ และสิ่งดีๆ มาบอกเล่าถึงความหมายของ วันเข้าพรรษาว่าเกี่ยวข้องและสำคัญอย่างไรต่อพระสงฆ์ ในศาสนาพุทธของเรากัน

ความหมายวันเข้าพรรษา

 

วันเข้าพรรษา ตรงกับวันแรม 1 ค่ำเดือน 8 ซึ่งเป็นวันที่บ่งบอกถึงฤดูฝน ตามพระพุทธบัญญัติว่า เมื่อถึงวันเข้าพรรษาพระสงฆ์ต้องเข้าจำพรรษา ในสถานที่ใดสถานที่หนึ่งที่ทรงอนุญาตให้เข้าอาศัยอยู่ได้ โดยไม่ผิดกฎที่พระพุทธเจ้าทรงห้ามมิให้อยู่จำพรรษาในสถานที่อันไม่สมควร เช่น ในโลงผี ในที่กลางแจ้ง ในกลด หรือแม้กระทั่ง ในตุ่ม ดังนั้น พระสงฆ์ต้องประพฤติปฎิบัติตามกิจของสงฆ์ 

คือก่อนที่ถึงวันเข้าพรรษา พระสงฆ์ ควรทำความสะอาดตามเสนาสนะสำหรับอยู่จำพรรษา รวมถึง พระอุโบสถ และอื่นๆ โดยพระสงฆ์จะต้องประกอบพิธีอธิษฐานพรรษา คือการตั้งอธิษฐานใจของตนเองว่าตลอดฤดูกาลเข้าพรรษานี้ จะไม่ไปไหน ด้วยการเปล่งวาจาว่า ข้าพเจ้าจะอยู่จำพรรษาในที่อาวาสนี้ตลอด 3 เดือนเริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 8 (ประมาณเดือนกรกฎาคม) ไปจนถึง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 (ประมาณเดือนตุลาคม

หลังจากเสร็จพิธีแล้ว พระสงฆ์ก็จะนำดอกไม้ ธูปเทียนไปขอขมาพระอุปัชฌาย์อาจารย์ และพระเถระผู้ที่ตนเองนับถือ


กิจวัตรของพระภิกษุในช่วงวันเข้าพรรษา

ในช่วงเข้าพรรษา กิจวัตรของพระภิกษุจะคล้ายกับวันออกพรรษา พียงแต่พระภิกษุสงฆ์จะต้องไม่ออกไปนอกพื้นที่ พระภิกษุสงฆ์ที่มีพรรษามากกว่า จะทำหน้าที่เป็นครูบาอาจารย์ ใครถนัดด้านวิชาใด ก็สั่งสอนเผยแพร่แก่พระภิกษุสงฆ์ที่พรรษาน้อยกว่า ช่วงวันเข้าพรรษานี้จึงจะทำให้พระภิกษุสงฆ์มีโอกาสได้ศึกษาพระไตรปิฏกมาก ยิ่งขึ้น

ประเพณีที่นิยมในวันเข้าพรรษา

 

ประเพณีการหล่อเทียนพรรษา (วันเข้าพรรษา) นับว่าเป็นประเพณีที่ปฏิบัติทำกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล มูลเหตุที่ต้องมีการหล่อเทียนเข้าพรรษานั้นเนื่องมาจากในฤดูฝน หรือเรียกว่าฤดูการเข้าพรรษาพระสงฆ์ต้องจำพรรษาสวดมนต์ทำวัตรทุกเช้าค่ำ ซึ่งมีความจำเป็นที่ต้องใช้เทียนไว้สำหรับ จุดบูชาให้ตลอดพรรษา พุทธศาสนิกชนจึงพร้อมใจกันหล่อพรรษา เพื่อนำไปถวายแก่พระสงฆ์ไว้จุดบูชา ทำกิจของสงฆ์ตลอด 3 เดือน จึงเรียกเทียนที่หล่อขึ้นมานี้ว่า เทียนพรรษาหรือ เทียนจำพรรษา



อานิสงฆ์การถวายเทียนพรรษา

  • ทำให้เกิดสติ ปัญญา ทั้งชาตินี้และชาติหน้า เปรียบดั่งแสงสว่างแห่งเทียน
  • ทำให้เจริญไปด้วยมิตรสหายบริวาร
  • ย่อมเป็นที่รักใคร่ของมนุษย์ และเทวดาทั้งหลาย
  • ทำให้คลี่คลายเรื่องราวปัญหาต่างๆ จากร้ายกลายเป็นดี


ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

ผ้าจำนำพรรษา คือ ผ้าที่ทายกถวายแก่พระสงฆ์ ผู้อยู่จำพรรษาครบแล้วในวัดนั้น ที่นั้น ภายในเขตจีวรกาล เรียกอีกอย่างว่า 
ผ้าวัสสาวาสิกสาฎิกาผ้าอาบน้ำฝน คือ ผ้าที่สำหรับ
อธิษฐานไว้ใช้นุ่งอาบน้ำฝนตลอดเดือนแห่งฤดูฝน 
เรียกอีกอย่างว่า ผ้าวัสสิกสาฏิกา

คำถวายเทียนพรรษา

บทสวดถวายเทียนพรรษา ภาษาบาลี

ยัคเฆ ภันเต สังโฆ ปฏิชานาตุ มะยัง ภันเต เอตะ ปทีปะยุตัง สะปริวารัง เตมาสัง พุทฺธัสสะ ปูชะนัตถายะ อิมัสมิง อุโปสะถาคาเร นิยยาเทมะ อะยัง เตมาสัง พุทธัสสะ ปูชะนัตถายะ ปทีปะยุคัสสะ ทานัสสะ อนิสังโส อัมหากัญเจวะ มาตาปิตุอาทีนัญจะ ปิยะชนานัง ฑีฆรัตตัง 
หิตายะ สุขายะ สังวัตตะตุ ฯ


บทสวดถวายเทียนพรรษา ภาษาไทย
ยัค เฆ ภันเต สังโฆ ปะฏิชานาตุ มะยัง ภันเต เอตัง ปะทีปะยุตัง สะปะริวารัง เตมาสัง พุทธัสสะ ปูชะนัตถายะ อิมัสมิง อุโปสะถาคาเร นิยยาเทมะ อะยัง เตมาสัง พุทธัสสะ ปูชะนัตถายะ ปะทีปะยุคัสสะ ทานัสสะ อะนิสังโส อัมหากัญเจวะ มาตาปิตุอาทีนัญจะ ปิยะชะนานัง 
ฑีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ สังวัตตะตุฯ

คำแปล
ข้า แต่ท่านผู้เจริญ ขอพระสงฆ์จงรับทราบ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายเทียนคู่นี้ พร้อมกับของบริวาร ไว้ ณ พระอุโบสถนี้ เพื่อเป็นพุทธบูชาตลอดพรรษา ขออนิสสงส์แห่งการถวายคู่เทียน เพื่อเป็นพุทธบูชาตลอดพรรษานี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย จงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายด้วย แก่ปิยชนทั้งหลาย มีมารดาบิดาเป็นต้นด้วย ตลอดกาลนาน เทอญ
----------------------------------------------------------------------