Search This Blog / The Web ค้นหาบล็อค / เว็บ

Monday, May 12, 2014

ประวัติ-คำสอนของพระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี พระอริยสงฆ์ไทยผู้มีอัฐิเป็นพระธาตุ รวบรวมจัดทำโดย อ. หมอสุชาติ ภูวรัตน์


ประวัติ การปฏิบัติธรรม 

คำสอนของพระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี 

(พระอริยสงฆ์ผู้ปฏิบัติดี มีอัฐิเป็นพระธาตุ)

 

 


จัดทำโดย อ.หมอสุชาติ ภูวรัตน์
นธ.เอกบาลีประโยค 1-2
(อดีตพระธรรมทูตต่างประเทศ)
B.S. Engineering Design Tech.
 B.A. ศาสนศาสตร์บัณฑิต
B.S. Computer Information Systems
B.TM.  พทย์แผนไทยบัณฑิต
สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ
บ.ภ.พท.ว.พท.ผ.พท.น.
ครูแพทย์แผนไทย 4 ด้าน
ศูนย์การแพทย์แผนไทยภูเก็ต

ทำเพื่อการศึกษาและประโยชน์แก่ผู้ชม

           พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี มีนามเดิมว่า เทสก์ เรี่ยวแรง เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2445 ปีขาล ณ บ้านสีดา ตำบลกลางใหญ่ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี บิดาชื่ออุส่าห์ เรี่ยวแรง เดิมเป็นชาวอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย หนีความทุกข์ยากมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านนา งิ้ว ตำบลกลางใหญ่ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี

       มารดาชื่อ ครั่ง เป็นชาวพวน ได้อพยพหนีพวกโจรขโมยมาจากทุ่งย่างเมืองฝาง อำเภอ ลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ได้สมรสกับนายอุส่าห์ มีบุตรธิดาด้วยกัน 10 คน ท่านเป็นคนที่ 9 และตายตั้งแต่เด็ก 2 คน เป็นหญิงหนึ่ง ชาย หนึ่ง เติบโตมาด้วยกัน 8 คน ชาย 4 คน หญิง 4 คน
       เมื่อเป็นเด็กอายุได้ 9 ขวบ ได้เรียนหนังสือภาษาไทยกับพี่ชาย ซึ่งบวชเป็นพระกับเด็ก ๆ ด้วยกันกว่า 10 คน และได้เรียนหนังสือประถม ก. กา มูลบทบรรพกิจ เรียนอยู่ปีกว่าพออ่านได้บ้าง แต่ยังไม่คล่อง แต่หนังสือสำหรับพระเณรเรียน

          ในสมัยนั้น ซึ่งเขาเรียกว่า หนังสือธรรม (จารเฉพาะธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า) อ่านได้คล่อง ต่อมาพี่ชายสึกจากพระไม่มีใครสอนเลยเลิกเรียนกันทั้งหมด แล้วได้ออกจากวัด ไปช่วยงานบิดามารดา

          จนกระทั่งอายุราว 13-14 ปี เกิดนิมิตความฝันว่า พระธุดงค์ไล่ตีด้วยแส้วิ่งหนีเอาตัวรอด กระทั่งวิ่งเข้าห้องนอนร้องให้ บิดามารดาช่วยท่านทั้งสองก็เฉยอยู่เหมือนกับไม่มีเรื่องอะไร พระธุดงค์หวดด้วยแส้สะดุ้งตื่นเหงื่อโชกทั้งตัว ปรากฏรอยแส้ยังเจ็บแสบอยู่ พระอาจารย์เทสก์ นึกว่าเป็นจริง ตื่นขึ้นมาจึงรู้ว่าเป็นความฝัน 

            ต่อนั้นมา
พระอาจารย์เทสก์ ได้มีความคิดถึงเรื่องอาชีพของมนุษย์ที่กระทำกันอยู่ตั้ง ต้นแต่ฝนตก ดินชุ่มฉ่ำ ลงมือทำนา และเรื่องอะไรจิปาถะ ตลอดถึงปีใหม่ ลงมือทำนาอีก อย่างนี้อยู่ตลอดชีวิต มาคิดเห็นว่าเกิดมานี้แสนทุกข์ลำบาก จริง ๆ ทำงานไม่มีเวลาหยุดยั้ง ซึ่งแต่ก่อนมาพระอาจารย์เทสก์ ไม่เคยนึกคิดอย่างนี้เลยสักที มีแต่มัวเมาด้วยการเพลิดเพลินตามประสาคนชนบท

            เมื่ออายุ 16 ปี เจ้า คุณพระญาณวิสิษฏ์ สมิทธิวีรจารย์ (พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม) ได้เดินรุกขมูล มาถึงวัดบ้านนาสีดา ตำบลกลาง ใหญ่ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นวัดที่พระอาจารย์เทสก์ อุปัฏฐากอยู่ จึงเป็นโอกาสดีที่พระอาจารย์เทสก์ได้มีโอกาสปฏิบัติพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม แต่เนื่องด้วยวัดเป็นป่าทึบไข้มาลาเรียชุกชุม พระอาจารย์สิงห์เป็นไข้อยู่ไม่ได้จึงได้ออกไปจำพรรษาที่อื่นและได้ชักชวน พระอาจารย์เทสก์ให้ ไปจำพรรษากับท่านด้วย 

          ออกพรรษาแล้วพระอาจารย์สิงห์ได้กลับเมืองอุบลาชธานี ซึ่งเป็นถิ่นเดิมของท่าน
 พระอาจารย์เทสก์ก็ได้ติดตามท่านไป โดยก่อนไป
พระอาจารย์เทสก์ ได้เอาดอกไม้ธูปเทียนใส่ขันแล้วไปขอขมาโทษผู้เฒ่าผู้แก่ที่พระอาจารย์เทสก์  คุ้นเคย ซึ่งท่านเหล่านั้นก็ให้ศีลให้พรให้สำเร็จตามความ ปรารถนาทุกประการ

           พระอาจารย์เทสก์ได้ติดตามพระอาจารย์สิงห์ รอนแรมไปในป่าและบ้านเล็กบ้านน้อย บางครั้งผจญกับไข้ป่าซึ่งเมื่อเป็น ไข้ก็พักนอนตามร่มไม้ ไข้สร่างแล้วก็เดินทางต่อไปพร้อมกันนั้นก็ทำความเพียรภาวนาไปในตัว เป็นเวลาเดือนกว่าจึงถึงเมืองอุบลฯ 

           
พระอาจารย์เทสก์ ได้บรรพชาเป็นสามเณร โดยมีพระอาจารย์ลุย บ้านดงเค็งใหญ่ เป็นพระอุปัชฌาย์ บรรพชา แล้วได้ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมจนสอบนักธรรมชั้นตรีได้ในปีที่มี อายุครบ 20 และวันที่ 16 พฤษภาคม 2466 จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดสุทัศน์ อำเภอเมืองอุบลราชธานี โดยมีพระมหารัฐ เป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระมหาปิ่น ปัญฺญาพโล เป็นพระกรรมวาจาจารย์

ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และการปฏิบัติธรรม
         เมื่ออุปสมบทแล้ว พระอาจารย์เทสก์ก็ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดสุทัศน์นั้นเอง ในปีนั้น พระอาจารย์สิงห์ได้กลับมาจำพรรษาที่เมืองอุบลราชธานี อีก ออกพรรษาแล้วพร้อมด้วยพระมหาปิ่น ปัญฺญาพโล (น้องชาย ของท่านอาจารย์สิงห์) และพระอีกหลายรูปด้วยกันได้ออกเดินรุกขมูลไปในที่ต่าง ๆ เดินตัดลัดป่าดงมูลและดงลิงซึ่งเลื่องลือในสมัยนั้นว่าเป็นป่าช้า ดงเสือ ผ่านจังหวัดร้อยเอ็ดและกาฬสินธุ์ตลอด ถึงจังหวัดอุดรธานี

           พระอาจารย์เทสก์ได้ผจญภัยอันตรายและความยากลำบากต่างๆ แต่ก็ได้รับรสชาติของการออกเที่ยวรุกขมูล จนกระทั่ง เดินทางถึงบ้านค้อ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ได้พบพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล และพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต อยู่ ณ ที่นั่น ได้ เข้าฟังธรรมเทศนาจากท่านได้รับความชื่อใจสงบสบายดี ได้พักอยู่กับท่าน 2-3 คืน จากนั้นพระอาจารย์สิงห์ ได้พากลับไปจำ พรรษาที่บ้านหนองลาด อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร

            ในปีนั้นพระอาจารย์เทสก์ได้ทำความเพียรอย่างกล้าหาญเด็ดเดี่ยว มีการทำ ความเพียรภาวนาตลอดวันค่ำคืนรุ่ง พร้อมกันนั้นก็ผ่อนอาหาร ฉันน้อยที่สุดคือ ทำคำข้าวเหนียวเป็นคำๆ แต่ 60 คำ ถอยลงมา โดยลำดับถึง 3 คำ ฉันอยู่ 3 วัน แล้วก็เพิ่มขึ้นโดยลำดับถึง 5 คำ ฉันอยู่ได้ 5 วัน 10 คำ ฉันอยู่ได้ 10 วัน   ฉันอยู่ได้ 3 เดือน 

           กับข้าวก็มีแต่พริกกับเกลือเท่านั้น ตลอดเวลา ๓ เดือน กิจวัตรเป็นต้นว่า บิณฑบาต ปัดกวาดลานวัดและหาบน้ำ ตลอดถึงอาจาริยวัตร ไม่ขาดสักวัน จนกระทั่งออกพรรษาแล้วพระอาจารย์มั่นได้เรียกตัวให้ไปพบเพื่อกิจของสงฆ์ บางอย่าง หลังจากนั้น
พระอาจารย์เทสก์ ก็ไม่ได้กลับไปจำพรรษากับพระอาจารย์สิงห์อีก
    
           ในปี พ.ศ. 2468 ซึ่ง เป็นพรรษาที่ 3 ของพระอาจารย์เทสก์ได้จำพรรษาที่บ้านนาช้างน้ำ ซึ่งไม่ไกลจากท่าบ่อที่พระอาจารย์มั่นอยู่ พระอาจารย์เทสก์ได้หมั่นไปฟังเทศน์เสมอ ออกพรรษาแล้วพระอาจารย์มั่น พร้อมด้วยคณะได้ออกเดินทางลงไปทางสกลนคร 

          พระอาจารย์เทสก์มีความคิดถึงโยมแม่ จึงได้กลับไปบ้านเพื่อสงเคราะห์โยมแม่และได้แนะนำให้ท่านนุ่งขาวรักษา ศีล 8
 
ซึ่งในครั้งนี้โยมป้าอาว์ผู้ชาย และพี่ชายก็เกิดศรัทธา ได้พากันนุ่งขาวรักษาศีล 8 ด้วย

          หลังจากนั้นพระอาจารย์เทสก์ได้รุกขมูลต่อไป อำเภอพรรณานิคม ซึ่งพระอาจารย์สิงห์จำพรรษาอยู่ ณ ที่นั่น ต่อมาพระอาจารย์สิงห์ฯ ได้พาหมู่พระเณรไปตั้งสำนักสงฆ์ที่บ้าน อากาศอำนวยอยู่ไม่นาน ท่านอาจารย์มั่น ได้ตามไปถึง พระอาจารย์มั่นได้ให้พระอาจารย์เทสก์ตามท่านไปตั้งสำนักสงฆ์ที่บ้านสามผง ที่นี้ พระอาจารย์เทสก์ได้มีโอกาสถวายการปฏิบัติท่านพระอาจารย์มั่น โดยท่านได้ไปนอนที่ระเบียงกุฏิของพระอาจารย์มั่น คอยถวายการปฏิบัติท่าน และได้มีโอกาสปฏิบัติความเพียรเดินจงกรมทำความสงบฟังเทศน์จากพระอาจารย์มั่น 

             ในพรรษาที่ 6 พ.ศ. 2471 โยมพ่อของพระอาจารย์เทสก์ซึ่งบวชเป็นชีปะขาวมาได้ 11 ปี ได้มาอยู่จำพรรษากับพระอาจารย์เทสก์ที่ถ้ำพระนาฝักหอกทำให้เป็นโอกาสอันดีที่พระอาจารย์เทสก์ได้มีโอกาส อุปการะโยมพ่อทางธรรม และโยมพ่อของท่านก็ได้ทำภาวนากรรมฐานอย่างสุดความสามารถของท่านและได้ผล อย่างยิ่ง จนโยม พ่อของท่านได้อุทานออกมาว่า "ตั้งแต่เกิดมาในชีวิตนี้พึ่งได้ซาบซึ้งในรสชาติของพระธรรมในครั้งนี้เอง" 

           โยมพ่อท่านนั่งภาวนา กัมมัฏฐานได้นานเป็นเวลานานถึง 3-4 ชั่วโมงทีเดียว ซึ่งทำให้พระอาจารย์เทสก์ดีใจมากที่ได้สงเคราะห์โยมพ่อสมเจตนารมณ์ ต่อมาในปี นั้นโยมพ่อของพระอาจารย์เทสก์เกิดอาพาธ พระอาจารย์เทสก์ได้คอยให้สติและอุบายต่าง ๆ จนเป็นที่พอใจ และถึงแก่กรรมด้วยอาการมีสติ สงบ อารมณ์อยู่ตลอดจนหมดลมหายใจหลังจากโยมพ่อของพระอาจารย์เทสก์ถึงแก่กรรม 

            พระอาจารย์เทสก์ก็ได้อยู่คนเดียวได้วิเวกและได้ กำหนดในใจว่า " ชีวิต และเลือดเนื้อตลอดถึงข้อวัตรที่หลวงปู่ทำอยู่ทั้งหมด ขอมอบบูชาพระรัตนตรัยเหมือนกับบุคคลเด็ดดอกไม้บูชาพระฉะนั้น" แล้วพระอาจารย์เทสก์ก็รีบเร่งปรารภความเพียรอย่างแรงกล้า ตั้งสติกำหนดจิตมีให้คิดนึกส่งออกไปภายนอกให้อยู่ในความสงบเฉพาะภาย ในอย่างเดียว ตลอดวันยังค่ำคืนยังรุ่ง ก่อนจะนอนตั้งสติไว้อย่างไรตื่นมาก็ให้ได้อย่างนั้น 

             พระอาจารย์เทสก์บอกว่า แม้บางครั้งนอนหลับอยู่ก็รู้ สึกว่าตัวเองนอนหลับ แต่ลุกขึ้นไม่ได้ พยายามให้กายเคลื่อนไหวแล้วจึงจะรู้สึกตัวตื่นขึ้นมา โดยความเข้าใจในตนเองว่า จิตที่ไม่คิดนึกส่งส่ายออกไปภายนอกสงบนิ่งอยู่ ณ ที่เดียวนั้นแลคือความหมดจดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ ปัญญาก็เอามาใช้ชำระใจที่ส่งส่าย แล้วเข้ามาหาความสงบนั่นเอง 

ฉะนั้นจึงไม่พยายามที่จะใช้ปัญญาพิจารณาธาตุขันธ์อายตนะ เป็นต้น หาได้รู้ไม่ว่า "กายกับจิตมัน ยังเกี่ยวเนื่องกันอยู่เมื่อวัตถุหรืออารมณ์อันใดมากระทบส่วนใดส่วนหนึ่ง เข้าแล้ว มันจะต้องกระเทือนถึงกันทำให้ใจที่สงบอยู่แล้ว นั้น หวั่นไหวไปตามกิเลสได้"
 

             ออกพรรษาแล้วพระอาจารย์เทสก์ก็ได้ย้อนกลับไปหาพี่ชายและพระอาจารย์เสาร์ที่นครพนม เนื่องจากได้ห่างจากหมู่เพื่อนและครูบาอาจารย์ มาสองปีแล้ว ตั้งแต่พระอาจารย์เสาร์และพระอาจารย์มั่นฯ พร้อมทั้งหมู่คณะจากท่าบ่อไป เมื่อไปอยู่ด้วยกับพระอาจารย์เสาร์ พระอาจารย์เทสก์ก็ได้ช่วยท่านอบรมญาติโยม 

 และในปีนั้นพระอาจารย์เทสก์ได้ขออาราธนาให้ท่านถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก ทีแรกท่านก็ไม่ยอม พระอาจารย์เทสก์อ้อนวอนอ้างถึงเหตุผลความจำเป็น เพื่อให้บรรดาศิษยานุศิษย์และลูกหลานยุคต่อไปได้มีโอกาสกราบไหว้เคารพบูชา ท่านถึงได้ยอม ซึ่งนับเป็นประวัติการณ์ เพราะแต่ก่อนมาท่านไม่ถ่ายรูปเลย 

            แต่กระนั้นพระอาจารย์เทสก์ก็ยังเกรงว่าท่านอาจารย์เสาร์ จะเปลี่ยนใจต้อง รีบให้ข้ามไปตามช่างภาพมาจากฝั่งลาวมาถ่ายให้ หลวงปู่ดีใจมากถ่ายภาพท่านอาจารย์เสาร์ ได้แล้วได้แจกท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ และท่านพระครูสีลสัมปัน (ภายหลังได้เลื่อนเป็นเจ้าคุณธรรมสารมุนี) รูปท่านอาจารย์เสาร์ที่พระอาจารย์เทสก์ จัดการถ่ายครั้งนั้น ดูเหมือน จะเป็นรูปของท่านครั้งเดียวที่มีโอกาสถ่ายไว้ได้ 

          แม้พระอาจารย์มั่นก็เช่นเดียวกัน การถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึกเป็นเรื่องที่ท่านปฏิเสธเสมอ เมื่อพระอาจารย์เทสก์อาราธนาอ้อน

วอนบ่อยๆ ท่านก็ว่า "ซื้อขนมให้หมากินดีกว่า" แต่เมื่อพระอาจารย์เทสก์อ้อนวอนชี้แจงเหตุผลหนักเข้า สุดท้ายท่านก็ใจอ่อน ทำให้เป็นบุญของคนรุ่นหลัง ๆ ที่ได้มีโอกาสมีรูปของท่านไว้กราบไหว้สักการะ 

           ปี พ.ศ. 2475 นับ เป็นพรรษาที่ 10 ของพระอาจารย์เทสก์ท่านอาจารย์สิงห์ ได้เรียกให้ลูกศิษย์ที่อยู่ทางขอนแก่นลงไปโคราช หลวงปู่ซึ่ง ขณะนั้นได้ออกจากการจำพรรษาที่อำเภอพลและอยู่ที่อำเภอพลจึงได้ออกเดินทาง พร้อมด้วยคณะไปพักที่สวนของหลวงชาญนิคม หลวงปู่ได้พาหมู่คณะจัดเสนาสนะชั่วคราวขึ้น ในเวลานั้นอากาศร้อนจัดมาก 

            พระอาจารย์เทสก์ซึ่งโดยปกติแล้วไม่ชอบอากาศร้อน แต่ก็ได้กัดฟันอดทนต่อสู้ทำความเพียรไม่ท้อถอย สติที่อบรมดีแล้วของพระอาจารย์เทสก์สงบอยู่ตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน 

            วันหนึ่งจิตรวมอยู่อย่างน่าประหลาดใจ คือรวมใหญ่เข้าสว่างอยู่คนเดียว แล้วมีความรู้ชัดเจนจนสว่างจ้าอยู่ ณ ที่เดียวจะพิจารณาอะไรๆ หรือมองดูในแง่ ไหนในธรรมทั้งปวงก็หมดความลังเลสงสัยในธรรมวินัยนี้ทั้งหมด คล้ายๆ กับว่า ถึงที่สุดแห่งธรรมทั้งปวงแล้ว แต่พระอาจารย์เทสก์ก็ไม่ได้สนใจในเรื่องนั้น มีแต่ตั้งใจไว้ว่า
 "ไฉนหนอเราจะชำระใจของเราให้บริสุทธิ์หมดจด" 

            ในปี พ.ศ. 2476 ซึ่ง เป็นพรรษาที่ 11 พระอาจารย์เทสก์ได้อยู่จำพรรษาที่วัดอรัญญวาสี ท่าบ่อ เมื่อออกพรรษาแล้วพระอาจารย์เทสก์ได้ปรารภกับพระครูสีลขันธ์สังวร (อ่อนสี) และชักชวนกันไปตามหาพระอาจารย์มั่น ซึ่งขณะนั้นปลีกหมู่หนีความวุ่นวาย ไปอยู่จำพรรษาที่เชียงใหม่ พระอาจารย์เทสก์ กับพระครูสีลขันธ์สังวร (อ่อนสี) ได้เข้าไปถึงพม่าไปถึงผาฮังฮุ้ง ซึ่งเป็นเขตแดนของเมืองปั่น ประเทศพม่า โดยเข้าใจว่า พระอาจารย์มั่น คงจะไปทางนั้น 

           แต่ก็ไม่ปรากฏวี่แววว่าท่านได้ไปทางนั้น การเดินทางครั้งนั้นทำให้พระอาจารย์เทสก์ได้มีโอกาสไปไหว้พระ ธาตุปะหล่องซึ่งอยู่บนผาฮังฮุ้ง ซึ่งพระอาจารย์เทสก์กล่าวว่า พระธาตุนี้ขึ้นไปไหว้ยากที่สุด เพราะอยู่สูงบนผาฮังฮุ้ง และทางขึ้นยากมาก
 

           หลังจากได้ไหว้พระธาตุปะหล่องแล้วจึงได้กลับลงมาโดยเดินข้ามดอยอ่างขาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ (ดอยอ่างขางนี้เดิมเขาเรียกว่า "ดอยมหาขาง" ซึ่งชาวบ้านเขาแปลว่า "ผีหวงที่สุด") 

           การเดินทางยากลำบากมากต้องเดินไปตามลำดับ ห้วยและหน้าผาชัน มากจนได้เกิดอุบัติเหตุเดินพลาดก้อนหินล้มลง หินบาดฝ่าเท้าเป็นแผลเหวอะหวะ หลวงปู่ได้เอาผ้าอังสะพันแล้วเดินทางต่อไป จน กระทั่งถึงบ้านมโนราห์ มีชาวบ้านบอกว่ามีตุ๊เจ้าองค์หนึ่ง อยู่ที่บ่าเมียง แม่ปั๋ง ชื่อตุ๊เจ้ามั่น
 

          พระอาจารย์เทสก์ได้ถามลักษณะท่าทีและการ ปฏิบัติก็แน่ชัดว่าเป็นท่านอาจารย์มั่น แน่แล้วจึงได้ออกเดินทางต่อไปเพื่อพบพระอาจารย์มั่น การเดินทางได้แวะพักนอนที่ถ้ำดอก คำหนึ่งคืนแล้วเดินทางต่อจนถึงป่าเมียง แม่ปั๋ง ในเวลาบ่าย
 

          พระอาจารย์เทสก์และพระครูสีลขันธ์สังวร ตามไปถึงที่อยู่ของพระอาจารย์มั่น ราวบ่าย 4 โมง ท่านกำลังเดินจงกรมอยู่ พอท่านมองมาเห็นพระอาจารย์เทสก์จำได้แม่นและเรียกชื่อพระอาจารย์เทสก์เลย หลังจากนั้นพระอาจารย์มั่น ได้พักเดินจงกรมเดินเข้าไปนั่งในอาศรมของท่าน 

          พระอาจารย์เทสก์และพระครูสีลขันธ์สังวร ได้เข้าไปกราบนมัสการท่านและกราบเรียนถามอุบายธรรมจากพระอาจารย์มั่น ซึ่งพระอาจารย์มั่นก็ได้เทศนาให้พระอาจารย์เทสก์ฟังเป็นใจความว่า
    
       "ถ้าองค์ไหนดำเนินตามรอยของผมจนชำนิชำนาญมั่นคง องค์นั้นย่อมเจริญก้าวหน้าอย่างน้อยก็คงตัวอยู่ได้ตลอดรอดฝั่ง ถ้าองค์ไหนไม่ดำเนินตามรอยของผม องค์นั้นย่อมอยู่ไม่ทนนาน ต้องเสื่อมหรือสึกไป 

        ผมเองหากมีภาระมากยุ่งกับหมู่คณะการประกอบความเพียรไม่สม่ำเสมอ เพ่งพิจารณา ในกายคตาสติไม่ละเอียด จิตใจก็ไม่ค่อยจะปลอดโปร่งการพิจารณาอย่าให้จิตหนีออกนอกกาย อันนี้จะชัดเจนแจ่มแจ้งหรือไม่ก็อย่าได้ท้อถอยเพ่งพิจารณาอยู่ ณ ที่นี่ละจะพิจารณาให้เป็นอสุภหรือให้เห็นเป็นธาตุก็ได้ หรือจะพิจารณาให้เห็นเป็นขันธ์หรือให้ เห็นเป็นไตรลักษณ์ได้ทั้งนั้น
 

          แต่ให้พิจารณาเพ่งลงเฉพาะเรื่องนั้นจริงๆ ตลอดอิริยาบถทั้งสี่แล้วก็มิใช่ว่าเห็นแล้วก็จะหยุดเสียเมื่อ ไร จะเห็นชัดหรือไม่ชัดก็พิจารณาอยู่อย่างนั้นแหละ เมื่อพิจารณาอันใดชัดเจนแจ่มแจ้งด้วยใจตนเองแล้ว สิ่งอื่นนอกนี้จะมา ปรากฏชัดในทีเดียวกันดอก"
 
   
          พระอาจารย์เทสก์ได้น้อมนำเอาธรรมะนั้นมาปฏิบัติตาม ใช้เวลาปรารภความเพียรอยู่ด้วยไม่ประมาทสิ้นเวลา ๖ เดือน โดยไม่มีความเบื่อหน่าย ใจได้รับความสงบและเกิดอุบายเฉพาะตนขึ้นมาว่า
  
        "ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในโลกนี้เป็นเพียงสัก แต่ว่าเป็นธาตุสี่เท่านั้น แต่คนเราไปสมมติแล้วหลงสมมติตนเองต่างหาก มันจึงต้องยุ่งและเดือดร้อนด้วยประการทั้งปวง" 
    
         การได้อุบายครั้งนี้ทำให้พระอาจารย์เทสก์มีจิตหนักแน่นมั่นคงผิดปกติกว่าเมื่อก่อนๆ มาก แล้วก็เชื่อมั่นในตัวเองว่า เดินถูกทางแล้ว แต่ก็ไม่ได้กราบเรียนพระอาจารย์มั่น เพราะเชื่อในอุบายนี้ และคิดว่าจะกราบเรียนพระอาจารย์มั่น เมื่อไรก็คงได้ 

         ในปีนั้นพระอาจารย์ทั้งสามรูป (พระอาจารย์มั่น
พระอาจารย์
เทสก์พระครูสีลขันธ์สังวร) ได้อยู่จำพรรษา ณ ที่นั้น ในปีนั้นอากาศหนาวเย็นมากเป็นพิเศษ พระอาจารย์เทสก์จึงได้ทำโรงไฟให้พระอาจารย์มั่นนอน 
     
           พรรษาต่อมาพระอาจารย์เทสก์ได้ลาพระอาจารย์มั่นขึ้นไปจำพรรษาที่บ้านมูเซอร์ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งในที่นั้นไม่เคยมีพระไปจำพรรษาเลยสักที ต่อมาในปี พ.ศ. 2481 สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์ ธัมมธโร) วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน กรุงเทพฯ ได้สั่งให้หลวงปู่ไปเป็นสมภารที่วัดหมู่บ้านชาวมอญชื่อบ้านหนองคู่ เขตอำเภอปากบ่อง (อำเภอป่าซางปัจจุบัน) จังหวัดลำพูน 

          ในพรรษานี้ พระอาจารย์เทสก์ได้เทศนาอบรมชาวมอญทั้งหมู่บ้าน จนพวกเขาเลื่อมใสศรัทธาได้พากันสละผีมอญ เกือบทั้งหมดหมู่บ้านหันมานับถือพระไตรสรณคมน์ ยังเหลืออีกก๊กหนึ่งจะหมด แต่พระอาจารย์เทสก์ไม่มีโอกาสอยู่ ได้ออกจากวัดบ้านหนองดู่ กลับมาภาคอีสาน
 

          ก่อนจะกลับได้ไปนิมนต์พระอาจารย์มั่น ให้กลับมาภาคอีสานอีกวาระหนึ่ง ซึ่งพระอาจารย์มั่นได้บอกว่า "ดูกาลก่อน"
  พระอาจารย์เทสก์ได้ลาพระอาจารย์มั่น กลับมาเพียงผู้เดียว ส่วนพระครูสีลขันธ์สังวร ยังอยู่ตามพระอาจารย์มั่นต่อไป
   
           พระอาจารย์เทสก์ได้เดินทางกลับมาท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย และอยู่จำพรรษาที่วัดอรัญญวาสีระหว่างพรรษาที่ 17-25 (พ.ศ. 2482-90ณ ที่กลับมาอยู่วัดอรัญญวาสีได้ 2 พรรษา คือ ระหว่าง ปี พ.ศ. 2484-2485 หลวงปู่ได้พาญาติโยมไปสร้างสำนักขึ้นที่ทิศตะวันตกของบ้านกลางใหญ่ ซึ่งยังคงเป็นสำนักถาวรมี พระเณรอยู่จำพรรษาตลอดมาทุกปีมิได้ขาดจนทุกวันนี้ ชื่อว่า "วัดนิโรธรังสี"
    
          ขณะที่พระอาจารย์เทสก์อยู่จำพรรษาที่วัดอรัญญวาสี ท่าบ่อ เป็นเวลานานครั้งแรกถึง ๙ ปี พระอาจารย์เทสก์ได้เล่าว่า เมื่อก่อนพระอาจารย์เทสก์ไม่สนใจในการก่อสร้างเพราะถือว่าเป็นเรื่องยุ่ง และไม่ใช่กิจของสมณะ ผู้บวชจำต้องประพฤติเฉพาะสมณกิจเท่านั้น
แต่เมื่อมาอยู่ที่วัดนี้แล้ว มองดูเสนาสนะที่อยู่อาศัยล้วนแต่เป็นมรดกของครูบาอาจารย์ได้ทำไว้ให้อยู่ ทั้งนั้น แล้วมาค้นคิดถึงพระวินัยบางข้อ ท่านอนุญาตให้บูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะได้ จึงเกิดความละอายใจว่า มานอนกินของเก่าเฝ้าสมบัติเดิมของครูบาอาจารย์แท้ ๆ

           ต่อจากนั้นพระอาจารย์เทสก์จึงได้เริ่มพาญาติโยมทำการก่อสร้างมาจนกระทั่งบัดนี้ แต่ถึงกระนั้นก็ตามไม่ว่า ณ ที่ใด ๆ หลวงปู่ไม่เคยทำการเรี่ยไรมาก่อนสร้างเลย ด้วยละอายแก่ใจ มีก็ทำ ไม่มีก็ไม่ทำ แล้วก็ไม่ยอมติดในงาน ถึงงานไม่เสร็จ เมื่อทุนไม่มีก็ทิ้งได้โดยไม่มีเยื่อใย  และขณะอยู่ที่วัดอรัญญวาสีที่อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ออกพรรษาเมื่อ พ.ศ. 2490 โยมมารดาของพระอาจารย์เทสก์ป่วยอยู่ที่บ้านนาสีดา ตำบลกลางใหญ่ หลวงปู่ก็ได้พยาบาลโยมมารดาด้วยธรรมโอสถและยาภายนอกจนสุดกำลัง แต่เนื่องจากโยมมารดาอายุมากแล้วได้ 82 ปี อาการจึงมีแต่ทรุดลง ๆ แต่ด้านจิตใจพระอาจารย์เทสก์ได้ พยายามรักษาให้อยู่ในความสงบอย่างยิ่งจนวาระสุดท้าย
  
         ในปี พ.ศ. 2491-2492 ซึ่ง เป็นพรรษาที่ 26-27 พระอาจารย์เทสก์ได้ไปอยู่จำพรรษาที่เขาน้อย อ. ท่าแฉลบ จังหวัดจันทบุรี ซึ่งพระอาจารย์เทสก์ได้ นิมิตเห็นภูเขาลูกนี้แล้ว

ตั้งแต่อยู่วัดอรัญญวาสี ณ ที่นี้พระอาจารย์เทสก์ได้ทำความเพียรและรู้สึกแปลกมาก คือได้ค้นธรรมที่ไม่เคยคิดและรู้ ธรรมที่ยังไม่เคยรู้ลำดับอุบายและแนวปฏิบัติได้ละเอียดถี่ถ้วน จนวางแนวปฏิบัติได้อย่างเชื่อตนเอง จึงได้เขียนหนังสือ ส่องทางสมถะวิปัสสนา เป็นเล่มแรก

             พระอาจารย์เทสก์ได้อยู่จำพรรษาที่เขาลูกนี้จนได้ข่าวอาพาธของพระอาจารย์มั่นจึงได้ ลาจากเขาน้อยไปเยี่ยมอาการไข้ของพระอาจารย์มั่น จนท่านมรณภาพแล้วได้อยู่ทำฌาปนกิจศพของท่านจนเสร็จ 


         หลังจากนั้นหลวงปู่ได้มาคิดถึงหมู่คณะ ว่า พระผู้ใหญ่ที่จะเป็นที่พึ่งของพระกรรมฐานไม่มี พระอาจารย์เทสก์จึงตั้งใจออกเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก เพื่อติดต่อกับพระผู้หลักผู้ใหญ่จนกระทั่งไปถึงจังหวัดภูเก็ต 
             
          ที่จังหวัดภูเก็ต พระอาจารย์เทสก์ได้ผจญภัยอย่างร้ายแรง โดยพระท้องถิ่นเขาไม่อยากให้อยู่ ถูกเผากุฏิบางแห่ง จนกระทั่งถูกปาด้วยก้อนอิฐ และขับไล่โดยประการต่าง ๆ ทางเจ้าคณะจังหวัดพังงาได้ขับไล่ให้หนีจากท้องถิ่นที่เขาปกครอง  

          พระอาจารย์เทสก์ได้พยายามพูดความจริงให้ฟังว่า พระอาจารย์เทสก์มาเพื่ออบรมศีลธรรมและเผยแพร่ศาสนาอันเป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง มิได้มาเบียดเบียนใคร ต่อมาผู้ช่วยสังฆมนตรีได้มีหนังสือไปต่อว่าเจ้าคณะจังหวัดพังงาด้วยประการ ต่างๆ เรื่องจึงสงบลง

           พระอาจารย์เทสก์ได้ไปอยู่จังหวัดพังงา 1 พรรษา ต่อมาได้ขยับมาอยู่ที่เกาะภูเก็ต กระทั่งได้ 15 พรรษา จึงได้ลาญาติโยมกลับมาภาคอีสาน 

            การไปอยู่เกาะภูเก็ตเป็นเหตุให้พระท้องถิ่น และญาติโยมเปลี่ยนสภาพไปหลายอย่าง โดยเฉพาะการเทศนาและการบริหาร นับว่าเป็นประโยชน์แก่พระท้องถิ่นมาก 


            ตามประเพณีเดิม ชาวบ้านเขาเข้าหาพระและกราบพระต้องนั่งขัดสมาธิ (ขัด-สะ-หมาด) หลวงปู่ได้ไปสอนให้ทำความคารวะโดยให้นั่งพับเพียบทำให้เรียบร้อยดีมาก 

             พระอาจารย์เทสก์ได้สละทุกอย่างเพื่อประโยชน์แก่ชนชาวภูเก็ตและจังหวัดพังงาดังกล่าว แล้ว เมื่อกลับมาภาคอีสาน พระอาจารย์เทสก์พิจารณาเห็นว่าได้แก่ชรา เดินรุกขมูลมามากแล้ว ควรหาที่พักทำความเพียรภาวนาวิเวกเฉพาะตัว และเห็นว่าที่วัดหินหมากเป้งเหมาะที่สุดจึงได้เข้ามาอยู่ที่วัดนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 เรื่อยมาจนกระทั่งบัดนี้ 

            พระอาจารย์เทสก์ได้พัฒนาวัดให้เจริญไป เรื่อยๆ จนกระทั่งญาติโยมทางกรุงเทพฯ และหมู่บ้านใกล้เคียงรู้จัก เข้าไปสนับสนุนช่วยกันทำถาวรวัตถุ จนสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงยกย่องให้เป็น "วัดพัฒนาตัวอย่าง"
 

           การก่อสร้างวัดหรือถาวรวัตถุนี้ คำว่า
 "ขอ" หรือ "เรี่ยไร" ไม่เคยออกจากปากของหลวงปู่แม้แต่คำเดียว สร้างอะไรขึ้นมาก็มีแต่ญาติโยมผู้มีศรัทธาบริจาคให้ทั้งนั้น นอกจากวัดหินหมากเป้งแล้ว ยังมีวัดสาขาของวัดหินหมากเป้งอีก คือ "วัดเทสรังสี" และ "วัดลุมพินี"
     
          เมื่อปี พ.ศ. 2520 พระอาจารย์เทสก์ได้ไปเผยแพร่ธรรมะที่สิงคโปร์ อินโดนีเซียและออสเตรเลียพร้อมด้วยพระ 3 องค์ ฆราวาส 2 คน ตาม คำชักชวนเป็นเวลา 3 เดือนกว่า และได้กลับไปที่สิงคโปร์อีกครั้งหนึ่งและได้ไปพักที่เดิมอีกเป็นเวลานาน เพราะมีผู้อยากจะสร้าง วัดที่นั่น แต่สถานที่ไม่เหมาะจึงไม่ได้สร้าง
     
           พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี ท่านได้รับตำแหน่ง เช่น เป็นพระอุปัชฌาย์ เป็นเจ้าคณะอำเภอภูเก็ต-พังงา-กระบี่ (ธรรมยุต) และในปี พ.ศ. 2500 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่พระนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาจารย์และ

           ในปี พ.ศ. 2534 ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นชั้นราชฝ่ายวิปัสสนาธุระที่ พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ สถิต ณ วัดหินหมากเป้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย ปัจจุบันท่านมีอายุ 91 ปี (นับถึงปี 2536ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดหินหมากเป้ง อ. ศรีเชียงใหม่ จ. หนองคาย

ธรรมโอวาท ของ พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี

       ธรรม คือ ของจริงของแท้ เป็นแก่นของโลก ธรรม แปลว่า ของเป็นอยู่ทรงอยู่สภาพตามเป็นจริง เป็นอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น เรียกว่า ธรรม ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ เป็นธรรมทั้งนั้น เรียก ชาติธรรม ชราธรรม พยาธิธรรม มรณะธรรม ทำไมจึงเรียกว่า ธรรม คือทุกๆ คน จะต้องเป็นเหมือนกันหมด 

        สมบัติที่มนุษย์ต้องการ ไม่ทราบว่าจะกอบโกยเอาไปถึงไหน ได้มาก็เพียงแต่เลี้ยงชีวิตเท่านั้น เลี้ยงชีวิตให้นานตายหน่อย นั่นละ ประโยชน์ของมนุษย์สมบัติเพียงแค่นั้นแหละ

        เราเกิดมาในโลกนี้ จะเป็นมนุษย์หรือเป็นสัตว์ต่าง ๆ ก็ตามเถอะ เรียกว่าอยู่ในแวดวงของมัจจุราชทั้งนั้น หรือเปรียบเสมือนกับ อยู่ในคุกในตะราง (รอความตาย) ด้วยกันทุกคน จะทำอะไรอยู่ก็ตาม จะเป็นผู้ดี ผู้วิเศษเท่าใดก็ช่าง 

        แม้แต่องค์สัมมาสัมพุทธเจ้า สรีระร่างกายของพระองค์ยังปล่อยให้พญามัจจุราชทำลายได้ แต่ตัวจิตของพระองค์เป็นผู้พ้นแล้ว ไม่ยอมให้มัจจุราชข่มขี่ได้เลย

        ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในโลกนี้เป็นเพียงสักแต่ว่าเป็นธาตุสี่เท่านั้น แต่คนเราไปสมมติแล้วหลงสมมติตนเองต่างหาก มันก็ต้องยุ่ง และเดือดร้อนด้วยประการทั้งปวง

        มนุษย์เราพากันสมมติ เรียกเอาตามความชอบใจของตนว่านั่นเป็นคน นั่นเป็นสัตว์เป็นนั่นเป็นนี่ต่าง ๆ นานาไป แต่ก้อนธาตุนั้น มันก็หาได้รู้สึกอะไรตามสมมติของคนไม่ มันมีสภาพเป็นอยู่อย่างไรก็เป็นอยู่อย่างนั้นตามเดิม สมมติว่า หญิง ว่าชาย ว่าหนุ่ม ว่า แก่ ว่าสวย ไม่สวย ก้อนธาตุอันนั้นก็ไม่มีความรู้สึกอะไรเลย 

        หน้าที่ของมันเมื่อมาประชุมกันเข้าเป็นก้อนแล้ว อยู่ได้ชั่วขณะหนึ่ง แล้วมันก็แปรไปตามสภาพของมัน ผลที่สุดมันก็แตกสลายแยกกันไปอยู่ตามสภาพเดิมของมันเท่านั้นเอง

        เมื่อเรามาฝึกหัดปฏิบัติธรรมจนเห็นเรื่องโทษของตนเองแล้ว ค่อยชำระสะสางให้มันหมดไปๆ ก็จะเป็นคุณแก่ตนในอนาคต ข้างหน้า ได้ชื่อว่าไม่เสียชาติเกิดขึ้นมาเป็นมนุษย์ แล้วยังมาพบพระพุทธศาสนา และยังมาพบครูบาอาจารย์ที่สอนให้เราละกิเลส อีกด้วย

        แท้ที่จริงธรรมะคือตัวของเรานี้ทุกคนก็มีแล้วครบมูลบริบูรณ์ทุกอย่าง แต่เราไม่ได้สร้างสมอบรมให้เห็นธรรมะที่มันมีในต้นของ ตน ธรรมะแทรกอยู่ในขันธโลกอันนี้ หากใช้อุบายปัญญาพิจารณากลั่นกรองด้วยวิธี  อย่าง มีศีล สมาธิ ปัญญา ดังอธิบายแล้ว ธรรมะจะปรากฏในตัวของตน

        การศึกษาพระพุทธศาสนา ถ้าจะให้เข้าใจถูกต้องแล้ว ต้องให้มีทั้งปริยัติคือ การศึกษาและปฏิบัติตามความรู้ที่ได้ศึกษามานั้นให้ ถูกต้อง โดยเฉพาะการปฏิบัติ ถ้าไม่ยืนตัวอยู่ในไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญาแล้ว จะไม่มีการถูกต้องอันจะให้เกิดความรู้ในสัจ ธรรมได้เลย มรรคปฏิปทาอันจะให้ถึงสัจธรรมนั้น ก็ต้องรวมศีล สมาธิ ปัญญา ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แล้วปฏิเวธธรรมจึงจะ เกิดขึ้นได้

       คนที่จะข้ามโอฆะได้ต้องมีศรัทธาเสียก่อน ถ้าไม่มีศรัทธาเสียอย่างเดียวก็หมดทางที่จะข้ามโอฆะได้ ศรัทธาจึงเป็นของสำคัญที่ สุด เช่น เชื่อมั่นในกรรม เชื่อผลของกรรม ดังที่ได้อธิบายมาแล้ว แต่ว่าศรัทธาอันนั้น เป็นเบื้องต้นที่จะทำทาน 

       ถ้ามีศรัทธาแล้วไม่อดเรื่องการทำทานอยู่ที่ไหนก็ทำได้ ทำมากก็ได้ ทำน้อยก็ได้ ไม่ต้องเลือก วัตถุในการทำทาน จะเป็นข้าว น้ำ อาหาร หมากพลู บุหรี่ ฯลฯ สารพัดสิ่งเป็นทาน ได้ทั้งหมด แม้แต่ใบไม้ ใบตอง ใบหญ้า ก็เป็นทานได้เราทำด้วยความเชื่อมั่นว่า สิ่งนี้ทำไปแล้วจะ เป็นประโยชน์แก่ผู้นั้นๆ ก็อิ่มอกอิ่มใจขึ้นมาเป็นบุญ 
         นั่นแหละ ศรัทธา มันทำให้อิ่มอกอิ่มใจ ทำให้เกิดบุญซาบซึ้งถึงใจทุกอย่างไม่ ลืมเลย อันนั้นจึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ข้ามโอฆะ

        กายและจิตอันนี้เป็นบุญกรรมและกิเลสนำมาตกแต่งให้ เมื่อนำมาใช้โดยหาสาระมิได้ถึงแม้จะมีอายุยืนนาน ก็ปานประหนึ่งว่า หาอายุมิได้ (คือไม่มีประโยชน์) สมกับพุทธพจน์ที่พระองค์ตรัสว่า โย จ วัสสะสตัง ชีเว อะปัสสัง อุทยัพพยัง เอกาหัง ชีวิตัง เสยโย ปัสสะโต อุทยัพพะยัง แปลว่า บุคคลใดมีชีวิตอยู่ร้อยปี แต่เขามิได้พิจารณาเห็นความเกิดดับ (ของอัตภาพนี้) ผู้นั้นสู้ผู้เขามีชีวิตอยู่วันเดียว แต่พิจารณา เห็นความเกิดความดับไม่ได้

        คนที่จะพ้นจากทุกข์ได้ พ้นจากโลกนี้ได้ พ้นจากกรรมได้ ก็เพราะใจอันเดียว จงยึดใจ ถือใจเป็นสำคัญ จะมาเกิดก็เพราะใจ เกิดแล้วจะมาสร้างกิเลสขึ้นก็เพราะใจ เป็นทุกข์ก็เพราะใจถ้าใจไม่เป็นทุกข์ ใจไม่ยึดถือ ปล่อยทิ้งเสีย กายอันนี้ก็ไปตามเรื่องของ กาย ใจก็เป็นตามเรื่องของใจหมดเรื่องหมดราวกันที

        หิริ โอตตัปปะ นี้เป็นธรรมที่สำคัญ เพราะเป็นพื้นฐานของศีล เป็นต้นของศีล ผู้จะมีศีลได้ ไม่ว่าจะเป็นศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 หรือ ศีล 227 ก็ตาม ต้องมีหิริและโอตตัปปะ 2 อย่างนี้ เนื่องจากได้เห็นจิตของคน เห็นความนึกความคิดความปรุงของจิตของตน แล้ว ก็กลับบาปละอายบาป จึงไม่อาจจะทำความชั่วได้ ฉะนั้น ศีลก็บริสุทธิ์เท่านั้นเอง

        การภาวนา คือ การอบรมจิตให้มีความสงบ เป็นการชำระจิตใจให้สงบจากอารมณ์ต่าง ๆ ยิ่งเป็นการละเอียดไปกว่าการรักษา ศีลอีก จิตของเราถ้ายังไม่สงบตราบใดแล้วมันก็จะต้องยุ่งวุ่นวายอยู่ตราบนั้น เมื่อมาฝึกหัดภาวนา เห็นโทษ เห็นภัย ของความยุ่ง ยากไม่สงบด้วยตันเองแล้ว เราก็จะพยายามทุกวิถีทางที่จะละความไม่สงบ 

        เมื่อสิ่งใดที่ละได้แล้ว อารมณ์ใดที่วางได้แล้วเราก็จะต้องรักษาไม่ให้สิ่งนั้น มันเกิดขึ้นมาอีก ไม่ใช่ว่าเราละได้แล้วก็แล้วไปเลยไม่ต้องคำนึงถึงมันอีก อย่างไม่ถูกต้อง เพราะมันอาจ สามารถที่จะฟื้นฟูขึ้นมาใหม่อีก ถ้ามันเกิดมาทีหลังจะยิ่งร้ายกว่าเก่า

        ฝึกหัดจิตให้เข้าถึงใจ วิธีปฏิบัติฝึกหัดกรรมฐานมีเท่านี้แหละ ใครจะฝึกหัดปฏิบัติอย่างไร ๆ ก็เอาเถอะ จะภาวนาพุทโธ สัมมา อรหัง ยุบหนอพองหนอ หรืออานาปานสติ ก็ไม่เป็นปัญหา คำบริกรรมเหล่านั้นก็เพื่อล่อให้จิตเข้ามาอยู่ในคำปริกรรม 

        แต่คนที่เข้าใจผิดถือว่าตนดีวิเศษโอ้อวดเพื่อนว่าของเขาถูกของเอ็งละผิด อย่างนั้นอย่างนี้อะไรต่างๆนานา พุทธศาสนาแท้ไม่เป็นอย่างนั้นหรอก มันต้องเป็นอันเดียวกัน ไม่มีใครผิดใครถูก เมื่อปฏิบัติถึงจิตรรวมแล้ว จิตรวมเข้าไปเป็นอัปปนาแล้วปมเรื่องจิตรวมเข้าถึงอัปปนาแล้วถึงที่สุดของการทำสมาธิเท่านั้นไม่มีอะไรแตกต่างกัน

          การหัดภาวนาเบื้องต้น คือ หัดให้เข้าถึงจิตเป็นหนึ่ง หัดเบื้องต้นก็จริง แต่มันถึงที่สุดได้ คือ จิตที่สงบนิ่งเป็นหนึ่ง มันก็ถึงที่สุด แล้ว การฝึกหัดจิต หัดมากหัดน้อยเท่าไรก็ตาม ต้องการให้จิตเข้าถึงที่สุด คือ จิตเป็นหนึ่งเท่านั้น การฝึกหัดจิตไม่นอกเหนือไปจาก จิตเป็นหนึ่ง ส่วนอุบายปัญญาที่จะเกิดขึ้น มันเป็นของเฉพาะบุคคล

         ขอจงตั้งใจทำให้จริงจัง และทำความเลื่อมใสพอใจในกัมมัฏฐานของตนให้แน่วแน่เต็มที่ ทำนิดเดียวก็จะเป็นผลยิ่งใหญ่ ไพศาล เมื่อทำไปทุก ๆ วัน วันละนิดวันละหน่อย มันหากจะมีวันหนึ่งโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจจะให้เป็น มันหากเป็นเอง คราวนี้ละเรา จะประสบโชคลาภอย่างยิ่งอย่าบอกใครเลย ถึงบอกก็ไม่ถูกเป็นของรู้และซาบซึ้งเฉพาะตนเอง คำว่าภาวนาขี้เกียจและปวดเมื่อย แข้งขาจะหายไปเองอย่างปลิดทิ้ง จะมีแต่อยากทำภาวนาสมาธิอยู่ร่ำไป

        สติตัวนี้ควบคุมจิตอยู่ได้ ถ้าเผลอเวลาใดไปเวลานั้น ทำชั่วเวลานั้น จึงให้รักษาจิตตรงนั้นแหละ ควบคุมจิตตรงนั้นแหละ ให้ มันอยู่นิ่งแน่วเป็นสมาธิภาวนา เข้าถึงในสงบนิ่งแน่วเฉยอยู่ให้หัดตรงนี้แหละ พระพุทธศาสนาไม่ให้หัดอื่นไกล หัดตรงนี้แหละ ปฏิบัติศาสนาก็ปฏิบัติตรงนี้แหละ จะถึงศีล สมาธิ ปัญญา ก็ตรงนั้นแหละ

        แก่นสารคือ จิตที่เป็นหนึ่ง จับเอาจิตที่เป็นหนึ่งให้ได้ ครั้งจับเอาจิตที่เป็นหนึ่งได้แล้วรักษาเอาไว้ให้มั่น ไม่ต้องเอาอื่นใดอีก เอาอันเดียวนั้นเท่านั้นเป็นพอแล้ว

        จิตเป็นสมาธิแล้ว นั่นจึงจะมองเห็นธรรม คือ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บไข้ และความตายได้ชัดเจน

         จิตมันต้องเป็นหนึ่ง ถ้าไม่ใช่หนึ่งแล้วก็ไม่ใช่จิต จิตเป็นหนึ่งกลายเป็นใจละ คราวนี้ตัวจิตนั่นแหละกลายเป็นใจ อันที่นิ่งเฉย ไม่คิดไม่นึก ไม่ปรุงไม่แต่ง ความรู้สึกเฉย ๆ นั่นแหละมันกลายเป็นใจ จิตมันกลายเป็นใจ

         ใครๆ ก็พูดถึงจิตถึงใจ จิตเป็นทุกข์ จิตเดือดร้อน จิตยุ่งวุ่นวาย จิตกระวนกระวาย จิตกระสับกระส่าย มันเรื่องของจิตทั้งนั้น แหละ แต่ยังไม่เคยเห็นจิตสักที จิตแท้เป็นอย่างไรก็ไม่ทราบ เมื่อไม่เห็นจิตไม่เห็นใจ มันก็ไม่มีโอกาสที่จะชำระได้ ต้องเห็นตัวมัน เสียก่อน รู้จักตัวที่เราพูดถึงเสียก่อน พอเราเดือดร้อนเรายุ่งเหยิงหรือส่งส่ายเราก็แก้ตรงนั้นเอง 

         นักฝึกหัดจิตทำสมาธิให้แน่วแน่ เป็นอารมณ์หนึ่งแล้ว จะมองเห็นกิเลสในจิตของตนเองทุกกาลทุกเวลา ว่า มีกิเลสหยาบและ ละเอียดหนาบางขนาดไหนเกิดขึ้นที่จิต เกิดจากเหตุอะไรและจะต้องชำระด้วยวิธีอย่างไร จิตจึงบริสุทธิ์ผ่องใส ค้นหากิเลสของตน เองอยู่ทุกเมื่อกิเลสจะหมดสิ้นไป

         การฝึกหัดสมาธิภาวนา คือ การตั้งสติอันเดียว ให้รู้ตัวอยู่เสมอ มันคิดมันนึกอะไรก็ให้รู้ตัวอยู่เสมอ ยิ่งรู้ตัวชัดเจนเข้ามันยิ่ง เป็น เอกัคคตารมณ์ นั่นแหละตัวสมาธิ

         รู้สิ่งอื่นไม่สามารถจะชำระจิตของตนได้ รู้จิตของเรานี่แหละจึงจะเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ 

         การฝึกหัดจิตนี้ ถ้าอยากเป็นเร็วๆ มันก็ไม่เป็น หรือไม่อยากให้เป็นมันก็ประมาทเสียไม่เป็นเหมือนกัน อยากเป็นก็ไม่ว่า ไม่ อยากเป็นก็ไม่ว่า ทำใจให้เป็นกลางๆ แล้วตั้งใจให้แน่วแน่ใจกัมมัฏฐานที่เรายึดมั่นอยู่นั้น แล้วภาวนาเรื่อยไปก็จะถึงซึ่งความ อัศจรรย์ขึ้นมาในตัวของตน แล้วจะรู้ชัดขึ้นมาว่าอะไรเป็นอะไร 

        การเห็นจิตของเรานี่แหละดี มันคิดดี คิดชั่ว คิดหยาบ คิดละเอียด ก็รู้ดูจนกระทั่งมันวางลง ถ้าเห็นอยู่เสมอๆ แล้ว ก็วางหมด

        ปหานปธาน ให้เพียรดูที่จิตของเรานั่นแหละ การกระทำสิ่งใด ๆ ก็เกิดจากจิตเป็นคนบัญชา ถ้าจับจิตเห็นจิตอันนี้แล้ว จะรู้ได้ดี เห็นได้ชัด กายจะทำอะไรผิดหรือถูก ดีหรือชั่ว เป็นบุญหรือเป็นบาป รู้ได้ดีทีเดียว เอาสติไปตั้งไว้ที่จิต คิดค้นอยู่ที่จิต เห็นใจเป็นผู้ สั่งกายทำอะไร ๆ เห็นอยู่ตลอดเวลา

         ผู้ใดชนะข้าศึกคือ ตัวของเราคนเดียวได้แล้ว เป็นผู้ประเสริฐ กว่าการชนะชนหมู่มากนับเป็นพันล้าน เพราะข้าศึกอันเกิดจากคน อื่นภายนอก เมื่อพ่ายแพ้ก็เลิกกันไปที่ แต่ข้าศึกภายในนี้จะแพ้หรือชนะอย่างไร ก็ยังต้องอาศัยกันอยู่อย่างนี้จนกว่าจะแตกดับจาก กันไป

         ถึงแม้อายตนะภายในมีตาเป็นต้นที่เราเห็นๆ กันอยู่นี้ เมื่อหลับเสียแล้วก็ไม่เห็น แต่อายตนะของใจอีกส่วนหนึ่งนั้นซีตาบอด แล้ว หูหนวกแล้ว มันยังได้เห็นได้ยินอยู่ กายแตกดับแล้วใจยังมีอายตนะได้ใช้บริบูรณ์ดีทุกอย่างอยู่ และนำไปใช้ได้ทุกๆ สถาน ตลอดภพภูมินั้นๆ ด้วย ฉะนั้น เมื่อเราจะเอาชัยชนะข้าศึกภายในจึงเป็นการต่อสู้อย่างยิ่ง 

        ผู้ที่ยอมตัวมารับเอาศีลไปไว้เป็นเครื่องปฏิบัติ จะเป็นศีล 5, 8, 10, 227 ก็ตามได้ชื่อว่าเป็นผู้เริ่มต้นปฏิบัติศาสนา พรหมจรรย์ เข้าไปทำลายบ่อนรังข้าศึกอันมีอยู่ในภายในใจของตนแล้ว

        หากจะเรียกกายใจของคนเรานี้ว่า ตู้พระธรรมก็จะไม่ผิด

        ธรรมเทศนาที่ท่านพูดที่ท่านสอนธรรมะนั้น ท่านสอนตรงนี้ คือสอนให้พิจารณากายกับใจตรงนี้ ไม่ได้สอนที่อื่น สอนเข้าถึงตัว สอนให้เห็นของจริงในกายตนที่จะพ้นทุกข์ได้ก็เพราะเห็นของจริงตรงนี้ จะถึงมรรคผลนิพพาน ฌาน สมาบัติ ก็ตรงนี้แหละ ไม่ใช่ อื่นไกลเลย เห็นเฉพาะในตัวของเรา ถ้าไปเห็นของอื่นละไม่ใช่

        ตัวจิตหรือตัวใจอันนี้แหละไม่มีตนมีตัว ถ้าเรารู้เรื่องจิตเรื่องใจเสียแล้ว มันง่ายนิดเดียวฝึกหัดปฏิบัติกัมมัฏฐานก็เพื่อชำระใจ หรือต่อสู้กับกิเลสของใจนี้ ถ้าไม่เห็นจิตหรือใจแล้วก็ไม่ทราบว่าจะไปต่อสู้กับกิเลสตรงไหน 

        เพราะกิเลสที่ใจสงครามไม่มีสนามเพลาะ ไม่ทราบว่าจะรบอย่างไรกัน ต้องมีสนามเพลาะสำหรับยึดไว้เป็นที่ป้องกันข้าศึก- มันจึงค่อยรู้จักรบ รู้จักแพ้ รู้จักชนะ

        ขอให้พากันพิจารณาทุกคนๆ เรื่องใจของตน เวลานี้เราเห็นใจแล้วหรือยัง ใจหรือจิตของเรานั้นมันอยู่ที่ไหนมีอาการอย่างไร 

        ความจริงกิเลสไม่มีตนไม่มีตัว ไม่ได้เอาไปละที่ไหน หรือเอาไปทิ้งให้ใคร เป็นการละออกจากใจของตนเอง

        บ่วงของมารได้แก่อะไร อาการของจิตที่เที่ยวไปตามอารมณ์นั้น ย่อมมีทั้งอารมณ์ดีและอารมณ์ร้าย จึงต้องมีความสุขบ้างทุกข์ บ้างเป็นธรรมดา ตามวิสัยของปุถุชนจิตที่เที่ยวไปนั้นจะต้องประสบของ 5 อย่าง คือ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ ซึ่งเรียกว่า กามคุณ 5 พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นบ่วงของมาร

        จิตของปุถุชนทั้งหลายเมื่อเที่ยวไปประสบอารมณ์ทั้ง 5 นั้นหรือเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งทำให้เกิดความยินดีพอใจก็ดี หรือเกิด ความเสียใจเป็นทุกข์ดี เรียกว่าเข้าไปติดบ่วงของมารแล้ว คำว่า "ติด" ในที่นี้ หมายความว่า สลัดไม่ออก ปล่อยวางไม่ได้ บ่วงของ มารผูกหลวม ๆ แต่แก้ไม่ได้ ถ้าดิ้นก็ยิ่งแต่จะรัดแน่นเข้า

         จิตที่สำรวมได้แล้วจะพ้นจากบ่วงของมารได้อย่างไร ปุถุชน เบื้องต้นเมื่อเห็นโทษภัยในการเข้าไปติดบ่วงของมารแล้ว จึงต้องพึง สำรวมในอายตนะทั้งหลาย มีตา หู เป็นต้น พระทศพลสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ใครสำรวมจิตได้แล้ว จักพ้นจากเครื่องผูกของ มารดังนี้

        ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นโคจรที่เที่ยวแสวงหาอารมณ์ของจิต เมื่อเราปิดคือ สำรวมมีสติระวังอย่าให้จิตหลงไปในอารมณ์ทั้ง 5 นั้นได้แล้ว เป็นอันว่ามารผูกมัดเราด้วยบ่วงไม่ได้

        ผู้ฝึกหัดปฏิบัติรู้เข้าใจเรื่องเหล่านี้ตามเป็นจริงว่า วิสัยของอายตนะทั้งหกนั้น มีชอบกับไม่ชอบเท่านั้น แล้วปล่อยวางเสีย ไม่ไปยึดเอามาเป็นอารมณ์ จิตก็จะกลายมาเป็นเฉยอยู่กลางๆ นั่นแหละจึงเป็นธรรมเห็นธรรม ไม่เป็นโลกอยู่เหนือโลกพ้นจากโลก

        การทำจิตไม่ให้หมุนไปตามอายตนะหก คือ ปรุงแต่งส่งส่ายไปตามอารมณ์ต่างๆ นั้นเป็นการหักกงกำแห่งล้อของวัฏจักร นักปฏิบัติผู้ฝึกหัดได้อย่างที่อธิบายมานี้ ถึงหักกงกำแห่งวัฏจักรไม่ได้อย่างเด็ดขาด ได้เพียงชั่วครู่ชั่วคราว ก็นับว่าดีอักโขแล้ว ดีกว่าไม่ รู้วิธีหักเสียเลย (ธรรมเทศนาเรื่อง จิตเหนือโลก)

        ผู้ฝึกจิต ถ้าทำจิตให้มีอารมณ์หลายอย่าง ก็จะสงบไม่ได้ และไม่เห็นสภาพของจิตตามเป็นจริง ถ้าทำให้จิตดิ่งแน่วแน่อยู่ใน อารมณ์อันเดียวแล้ว จิตก็มีกำลังเบ่งรัศมี แห่งความสว่างออกมาเต็มที่ มองสภาพของจิตตามเป็นจริงได้ว่า อะไรเป็นจิต อะไรเป็น กิเลส อะไรเป็นของควรละ

        ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ฉะนั้น ผู้ถือว่าเราถึงธรรมได้ ธรรมชั้นนั้นชั้นนี้ ผู้นั้นยังมีความอยากอยู่ จะได้ชื่อวาเป็นผู้ถึงธรรมได้ อย่างไร

         คนเราเกิดมาเหมือนกับไปยืมของคนอื่นเขามาเกิด ตายแล้วก็ส่งกลับคืน มาเกิดอีกก็ยืมมาใหม่ ดังนั้นอยู่ไม่รู้จบรู้สิ้นสักที ขออย่าลืมผู้ไปยืมของเขามาเกิดยังมีอยู่ จึงต้องยืมของเขาร่ำไปไม่มีที่สิ้นสุด

        ความสละเด็ดเดี่ยว ปล่อยวางสิ่งสารพัดทั้งปวงหมดเหลือแต่ใจ อันนั้นเป็นของดีนักความสละความตายเลยไม่ตายซ้ำ เลยมี อายุยืนนาน ถึงเจ็บไข้ได้ป่วยอะไรต่าง ๆ ก็ทอดทิ้งหมด เลยกลับเป็นของดีซ้ำ ที่เป็นห่วงทั้งนั้นอยู่ในเรื่องความเจ็บป่วย อันนั้นป่วย ก็ไม่หาย สมาธิก็ไม่เป็น นั่นแหละเป็นเหตุที่ไม่เป็นสมาธิ เราจะทำอะไรต้องทำให้จริงๆ

        จิตของคนเราเป็นของใสสะอาดมาแต่เดิม เหตุนั้นขัดเกลากิเลสออกหมด มันจึงเห็นความใสสะอาด จึงเรียก ปภัสสรมิทะ จิตตะ

        วิปัสสนาจริงแล้วไม่ต้องคิดต้องนึกไม่ต้องปรุงแต่ง มันเป็นเอง มันเกิดของมันต่างหาก เมื่อมันเกิดแล้วจะต้องชัดแจ้งประจักษ์ ในพระไตรลักษณญาณด้วยตัวของตนเองต่างหาก 

         เมื่อปัญญาวิปัสสนาเกิดขึ้นในขณะจิตเดียวนั้นสิ้นสงสัยในธรรมทั้งหลาย เห็นสรรพสัตว์ในโลกเป็นสภาพอันเดียวกันหมดเลย ไม่มีต่ำ ไม่มีสูง ไม่มีน้อย ไม่มีใหญ่ ไม่มีหญิง ไม่มีชาย มีแต่ธาตุ 4 เกิดขึ้นแล้วดับไปเท่านั้น

        ปัญญาวิปัสสนา คือเห็นสิ่งทั้งปวงหมด เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สิ่งเหล่านั้นเป็นของไร้สาระ เป็นโทษเป็นทุกข์ เป็นภัย อันตรายแก่จิตใจ จึงปล่อยวางทอดธุระในสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น อันนี้เป็นปัญญาอันวิเศษสูงสุด เพราะคนจะพ้นจากโลกได้ก็เพราะ เห็นที่สุดของโลก คือ ได้แก่เห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

         ขอให้มีศรัทธา ทำทานไปเรื่อย ทั้งทานภายนอก ทานภายใน รักษาศีล คือรักษากาย วาจา และใจ ให้มันเป็นปกติ หรือรักษาจิตนั่นเอง คอยมีสติปกครองจิตใจ สิ่งใดไม่ควรคิดก็ไม่คิดสิ่งใดไม่ควรพูดก็ไม่พูด สิ่งใดไม่ควรทำก็ไม่ทำ เพราะเรามีสติรู้อยู่ว่าเราเป็นผู้มีศีล

         ผู้มีศรัทธา มีความเพียรด้วย และมีความอดทน กล้าหาญ ประกอบด้วยปัญญาประกอบด้วยความเพียร รักษาความดีนั้นๆ ไว้ ติดต่อกันอย่าให้ขาด นั่นแลจึงสามารถขจัดกิเลสให้หมดสิ้นไปได้ 

         ท่านผู้ที่หายจากโรคอันเกิดจากใจได้แก่ผู้สิ้นกิเลสแล้ว ถึงแม้โรคในกายของท่านจะยังปรากฏอยู่ ก็เป็นแต่อาการความรู้สึก หาได้ทำใจของท่านให้กำเริบไม่ เพราะโรคใจของท่านไม่มีแล้วสมุฏฐานคืออุปาทานของท่านได้ถอนหมดแล้ว ฉะนั้นท่านจึงมีความสุข และได้ลาภอย่างยิ่งในความไม่มีโรค

         ทำทานมีมากน้อยก็ต้องทำด้วยตนเอง รักษาศีลก็โดยเฉพาะส่วนตัวแท้ๆ ใครรักษาศีลให้ไม่ได้ ทำสมาธิยิ่งลึกซึ้งหนักแน่นเข้า ไปกว่านั้นอีก แต่ละคนก็ต้องรักษาจิตใจของตน ๆ ให้มีความสงบหยุดวุ่นวายแส่ส่าย ถ้าเราไม่รู้จักวิธีทำสมาธิแล้วก็ทำสมาธิไม่ เป็น จิตใจก็เดือดร้อนดิ้นรนเป็นทุกข์ เหตุนั้นจึงว่า การทำทาน รักษาศีล ทำสมาธินี่เป็นกิจเฉพาะส่วนตัว ทุก ๆ คนจะต้องทำให้ เกิดมีขึ้นในตน

        ความเป็นเศรษฐีมีจนคนอนาถา ก็มิได้เป็นอุปสรรคแก่การจับจ่ายอริยทรัพย์ของผู้มีศรัทธาปัญญา ฉะนั้นอริยทรัพย์จึงเป็นของมีคุณค่าเหนือกว่าทรัพย์ทั้งปวง

        บุญกุศลที่สร้างสมถึงที่แล้วมันจะหมดเรื่อง ไม่มีอะไรอีก และไม่เอาไปด้วย บาปก็ไม่เอา บุญก็ไม่เอา ผู้ที่ยังเอาอยู่จึงได้บุญได้ บาป เป็นภพเป็นชาติขึ้น ผู้ทอดธุระแล้ว ไม่มีบุญและบาปแล้ว จึงได้เรียกว่า โลกุตระ เหนือโลก

ปัจฉิมลิขิต
           พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี นับเป็นลูกศิษย์ ที่สำคัญยิ่งของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต องค์หนึ่ง ท่านได้อุตสาหะปฏิบัติบำเพ็ญธรรม ด้วยชีวิตเป็นเดิมพัน พระอาจารย์เทสก์  ได้บำเพ็ญกรณียกิจเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชน และความเจริญมั่นคงแห่งพระศาสนา โดยไม่ย่อ ท้อต่ออุปสรรคต่าง ๆ แล้วด้วยจิตใจที่แน่วแน่มั่นคง 

           ผู้ที่ได้เคยกราบนมัสการท่านมักพูดในทำนองเดียวกันว่า ได้รับความอิ่มใจ และเป็นบุญของเยาที่ได้มีโอกาสกราบนมัสการท่าน ทั้งนี้คงเป็นเนื่องจากบารมีธรรมที่
พระอาจารย์เทสก์ ได้บำเพ็ญเพียรปฏิบัติมาและเมตตา จิต ที่พระอาจารย์เทสก์แผ่มายังบุคคลเหล่านั้นนั่นเอง 

           พระอาจารย์เทสก์มักให้โอวาทและเทศนาธรรมแก่ญาติโยมอยู่เสมอมา หนังสือธรรมะที่พระอาจารย์เทสก์เขียนขึ้นหรือหนังสือที่รวบรวมธรรมเทศนาที่พระอาจารย์เทสก์แสดงในโอกาสต่าง ๆ เป็นหนังสือที่ให้คติธรรม เกร็ดธรรม แนะแนวทาง ปฏิบัติสำหรับผู้ฝึกหัดจิต และพระธรรมเทศนาสืบต่อตามคำสอนขององค์พระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้อ่าน แล้วสามารถปฏิบัติ ตามและสามารถเข้าใจศาสนาพุทธได้ดียิ่งขึ้น ผู้อ่านที่ปฏิบัติตามสามารถเห็นธรรมได้ตามภูมิของตนอย่างแท้จริง ท่านสาธุชนทั้ง หลายที่ตั้งใจจะกราบนมัสการท่าน สามารถกระทำได้ ที่วัดหินหมากเป้ง อ. ศรีเชียงใหม่ จ. หนองคาย
-----------------------------------------------------------------------------------

1. ความเกิดความดับ:   พระอาจารย์เทสก์

2. ฝึกหัดจิต:  พระอาจารย์เทสก์  

3.จิต: พระอาจารย์เทสก์ 

4. การทำความดี: พระอาจารย์เทสก์ 

5. อนัตตา:  พระอาจารย์เทสก์


6. อวิชชา:   พระอาจารย์เทสก์ 

7. กรรม:   พระอาจารย์เทสก์ 

8. การฝึกหัดสมาธิ:   พระอาจารย์เทสก์ 

9. วิธีรักษาจิต:   พระอาจารย์เทสก์ 

10. มนุษย์สมบัติ:   พระอาจารย์เทสก์

11. ความโง่ (๑-๒):   พระอาจารย์เทสก์

12. ที่พึ่งอาศัย:   พระอาจารย์เทสก์

13. ไฟราคะ โทสะ โมหะ:   พระอาจารย์เทสก์

14. สติปัฏฐาน4 กายานุปัสสน:   พระอาจารย์เทสก์

15. สติปัฏฐาน4 เวทนานุปัสสนา:   พระอาจารย์เทสก์

16. สติปัฏฐาน4 จิตตานุปัสสนา:   พระอาจารย์เทสก์

17. สติปัฏฐาน4 ธรรมานุปัสสนา:   พระอาจารย์เทสก์

18. จับกิเลส ใช้กิเลส: พระอาจารย์เทสก์ 

19. รูปนาม: พระอาจารย์เทสก์ 

20. ธรรมญาณสมาธิ 1: พระอาจารย์เทสก์ 

21. ธรรม ญาณ สมาธิ 2: พระอาจารย์เทสก์ 

22. ธาตุววัฏฐาน: พระอาจารย์เทสก์ 

23. การฝึกหัดจิต ความตื่น และจิตใจ: พระอาจารย์เทสก์ 

24. มนุษย์มีหลายประเภท: พระอาจารย์เทสก์ 

25. ความฉลาดในความโง่: พระอาจารย์เทสก์ 

26. ขุมทรัพย์: พระอาจารย์เทสก์ 

27. ผลของการปฏิบัติ: พระอาจารย์เทสก์ 

28. เบื้องต้นการภาวนา: พระอาจารย์เทสก์ 

29. วิปัสสนา: พระอาจารย์เทสก์ 

30. ตั้งสติพิจารณากายกับใจ: พระอาจารย์เทสก์ 

31. มรรคมีองค์ 8: พระอาจารย์เทสก์ 

32. อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา: พระอาจารย์เทสก์ 

33. พิจารณาความตาย: พระอาจารย์เทสก์ 

34. สติ สมาธิ ปัญญา: พระอาจารย์เทสก์ 

35. การรักษาศีล: พระอาจารย์เทสก์ 

36. คนสี่เหล่า: พระอาจารย์เทสก์ 

37. ความเพียรสี่ประการ: พระอาจารย์เทสก์ 

38. ความเสื่อมสูญของชีวิต: พระอาจารย์เทสก์ 

39. ความประมาท เเละไม่ประมาท: พระอาจารย์เทสก์ 

40. ความสงบ: พระอาจารย์เทสก์ 

41. ธรรมอาศัยความสงบ: พระอาจารย์เทสก์ 

42. มาร: พระอาจารย์เทสก์ 

43. แยกโลกออกจากธรรม: พระอาจารย์เทสก์ 

พระอุโบสถ ริมแม่น้ำโขง วัดหินหมากเป้ง 
อ. ศรีเชียงใหม่ จ. หนองคาย ปี 2523
กุฏิที่พักสงฆ์ วัดหินหมากเป้ง 
อ. ศรีเชียงใหม่ จ. หนองคาย ปี 2523
ได้ขึ้นมาจากภูเก็ตกับพระอาจารย์อั๋นมาพักกับพระอาจารย์เทสก์หลายวันเพื่อรับคำแนะนำในการปฏิบัติธรรมสมถวิปัสสนากรรมฐานได้เห็นท่านเดินจงกรม และได้นวดถวายท่านด้วย ปัจจุบันจึงได้เป็นหมอนวดจิตอาสา และอาจารย์ด้านการแพทย์แผนไทย 


ทางเดินภายในใต้ร่มกอไผ่ วัดหินหมากเป้ง 
อ. ศรีเชียงใหม่ จ. หนองคาย ปี 2523


กุฏิทำด้วยใบจาก ได้สร้างไว้โดยพระมหาถาวร
สำหรับบำเพ็ญเพียรปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน 
อยู่ในป่าช้าจีน ใกล้วัดเจริญสมณกิจ (วัดหลังศาล) ปี 2524

กุฏิที่พักสงฆ์ ได้สร้างไว้ในสมัยพระอาจารย์เทสก์
อยู่จำพรรษาที่วัดเจริญสมณกิจ (วัดหลังศาล) 
อ. เมือง จ. ภูเก็ต ยังมีสภาพดี ถ่ายเมื่อปี 2523

ปรับปรุงจากบทความประวัติหลวงปู่เทสก์ของผู้ใจบุญ เพื่อเป็นธรรมทานแก่สาธุชน
-----------------------------------------------------






No comments:

Post a Comment