Search This Blog / The Web ค้นหาบล็อค / เว็บ

Wednesday, January 14, 2015

โพชฌงค์ 7 องค์ประกอบเพื่อตรัสรู้ รวบรวมเขียนโดย อ. หมอสุชาติ ภูวรัตน์


โพชฌงค์ 7 

องค์ประกอบเพื่อตรัสรู้  


'

  จัดทำโดย อ.หมอสุชาติ ภูวรัตน์

นธ.เอกบาลีประโยค 1-2
(อดีตพระธรรมทูตต่างประเทศ)
B.S. Engineering Design Tech.
 B.A. ศาสนศาสตร์บัณฑิต
B.S. Computer Information Systems
B.TM.  พทย์แผนไทยบัณฑิต
สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ
บ.ภ.พท.ว.พท.ผ.พท.น.
ครูแพทย์แผนไทย 4 ด้าน
ศูนย์การแพทย์แผนไทยภูเก็ต
ทำเพื่อการศึกษาและประโยชน์แก่ผู้ชม

โพชฌงค์ 7 องค์ประกอบเพื่อตรัสรู้  ท่านว่า บำเพ็ญให้มาก เพื่ออภิญญา คือรู้มากยิ่งขึ้น เพิ่อพระนิพพาน เพื่อโพธิญาณ

เมื่อสมัยพุทธกาล ท่านได้แสดงโพชฌงค์ 7 แก่พระโมคคัลลานะ และพระมหากัสสปะ ผู้อาพาธ ป่วยไข้ มีความทุกข์ ไม่สบายกายและใจ หลังจากพระองค์ แสดงธรรมแล้วทำให้พระโมคคัลลานะ และพระมหากัสสปะหายป่วย มีความเบิกบาน หายทุกขเวทนา 

และต่อมาพระองค์มีอาการป่วยอาพาธ ท่านอนุญาตให้พระจุนทเถระแสดงโพชฌงค์ 7 ให้ท่านฟัง แล้วท่านก็หายป่วย และมีจิตใจเบิกบานในธรรมะ เหมือนกิเลสถูกกำจัด ด้วยมรรคคือหนทางพ้นทุกข์ ฉันใดก็ฉันนั้น 

โพชฌงค์ 7 มีดังนี้

1.  สติ

2. การวิจัยธรรม

3. วิริยะ

4. ปีติ

5. ปัสสัทธิ

6. สมาธิ

7. อุเบกขา

อธิบายเป็นภาษาไทยให้เข้าใจง่ายขึ้น

1. สติ คือมีความรู้ตัวเองอยู่เสมอ ว่ากายคือเรือนร่างสังขาร ประกอบด้วย อาการ 32 มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น หุ้มห่อร่างกายภายนอก และ อวัยวะภายใน มี เนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ตับ ไต หัวใจ ม้าม ปอด กระเพาะ ลำไส้ น้ำดี น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำมูตร เป็นต้น ล้วนเป็นรังของโรคต่างๆ ที่ทำให้เจ็บไข้ได้ป่วย บางโรคก็รักษาหายขาดได้ บางโรคก็รักษาไม่หาย เช่น โรคเวร โรคกรรม เป็นต้น

การพิจารณา สติปัฏฐาน 4


ร่างกายประกอบด้วยธาตุต่างๆ มีธาตุดิน ธาตุน้ำเป็นต้น เป็นเพียงพาหนะของจิตใจ เมื่อมีกายเกิดขึ้นก็ต้องมีโรคต่างๆ เกิดขึ้นตามมา โรคบางอย่างรักษาได้ ถ้าเป็นโรครักษาไม่หาย มีแต่จะทรุดโทรมเสื่อมพังไป ตามธรรมชาติ ก็อย่าได้เสียดาย เสียใจ เมื่อมีทุกขเวทนาเกิดขึ้น มีสติรู้ตัวอยู่ว่าสังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ เกิดขึ้นแล้วก็ต้องเสื่อมและดับไปเป็นธรรมดา เมื่อดับสังขารทั้งหลายเสียได้ย่อมเป็นสุข

คนส่วนมากมีอายุไม่ถึงร้อยปีก็ตายมีมากจนนับไม่ถ้วน จะมีห่วงใยกายนี้กันทำไม เพราะร่างกายนี้ที่ไม่ใช่ของเรา ถ้าเป็นของเราจริงๆ บอกว่าอย่าให้ร่างกายนี้เจ็บป่วย บังคับบัญชามันไม่ได้ มันก็ยังคงเจ็บป่วยตามธรรมชาติอย่างนั้นเอง

สติ ก็เพียงแต่กำหนดให้รู้ว่าร่างกายส่วนไหนทรุดโทรมเสื่อมสภาพไป จิตใจก็อาศัยส่วนที่ยังดีอยู่เพื่อทำความดี ละเว้นบาปและทำจิตใจให้บริสุทธิต่อไป จนถึงวันตาย อย่างมีสติทุกขณะ

2. การวิจัยธรรม คือ การน้อมนำ ธรรมะ มาแก้ทุกขเวทนาทางกายที่เจ็บไข้ได้ป่วย ให้หายคลายทุกขเวทนาทางใจ
ระงับลงได้ เช่น กายคตาสติกรรมฐาน พิจารณาไปตามส่วนของร่างกายที่เจ็บป่วย ให้เห็นว่า กายนั้นเป็นรังของโรค เป็นของไม่ถาวร ต้องเสื่อมดับไปตามธรรมชาติ กายเพียงแต่เป็นที่อาศัยของจิตใจเท่านั้น กายไม่ใช่ของเรา สักวันหนึ่งกายนี้ก็ต้องดับไปกลายเป็นเถ้าเป็นดินทับถมอยู่บนโลกใบนี้หนีไม่พ้น  

การพิจารณาละสังโยชน์ 10

พิจารณาว่าธรรม วิจัยแยกแยะให้เห็นกายเป็นอสุภะของไม่สวยไม่งามเพื่อให้เกิดความเบื่อหน่ายไม่ยึดติดในกายอันผุพังมีกลิ่นเน่าเหม็นนี้  

พิจารณาอสุภกรรมฐาน


พิจารณาธรรม วิจัยแยกแยะให้เห็นว่ารูปคือกายมีธาตุดิน 20 เช่น ผม ขน เล็บ ฟันหนัง เป็นต้น มีธาตุน้ำ 12 ได้แก่ น้ำดี น้ำเสลด น้ำเลือด น้ำหนอง น้ำมูตร เป็นต้น นามหรือจิตใจคือ มีความรู้สึกทุกข์สุขเฉยๆ ความจำได้ ความคิดดี คิดไม่ดี คิดกลางๆ ความรู้ที่เกิดจากตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รับรส กายสำผัสความอบอุ่นร้อนหนาว ใจรู้ธรรมะ เป็นต้น 

การพิจารณาขันธ์ 5 เป็นภาระอันหนัก
สัญญา 10, มรรค 8


พิจารณาธรรม วิจัยแยกแยะรูปและนาม เป็นพระไตรลักษณ์ คือ มีลักษณะ 3 อย่าง มี เกิดขึ้น ดำรงชีวิตอยู่ แล้วก็ต้องดับไปเป็นธรรมดา เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตนของเรา สักวันหนึ่งตายแล้ว ก็เปื่อยเน่าผุพังกลายเป็นดิน หรือเขาก็เอาไปเผาไปฝัง ให้สัตว์กิน ดังนี้เป็นต้น 

พิจารณาธรรม วิจัยแยกแยะให้เห็นว่า การเวียนว่ายตายเกิดเป็นทุกข์ เพราะมีร่างกายนี้แหละเป็นภาระอันหนักยิ่ง  การดับสังขารทั้งหลายเสียได้ย่อมเป็นสุข ดังนี้เป็นต้น 

การพิจารณาปฏิจจสมุปปบาท



พิจารณาธรรม วิจัยแยกแยะว่าพระสัจธรรม 4 เป็นธรรมะที่ปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ได้จริง ดังนี้เป็นต้น

3. วิริยะ คือความเพียรพยายาม ละกิเลส ตัณหา ราคะ ออกจากจิตใจ และระมัดระวังไม่ให้เข้ามาในใจได้ ถ้าเข้ามาแล้วก็ต้องใช้ปัญญาสลัดออกไป คือ
-พยายามไม่ทำความชั่วทั้งปวง
-พยายามทำความดีให้ถึงพร้อม
-พยายามสลัดความชั่วที่เข้ามาแล้วให้ออกไป
-พยายามรักษาความดีที่ได้ทำไว้แล้ว
-พยายามศึกษาปฏิบัติธรรมวิปัสสนากรรมฐานเพื่อความพ้นทุกข์ ดังนี้เป็นต้น

4. ปีติ คือความอิ่มใจ ชื่นใจ ที่ได้ปฏิบัติธรรมะมาแล้วดังกล่าวข้างต้น บางครั้งก็ทำให้ดีใจจนน้ำตาไหล อดกลั้นปีติไว้ไม่ได้

5. ปัสสัทธิ คือความสงบกายและใจ เกิดด้วยการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน จนรู้แจ้งเห็นจริงว่ากายและจิตใจ เป็นของไม่เที่ยง เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ต้องดับไปเป็นธรรมดา ไม่ใช่ตัวตนเราเขา เป็นเพียงรูปธรรมและนามธรรมเท่านั้น เมื่อปล่อยวางกายและใจของหนักลงได้ ก็ทำให้สงบลงจากแบกภาระหนัก
ไม่ยึดถือกายและจิตใจว่าเป็นตัวตนของเราต่อไป

6. สมาธิ คือความตั้งใจมั่นอยู่ในการรักษาศีลปฏิบัติธรรมวิปัสสนากรรมฐาน จนทำลายเครื่องกั้น มีความชอบในกามความพยาบาท ความฟุ้งซ่าน รำคาญใจ ความหดหู่ง่วงนอนและความลังเลสงสัย เสียได้ มีความตั้งมั่นเป็นหนึ่งเดียว ทำการงานได้รู้แจ้งเห็นจริง มีจิตใจผ่องใสสะอาดปราศจากกิเลสตัณหา

เมื่อจิตมีสมาธิ มีความสว่าง ทำให้มีปัญญา ญาณรู้เห็นพระธรรม เข้าใจในวิชชา ๓ คือ มีญาณรู้ว่าทำกรรมใดส่งผลให้ไปเกิด ณ ที่ใด และรับผลของกรรมอย่างไร และรู้ว่าเพราะทำกรรมใดไว้ในอดีต จึงส่งผลให้มาเกิดในชาตินี้ และทำอย่างไรจึงจะทำให้อาสาวะกิเลสหมดสิ้นไปได้ และไม่ยึดติดกับญาณการรู้เห็นในสิ่งต่างๆ และไม่ต้องกลับมาเกิดอีก ดังนี้ เป็นต้น

 7. อุเบกขา คือมีใจเป็นกลางๆ เฉยๆ ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย
เพราะเข้าใจในผลของกรรมดีกรรมชั่วส่งผลให้สัตว์โลกเวียนว่ายตนเกิด นับภพนับชาติไม่ถ้วน แม้แต่โรคร้ายที่เกิดขึ้นหลายโรคเพราะผลของกรรมในปางก่อนก็มี เช่นคน พิการ เกิดมาเป็นโรคง่อย หูหนวก ตาบอด โรคผิวหนัง โรคห้วใจ เป็นต้น

ท่านว่าเมื่อเจริญธรรมเหล่านี้ มากๆ ก็ทำให้รู้แจ้งในอริยสัจ 4
ซึ่งเป็นองค์ธรรมเพื่อตรัสรู้ ในจิตใจของผู้เข้าถึงธรรมอันประเสริฐ ทำให้พ้นทุกข์ทั้งกายใจได้ เพราะไม่ทำบาปทั้งปวง ทำกุศลให้ถึงพร้อม และทำจิตใจให้ผ่องใส

พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ก็ได้ตรัสรู้ธรรมะทางดำเนินสู่ความพันทุกข์ ยุติการเวียนว่ายตายเกิด และนำมาสั่งสอนชาวโลกให้ปฏิบัติเพื่อเข้าถึงปรินิพพาน


คาถาโพชฌงค์ 7 ใช้รักษาผู้ป่วย (ท่องบทสวดมนต์ให้ผู้ป่วยฟังๆ โดยมีสติพิจารณาตาม)

    โพชฌังโค สะติสังขาโต            ธัมมานัง วิจะโย ตถา
วิริยัมปิติปัสสัทธิ                        โพชฌังคา จะ ตะถาปะเร
สะมาธุเปกขะโพชฌังคา              สัตเตเต สัพพะทัสสินา
มุนินา สัมมะทักขาตา                  ภาวิตา พะหุลีกะตา
สังวัตตันติ อะภิญญายะ               นิพพานายะ จะ โพธิยา
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ                 โสตถิ เต โหตุ สัพพะทาฯ

    โพชฌงค์ 7 คือองค์แห่งการตรัสรู้ ได้แก่
1. มีสติ คือความรู้ตัวอยู่ว่ามีความเจ็บป่วยด้วยโรคใด เช่นป่วยทางกายหรือกิเลสครอบงำ
2. มีการวิจัยธรรม คือการค้นหาธรรมเพื่อบำบัดโรคนั้น เช่น ป่วยด้วยกิเลสก็ต้องละกิเลส
3. มีวิริยะ คือความเพียรพยายามบำบัดโรคนั้น เช่น พยายามรักษาโรคหรือละกิเลส
4. มีความปิติ คืออิ่มเอิบเมื่ออาการของโรคลดลง เช่น โรคทางกายหรือกิเลสลดลงแล้ว
5. มีปัสสัทธิ คือความสงบเมื่อโรคหายแล้ว เช่น โรคทางกายหรือกิเลสระงับแล้ว
โพชฌงค์ คือองค์แห่งการตรัสรู้อื่นๆอีก ได้แก่
6. มีสมาธิคือความตั้งใจมั่นคง ไม่ฟุ้งซ่านรำคาญเบื่อหน่ายเมื่อเจ็บป่วยทั้งกายใจ
7. มีอุเบกขาคือความวางเฉย เมื่อโรครักษาไม่หายก็ต้องปล่อยวางสังขารตามธรรมชาติ
    เกิด แก่ เจ็บ และตายเป็นเรื่องธรรมดา ละสังขารทั้งหลายเสียได้ ย่อมมีความสุข

โพชฌงค์ 7 คือองค์แห่งการตรัสรู้เหล่านี้
พระมุนีผู้เห็นธรรมทั้งสิ้นตรัสไว้ชอบแล้ว เมื่อผู้ใดเจริญให้มากแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความดับกิเลสสิ้นทุกข์ เพื่อนิพพาน เพื่อความตรัสรู้

ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านทุกเมื่อ

อริยสัจ 4 คือสัจธรรม ที่พระพุทธองค์ตรัสรู้และได้เผยแพร่ ให้สรรพสัตว์ทั้งหลายปฏิบัติดีสู่ความพ้นทุกข์ มีมนุษย์ เทวดา พรหม ทำให้สำเร็จ มรรค 4 ผล 4 มีจำนวนนับไม่ถ้วน ดังนี้ เป็นต้น


หมายเหตุ เมื่อจะกลับมาที่เดิม ให้คลิ๊ก Home ข้างล่างตรงกลาง









  





---------------------------------------------------------------------------------






No comments:

Post a Comment